ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ร่วม 16 มหาวิทยาลัยโรงเรียนแพทย์ ร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ด้านปลัดสธ.หนุน รพ.จังหวัดเป็นศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก เดินหน้ายุทธศาสตร์กำลังคนด้านสุขภาพ เป็นไกด์ไลน์ระดับชาติ

 

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลิตแพทย์ของโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย 16 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , มหาวิทยาลัยขอนแก่น , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี , มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ , มหาวิทยาลัยนเรศวร , มหาวิทยาลัยบูรพา , มหาวิทยาลัยพะเยา , มหาวิทยาลัยมหาสารคาม , มหาวิทยาลัยมหิดล , มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ , มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ , มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และสถาบันพระบรมราชชนก

นพ.โอภาสกล่าวว่า การผลิตแพทย์นั้น การเรียนการสอนในชั้นคลินิกหรือปี 4-6 ที่ฝึกปฏิบัติกับคนไข้ ส่วนใหญ่จะมาร่วมมือกับ รพ.ของ สธ.ที่เป็นศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก ซึ่งเรามีทั้งหมด 39 แห่งในการร่วมผลิต โดยจะมีข้อตกลงความร่วมมือในการผลิตระหว่าง รพ.กับมหาวิทยาลัย เดิมโรงเรียนแพทย์มีไม่มากประมาณไม่ถึง 10 แห่ง ความตกลงก็ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ระยะหลังความต้องการแพทย์เพิ่มขึ้น ประเทศมีการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ และมหาวิทยาลัยผลิตแพทย์มากขึ้น ปัจจุบันมีโรงเรียนแพทย์ถึง 28 แห่ง ทำให้มีมหาวิทยาลัยที่ร่วมมือกับ สธ. 19 แห่ง เป็นรัฐ 16 แห่ง เอกชน 3 แห่ง แต่ละแห่งทำข้อตกลงไม่เหมือนกัน ทำให้มีความลักลั่นแตกต่างกัน

หารือรายละเอียดข้อตกลงผลิตแพทย์ แต่ละพื้นที่

“วันนี้ สธ.ในฐานะหน่วยงานตามกฎหมายที่ดูแล รพ.ของ สธ.ทั่วประเทศ ได้ทำความตกลงกับมหาวิทยาลัย 16 แห่งของรัฐ  เพื่อเป็นกติกากลาง ว่า ความร่วมมือของเราจะมีประเด็นอะไรบ้าง จากนั้นมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะไปทำความตกลงในรายละเอียดกับ รพ. เช่น เรื่องของจำนวนนักศึกษา สิ่งอำนวยความสะดวกนักศึกษา ความก้าวหน้า ค่าตอบแทนของอาจารย์ การวิจัยร่วมกันในอนาคต”

ผลักดัน รพ.จังหวัดเป็นศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก

ทั้งนี้ สธ.ตั้งเป้าว่าจะให้ รพ.จังหวัด ที่เป็น รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป มีศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก เพื่อให้นักเรียนในพื้นที่ในจังหวัดได้เรียนและอยู่ในพื้นที่ได้นานมาก ซึ่งเราพบว่า ถ้าเรียน กทม.ไปอยู่ต่างจังหวัดจะอยู่ได้ไม่นาน คือ ประมาณ 1-2 ปี จากข้อมูลการผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบของศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก 39 แห่ง แพทย์กลุ่มนี้อยู่ในระบบถึง 77%

เดินหน้ายุทธศาสตร์กำลังคนด้านสุขภาพ 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สธ.กำลังจัดทำร่างยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นไกด์ไลน์ในการพัฒนากำลังคน เดิมเรามองแต่บริบทการผลิตบุคลากรสาธารณสุขตอบสนองเฉพาะประชาชนในประเทศ  แต่บริบทใหม่จะต้องตอบสนองบริการทางการแพทย์ที่เป็นคนต่างชาติมากขึ้นด้วย ซึ่งจำเป็นต้องผลิตบุคลากรทางการแพทย์หลายระดับมากขึ้นโดยความร่วมมือกับทุกหน่วย โดยเฉพาะแพทย์ที่ตั้งเป้าช่วง 10 ปีจากนี้จะต้องผลิตให้ได้ปีละ 5,000คน เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ รวมถึงรองรับสังคมผู้สูงอายุด้วย