ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สวรส.- สถาบันโรคผิวหนัง หนุนงานวิจัย "บริการสุขภาพปฐมภูมิด้านโรคผิวหนังในผู้สูงอายุ" ออกแบบระบบบริการที่เหมาะสมและครบวงจร สอดรับถ่ายโอนรพ.สต. หวังปชช.เข้าถึงบริการปฐมภูมิที่มีคุณภาพ

“โรคผิวหนัง” เป็นอีกหนึ่งโรคสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ทั้งนี้ผู้สูงอายุในประเทศไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันยังมีความแตกต่างในการเข้าถึงบริการด้านการวินิจฉัยและการรักษาเฉพาะทางด้านโรคผิวหนัง ระหว่างผู้ป่วยที่อยู่ต่างจังหวัดและในเมืองหลวง เนื่องจากแพทย์ผิวหนังมีจำนวนน้อยและมักกระจุกตัวอยู่ในภาคเอกชน ทำให้มีแพทย์ผิวหนังไม่เพียงพอในโรงพยาบาลทุกจังหวัด โดยจำนวนแพทย์ผิวหนัง

ทั่วประเทศในปี 2563 พบว่า มีสัดส่วนแพทย์ 1 คนต่อประชากรประมาณ 400,000-1,500,000 คน ซึ่งขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และกำลังให้ความสำคัญกับการบริการของระบบสุขภาพปฐมภูมิมากขึ้นอยู่นั้น จึงมีความเป็นไปได้น้อยมากที่ระบบสุขภาพปฐมภูมิจะมีแพทย์ผิวหนังเพียงพอต่อการให้บริการ การวินิจฉัยและรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการดูแลอย่างต่อเนื่องแก่ผู้สูงอายุที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ 

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เห็นถึงช่องว่างในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิด้านโรคผิวหนังในผู้สูงอายุ จึงร่วมกันพัฒนางานวิจัยเพื่อออกแบบระบบที่จะสามารถเป็นฐานความรู้ในการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิสำหรับการดูแลโรคผิวหนังในผู้สูงอายุ ทั้งนี้นอกจากการดำเนินงานวิจัยแล้ว ยังจัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ ผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมการแพทย์ นักวิจัย นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง ผู้แทนจากสมาคมแพทย์ผิวหนัง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนจากโรงพยาบาลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่การศึกษาวิจัย ฯลฯ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาการจัดระบบบบริการสุขภาพปฐมภูมิด้านโรคผิวหนัง ให้สามารถตอบสนองความต้องการและสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

ตลอดจนประเมินความเป็นไปได้ในการขยายผลการพัฒนาระบบบริการดังกล่าว โดยในเวทีมีการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ความท้าทายของการพัฒนาการดูแลสุขภาพปฐมภูมิภายใต้บริบทการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดย รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ รองคณบดี ฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งสิ่งสำคัญในการพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิ โดย ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สวรส. และการขับเคลื่อนบริการสุขภาพปฐมภูมิ โดย นพ.อภิสรรค์ บุญประดับ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2567 ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จ.นนทบุรี 


 
ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของระบบบริการปฐมภูมิว่า เป็นบริการหลักที่สำคัญของระบบบริการสุขภาพ และเป็นจุดคานงัดของระบบสุขภาพที่จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพพื้นฐาน รวมทั้งได้รับการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนทำหน้าที่ในการเชื่อมประสานและส่งต่อผู้ป่วยไปยังระบบบริการสุขภาพเฉพาะทางอื่นๆ เมื่อจำเป็น นอกจากนี้ยังเป็นการบริการที่ต้องรับมือทั้งกรณีฉุกเฉิน เฉียบพลัน, ภาวะโรคเรื้อรัง, การบริการสุขภาพที่สัมพันธ์กับสุขภาพจิตและสังคม ตลอดจนการดูแลสุขภาพแก่ประชาชนทุกกลุ่ม โดยมีจุดเน้นในการให้บริการคือ การลดปัจจัยเสี่ยง การคัดกรองโรคได้ถูกต้องและรวดเร็ว และการลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ

ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย การถ่ายโอนภารกิจของ รพ.สต. ให้กับ อบจ. ยิ่งจำเป็นต้องพัฒนางานวิจัยเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการวิจัยเพื่อพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิด้านโรคผิวหนังในผู้สูงอายุนี้ มีการออกแบบงานวิจัยแบบครบวงจร และนับว่าเป็นนวัตกรรมบริการของระบบสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งมีตั้งแต่กระบวนการศึกษาความต้องการของประชาชน การออกแบบระบบบริการที่เหมาะสม การทดลองและพัฒนา ตลอดจนการประเมินผลหลังดำเนินการแล้ว ซึ่งจะเป็นองค์ความรู้สำคัญที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการออกแบบระบบสุขภาพของประเทศ เพื่อดูแลด้านโรคผิวหนังให้กับผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ สวรส. หวังว่างานวิจัยดังกล่าวจะเป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่พัฒนาให้เกิดนวัตกรรมระบบบริการที่ อบจ. และหน่วยงานในระดับปฐมภูมิ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับความต้องการ และขยายผลให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในทุกพื้นที่ ตลอดจนเป็นนวัตกรรมระบบบริการที่สนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการปฐมภูมิที่มีคุณภาพได้เป็นอย่างดี และยังสามารถนำไปเป็นต้นแบบการให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทางในโรคอื่นๆ ต่อไปได้อีกด้วย
    


