ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การเภสัชกรรม - สภาเภสัชกรรม - สสส. - สปสช. - เครือข่ายวิชาชีพฯ  แถลงข่าวความร่วมมือ "การให้บริการเลิกบุหรี่ในร้านยา" มุ่งลดปัญหาสุขภาพจากควันบุหรี่ พบมีร้านยาเข้าร่วมโครงการ 2,000 กว่าแห่ง คาด มิ.ย. 67 เริ่มเข้ารับบริการได้

วันที่ 26 พ.ค. 2567 ณ อาคารมหิตลาธิเบศร กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) องค์การเภสัชกรรม สภาเภสัชกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อควบคุมยาสูบ ร่วมแถลงข่าว ความร่วมมือในการขับเคลื่อนบริการเลิกบุหรี่ในร้านยา สนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงบริการเลิกบุหรี่ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ มุ่งลดปัญหาสุขภาพอันเกิดจากควันบุหรี่ปัญหาการสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทย ส่งผลต่อสุขภาพของผู้สูบและผู้ที่อยู่ใกล้ชิด สร้างภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล และสูญเสียทรัพยากรบุคคลอันมีค่า   

โดยมี  รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิงสุณี เลิศสินอุดม เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อควบคุมยาสูบ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  เภสัชกรปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่ 2   คุณปิยพร ปิยะจันทร์ ผู้อำนวยการ กลุ่มภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิและการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงรจพร วัชโรทยางกูร ผู้แทน องค์การเภสัชกรรม ร่วมด้วย    

รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิงสุณี เลิศสินอุดม เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อควบคุมยาสูบ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า  การบริการตรงนี้เดิมทียังไม่ได้เข้าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่เป็นลักษณะของโครงการที่เราอยากให้ประชาชนทุกคนเลิกบุหรี่ เพราะภัยต่างๆของบุหรี่นอกจากจะทำลายสุขภาพของตนเองแล้วยังทำลายสุขภาพของคนใกล้ชิดด้วย วันนี้ถือเป็นความร่วมมือที่ดีมากเพราะเรื่องของบริการเลิกบุหรี่ได้เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะก่อนหน้านี้ในการเลิกบุหรี่บุหรี่ประชาชนจะไปรับบริการที่โรงพยาบาลซึ่งอาจจะเกิดความลำบาก หรือในเรื่องการติดตามอาจจะเกิดปัญหา ฉะนั้นการให้ความร่วมมือทั้ง 4 หน่วยงาน คือ  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  องค์การเภสัชกรรม  สภาเภสัชกรรม  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ เครือข่ายวิชาชีพฯ ถือเป็นมิติที่ดีของประเทศไทยมากเพราะจะทำให้คนไข้ในหลักประกันสุขภาพต่างๆสามารถเข้ารับบริการที่ร้านยาได้ ซึ่งร้านยาถือว่าใกล้ชิดกับชุมชนและสามารถเข้าถึงได้ง่ายสะดวก 

ทั้งประเทศไทยเรามีร้านยากว่า 17,000 ร้าน รวมทั้งร้านยาคุณภาพมีประมาณ 3,000 ร้าน ซึ่งหลังจากที่มีการประกาศของสำนักงานการสุขภาพแห่งชาติ คิดว่าตรงนี้จะทำให้ประชาชนเข้าถึงมาตรฐานในการบริการของร้านยาได้ และการให้บริการไม่ใช่แค่การจ่ายยาเท่านั้น จะประกอบด้วยการติดตาม ดูแลจนกระทั่งสามารถเลิกบุหรี่ได้ภายใน 6 เดือน  และหวังว่าเรื่องการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่นจะลดลงได้

ด้านเภสัชกรปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่ 2 กล่าวว่า ประชาชนทราบอยู่แล้วว่าการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคได้ เพราะฉะนั้นการที่เราจะลดเลิกบุหรี่ ก็จะทำประโยชน์ให้กับสุขภาพตนเองและสุขภาพคนรอบข้างได้ ฉะนั้นตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่ง สปสช.เองได้จัดงบประมาณมาให้ร้านยาอยู่แล้ว หากประชาชนหรือบุคคลใดที่ต้องการเลิกหรือลดบุหรี่ หรือมีอาการเจ็บเล็กน้อยหรือประสงค์ต้องการปรึกษา ก็สามารถเข้ารับบริการกับร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ โครงการนี้เป็นเรื่องที่ดีในการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนไม่ว่าจะเป็น PM 2.5 หรือแม้กระทั่งปัญหาที่เกิดขึ้นจากควันบุหรี่ไฟฟ้า ถือว่าสอดคล้องกับวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม 2567 ทั้งนี้พบว่าปัจจุบันมีร้านยาที่เข้าร่วมโครงการอยู่ประมาณ 2,000 กว่าแห่ง

ขณะที่คุณปิยพร ปิยะจันทร์ ผู้อำนวยการ กลุ่มภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิและการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เล็งเห็นความสำคัญเรื่องบุหรี่ในประเทศไทย เพราะประชาชนเมื่อมีการสูบบุหรี่คนรอบข้างหรือคนในครอบครัวก็จะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพและเกิดโรคต่างๆตามมาได้ ดังนั้นเราจึงควรมีการป้องกันในเรื่องนี้ โดยเฉพาะตอนนี้มีเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาด้วย โดย สปสช. มีร้านยาเข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่แล้ว ประชาชนสามารถไปรับบริการเรื่องอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่ร้านยาได้ ดังนั้นจึงให้สภาเภสัชกรรมนำเรื่องการเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่เข้ามาเป็นหนึ่งในบริการของร้านยาด้วย เพื่อที่ให้ประชาชนที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยจากการสูบบุหรี่สามารถเข้าไปขอรับบริการจากร้านยาได้ ขณะนี้รอทำประกาศเพิ่มเติมในปี 2567 ซึ่งคาดว่าอีกประมาณหนึ่งเดือนจะสามารถให้บริการได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงรจพร วัชโรทยางกูร ผู้แทน องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า  องค์การเภสัชกรรมสนับสนุนการเข้าถึงยา cytisine ซึ่งเป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการเลิกบุหรี่ โดยจำหน่ายในราคาที่สามารถจัดบริการได้และประชาชนสามารถเข้าถึงได้ “ร้านยา” เป็นอีกหนึ่งสถานบริการสุขภาพที่สำคัญในการให้บริการเลิกบุหรี่ เนื่องจากสามารถเข้าถึงได้ง่าย สะดวกและรวดเร็วต่อการรับบริการ  และเป็นสถานบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิที่มีการกระจายตัวในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งพบว่าประชาชนส่วนใหญ่มักจะใช้บริการร้านยาเป็นแห่งแรกเมื่อมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ความร่วมมือครั้งนี้ มุ่งหวังผลักดันให้เกิดการเข้าถึงบริการเลิกบุหรี่ที่สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขวาง 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง