ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.สปสช.เขต 7 ขอนแก่น เผย ผลขับเคลื่อน "30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว" พบว่าประชาชนพึงพอใจ พร้อมเสนอให้ขยายหน่วยนวัตกรรมให้มากขึ้น ก้าวต่อไปเตรียมพื้นที่ อีก 3 จังหวัดรองรับการให้บริการในเฟสที่ 4 

วันที่ 26 พ.ค. 2567 ดร.ภก.ณรงค์ อาสายุทธ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ขอนแก่น กล่าวถึงการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวในพื้นที่ “ร้อยแก่นสารสินธุ์” ประกอบด้วย จ.ร้อยเอ็ด จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม และ จ.กาฬสินธุ์ ว่า ในส่วนของเขต 7 มี จ.ร้อยเอ็ด ที่เริ่มดำเนินการในเฟสที่ 1 ตั้งแต่ 7 มกราคม 2567 และอีก 3 จังหวัดจะเริ่มดำเนินการในเฟสสุดท้ายของโครงการ ซึ่งการขับเคลื่อนที่ผ่านมานั้นเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ โดยเฉพาะหน่วยนวัตกรรม ซึ่งเป็นคลินิกเอกชนใน 7 วิชาชีพ โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสภาวิชาชีพ รวมทั้งภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้หน่วยนวัตกรรมทั้ง 7 วิชาชีพ มาขึ้นทะเบียนร่วมให้บริการกับ สปสช. ทำให้การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการนวัตกรรมในพื้นที่เป็นไปด้วยดี 

 “ในพื้นที่ 4 จังหวัดมี 4 วิชาชีพที่ดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว คือ ร้านยา คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกกายภาพบำบัด และคลินิกพยาบาล เมื่อมีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวได้เพิ่มหน่วยบริการอีก 3 วิชาชีพ คือแพทย์ ทันตแพทย์ และแพทย์แผนไทย เข้ามาร่วมให้บริการด้วย ซึ่งผลการดำเนินงาน ใน 4 จังหวัดนี้ มีหน่วยนวัตกรรมขึ้นทะเบียนจำนวน 747 แห่ง แบ่งเป็น คลินิกพยาบาล 388 แห่ง ร้านยา 274 แห่ง คลินิกทันตกรรม 36 แห่ง คลินิกเวชกรรม 28 แห่ง คลินิกกายภาพบำบัด 15 แห่ง คลินิกแพทย์แผนไทย 5 แห่ง และคลินิกเทคนิคการแพทย์ 1 แห่ง” ผอ.สปสช. เขต 7 ขอนแก่น กล่าว

ดร.ภก.ณรงค์ กล่าวต่อว่า หากดูผลตอบรับของประชาชนในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งนำร่องไปก่อนแล้วในเฟสที่ 1 พบว่า ประชาชนได้ใช้บริการในหน่วยนวัตกรรมมากขึ้น คิดเป็น 38% ของจำนวนบริการในช่วงเวลาเดียวกัน ถือว่าบรรลุตามเป้าหมายการเพิ่มหน่วยบริการใกล้บ้านใกล้ใจ เพื่อทำให้ระบบบริการปฐมภูมิเข้มแข็ง แต่ในระยะเวลาอันสั้นยังไม่ได้ลดความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งต้องมีการกำกับติดตามและพัฒนาต่อไป
ดร.ภก.ณรงค์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการกำกับติดตามเพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าจะได้รับบริการอย่างมีคุณภาพนั้น สปสช. มีระบบการเฝ้าระวังและกำกับติดตาม โดยการตรวจสอบการเข้ารับบริการว่าเป็นไปตามแนวทางเงื่อนไขการให้บริการ ผ่านระบบ On Screen Review ขณะเดียวกันยังมีการสรุปข้อมูลสถานการณ์รายงานให้คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับเขตพื้นที่ (อคม.) คณะทำงาน 5x5 ทราบและร่วมลงพื้นที่เยี่ยมเสริมพลังรวมทั้งให้ข้อเสนอแนะกับหน่วยบริการ

ทั้งนี้ สปสช. เขต 7 ขอนแก่น ยังมีการประเมินผลความพึงพอใจของผู้รับบริการ ซึ่งพบว่าประชาชนมีความพึงพอใจในแง่ของความสะดวกในการรับบริการมากถึงมากที่สุด นอกจากนี้ สปสช. ยังจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการในพื้นที่ ซึ่งมีข้อเสนอ 3 ประเด็นหลัก คือ 1. ควรขยายการให้บริการตามนโยบายนี้ให้กับผู้มีสิทธิประกันสังคมและข้าราชการด้วย 2. อยากให้เพิ่มบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในหน่วยบริการนวัตกรรมเพิ่มขึ้น และ 3. อยากให้เพิ่มหน่วยนวัตกรรมให้ครอบคลุมในพื้นที่มากยิ่งขึ้น

ดร.ภก.ณรงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในส่วนของการขยายผลตามนโยบายในอีก 3 จังหวัดในเฟสที่ 4 นั้น ทาง สปสช. เน้นทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย สสจ. และสภาวิชาชีพ เพื่อเตรียมความพร้อมของพื้นที่ เน้นที่สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และดำเนินการตามแนวทาง เงื่อนไข และมาตรฐานวิชาชีพทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ ที่ผ่านมาในส่วนของผู้ให้บริการได้จัดเวทีชี้แจงรวม 3 จังหวัดไปเมื่อ 18 เมษายน 2567 ซึ่งนอกจากจะชี้แจงรายละเอียดการดำเนินการแล้ว ยังเชิญ สสจ.ร้อยเอ็ด มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับอีก 3 จังหวัด รวมทั้งเครือข่ายของวิชาชีพที่เกี่ยวข้องมาร่วมแลกเปลี่ยนกันด้วย สำหรับผู้รับบริการนั้นมีการประชาสัมพันธ์ผ่านทุกช่องทาง