ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.)จับมือ คณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ทำข้อตกลงความร่วมมือ เปิดโควตาให้ยุว อสม.เข้าศึกษาต่อเป็นกรณีพิเศษในหลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์ และหลักสูตรวิชาชีพช่างทันตกรรม หวังขับเคลื่อนงานสาธารณสุขไทย

วันที่ 24 พ.ค. 2567 นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ศาสตราจารย์คลินิก ดร.นพ.ทพ.ศิริชัย เกียรติถาวรเจริญ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและพัฒนายุวอาสาสมัครสาธารณสุขระหว่างกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ กรม สบส. เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า กรม สบส. ได้ดำเนินงานส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างสุขภาพ ให้มีความแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจเพื่อป้องกันปัญหาสาธารณสุข โดยได้พัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นยุว อสม. เป็นต้นแบบและเป็นผู้นำด้านจิตอาสาในการสื่อสารสุขภาพ การดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และสังคม ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับยุว อสม. กรม สบส. จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การส่งเสริมและพัฒนา ยุวอสม. ร่วมกับคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  เปิดโควตาให้แก่ยุว อสม. ที่มีความสนใจด้านทันตกรรมได้เข้าศึกษาต่อเป็นกรณีพิเศษในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพช่างทันตกรรม (หลักสูตร 2 ปี) และหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์ชั้นสูง (หลักสูตร 2 ปี) โดยบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2567 – 2572

“ ยุว อสม.ถือเป็นฟันเฟืองสุขภาพในกลุ่มเด็กและเยาวชน เป็นอีกพลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกวัย ซึ่งปัจจุบันเรามี ยุว อสม. จำนวน 20,020 คนทั่วประเทศ ที่ทำหน้าที่เป็นจิตอาสาด้านสุขภาพ ช่วยให้งานสาธารณสุขของประเทศ มีความมั่นคงและเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น” นพ.สุระ อธิบดีกรม สบส.กล่าว

นพ.สุระ อธิบดีกรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการลงนามในครั้งนี้ กรม สบส. มีบทบาทในการดำเนินงานพัฒนาศักยภาพยุว อสม. 4 ประเด็นหลัก คือ 1. กำหนดเกณฑ์ และรับรองยุว อสม.ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์เพื่อรับรองสนับสนุน ด้านการศึกษาต่อและการสร้างแรงจูงใจอื่นๆ 2.ร่วมพัฒนาหลักสูตรการจัดกิจกรรมเรียนรู้ด้านสุขศึกษาและการพัฒนาพฤติกรรม การสื่อสาร 3. สนับสนุนแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านสุขศึกษาและการพัฒนาพฤติกรรมและทักษะชีวิตที่จำเป็นแก่ ยุว อสม. ที่เป็นแกนนำเด็กและเยาวชน และ 4. แลกเปลี่ยนหรือใช้ข้อมูลความรู้ กิจกรรมหรือหลักสูตรของหน่วยงานระหว่างกันผ่าน Platform online และ Offline ทั้งในปัจจุบันและอนาคต