พญ.ชินมนัส เลขวัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านพัฒนางานวิจัย สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยมีแนวทางการจัดบริการการดูแลสุขภาพด้านโรคผิวหนังบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ของกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงยังไม่มีคณะกรรมการที่เป็นกลไกในการพัฒนาคุณภาพการบริการด้านโรคผิวหนังอย่างชัดเจน และยังไม่ถูกยกมาเป็นประเด็นสำคัญมากพอ ส่วนด้านการผลิตแพทย์ผิวหนังในแต่ละปีมีจำนวนจำกัด และยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของระบบบริการสุขภาพได้ รวมทั้งประเด็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ ดังนั้นการพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิด้านโรคผิวหนังที่เหมาะสมในผู้สูงอายุจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านสุขภาพและสังคม ทั้งนี้งานวิจัยได้ศึกษาองค์ประกอบและข้อจำกัดที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกแบบระบบงานที่จำเป็น โดยศึกษาโครงสร้าง, กระบวนการทำงาน, ความคาดหวังของผู้ป่วย, ความจำเป็นทางสุขภาพ และเส้นทางการรับบริการของผู้ป่วยแบบเดิม 

พญ.ชินมนัส อธิบายต่อว่า จากข้อมูลที่พบและการจัดกระบวนการแบบมีส่วนร่วม ทำให้สามารถพัฒนารูปแบบการให้บริการที่จำเป็นออกมา โดยเริ่มตั้งแต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านสาธารณสุขในด้านการวินิจฉัยและรักษาโรคที่จะมีผลต่อการวินิจฉัยและรักษาโรคผิวหนังโดยตรง และให้ความสำคัญกับการคัดกรองผู้ป่วยที่อยู่ในระดับอันตรายและมีความจำเป็นที่ต้องส่งต่ออย่างเร่งด่วน รวมไปถึงการได้รับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทาง เพื่อผลการวินิจฉัยที่ถูกต้องมากขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือการให้คำแนะนำเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้ที่บ้าน และหลีกเลี่ยงการกลับมาเป็นซ้ำของโรค ทั้งนี้ควรมีการพัฒนาความรู้ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อช่วยให้ความรู้ และดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดและทั่วถึง การพัฒนาระบบนัดหมายเพื่อลดระยะเวลารอคอยของผู้ป่วย การจัดเตรียมสถานที่และสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับการวินิจฉัยและรักษา มีการเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นเช่น กล้องถ่ายภาพ

ทั้งนี้การเก็บข้อมูลและทดลองใช้รูปแบบการให้บริการดังกล่าว ทีมวิจัยได้มีการดำเนินการในพื้นที่ของ รพ.สต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี รวมทั้งมีการศึกษาความเห็นของหน่วยบริการปฐมภูมิต่างๆ ในเขตสุขภาพ โดยจัดส่งแบบสอบถามความคิดเห็นไปยังหน่วยงานปฐมภูมิในเขตสุขภาพที่ 1-12 รวม 48 จังหวัด จำนวนทั้งหมด 576 แห่ง โดยมีการตอบแบบสอบถามกลับมา 397 แห่ง คิดเป็น รพ.สต.ที่ยังไม่ถ่ายโอน 70% ถ่ายโอนแล้ว 30% ซึ่งผลจากการสำรวจความคิดเห็นพบว่า โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และ รพ.สต. มีความเห็นว่า การดำเนินงานด้วยวิธีการแบบมีส่วนร่วม มีความเป็นไปได้ 71% มีประโยชน์ 96% และส่วนใหญ่คิดว่าสามารถทำได้ภายใน 6-12 เดือน ส่วนรูปแบบการจัดบริการด้านโรคผิวหนังทั้ง 8 รูปแบบ มีความเป็นไปได้ 82% มีประโยชน์ 98% และส่วนใหญ่คิดว่าทำได้ในเวลามากกว่า 12 เดือน 

 “หลังจากนำรูปแบบการให้บริการดังกล่าวไปทดลองใช้แล้ว ได้มีการติดตามประเมินผล เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการจัดบริการ ซึ่งในส่วนของระบบบริการพบว่า การกลับเป็นซ้ำลดลง จาก 60% เหลือ 40% มีระบบนัดหมายที่สามารถทำให้ลดระยะเวลารอคอย การพัฒนาโดยการให้ความรู้เบื้องต้นด้านโรคผิวหนัง ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ และ อสม. มีความรู้ในการให้คำแนะนำมากขึ้น เป็นต้น ดังนั้นจึงเชื่อว่าการวิจัยนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิด้านโรคผิวหนังครั้งสำคัญที่จะสามารถขับเคลื่อนระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นจริงและเป็นไปได้ พญ.ชินมนัส ระบุ