ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.เผยกลุ่มนักเรียนตกเป็นเหยื่อบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า จาก 3.3% ในปี 2558 เป็น 17.6% ในปี 2565 WHO ห่วงการตลาดเชิงรุกของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าเยาวชน! ร่วมกับภาคี จัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง HEALTHY HERO #วัยรุ่นไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า มีเยาวชนเข้าร่วมกว่า 3,000 คน  

เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2567 ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร กรุงเทพฯ นางประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับ องค์การอนามัยโลก (WHO) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ จัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง HEALTHY HERO #วัยรุ่นไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า ร่วมขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพด้วยการมีกิจกรรมทางกาย ควบคู่กับรณรงค์สร้างความตระหนักถึงอันตรายจากพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้เยาวชนรู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้า ป้องกันไม่ให้เยาวชนเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ในรูปแบบการจัดกิจกรรมวิ่งตามมาตรฐานความปลอดภัยกีฬามวลชน (Mass Sport Safety Label) ระยะ 4 กม. และ 10 กม. มีเยาวชนเข้าร่วมกว่า 3,000 คน 

นางประภาศรี กล่าวต่อว่า สสส. มีเป้าหมายลดอัตรานักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง เน้นการสร้างกระแสทางสังคม สร้างเสริมความรอบรู้ทางสุขภาพด้านการควบคุมยาสูบและอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ผ่านการสนับสนุนกลไกเครือข่ายทุกภาคส่วน จากการสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey : GYTS) ปี 2565 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ในกลุ่มนักเรียนอายุ 13-15 ปี 6,752 คน จากโรงเรียน 87 โรงทุกภูมิภาค พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนเพิ่มเป็น 17.6% ในปี 2565 จากเดิมอยู่ที่ 3.3% ในปี 2558 เทียบเท่ากับเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า

ดร.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การทำการตลาดเชิงรุกของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งมุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน ด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และ รสชาติที่น่าดึงดูด เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กและเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น องค์การอนามัยโลกเรียกร้องให้ประเทศที่มีห้ามการขายบุหรี่ไฟฟ้า ยังคงการห้ามขายต่อไป และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างทันท่วงที การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือเชิงสัญลักษณ์ในการปกป้องเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า ส่งเสริมสุขภาวะที่ดีด้วยกิจกรรมส่งเสริมการรู้เท่าทัน และเป็นเกราะป้องกันเยาวชนจากภัยบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับแนวทางการรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลกปี 2567 Protecting children from tobacco industry interference การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า