ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ. เดินหน้านโยบายสาธารณสุข ปี 67-68 ทั้งยกระดับ 30 บาทหาลู่ทางไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ พร้อมสร้าง ขวัญกำลังใจบุคลากร เคลื่อนกฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ. ด้านรมช.สธ.หนุนงาน ชงส่งเสริมการมีลูก

เมื่อเวลา 16.30น. วันที่ 27 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข  นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวให้นโยบายสาธารณสุขปี 2567-2568 ว่าตนดีใจที่ได้กลับมาอยู่ท่ามกลางพี่น้องชาวสาธารณสุขที่มีความสามารถและเสียสละที่ยิ่งใหญ่ในการดูแลประชาชนทั้งประเทศ โดยตนจะมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการเร่งรัดพัฒนาสานต่อขับเคลื่อนงานสาธารณสุข ซึ่งเป็น 5+5 เร่งรัดพัฒนาสานต่อ  

(อ่านข่าว: เปิดนโยบายสาธารณสุข (ปี67-68) 5+5 เร่งรัดพัฒนาสานต่อ)

“ในช่วงเวลา 20 วัน หรือ 3 สัปดาห์ ได้ทำงานที่นี่ ได้เรียนรู้บางท่านอาจไม่รู้จักผม แต่ผมเคยแวะเวียนที่นี่เมื่อปี 2535 เป็นเวลา 32 ปีในรัฐบาลของพลเอกสุจินดา คราประยูร  อยู่ที่เทเวศตอนนั้นไม่ค่อยได้ทำงาน มีม็อบเต็มไปหมด แต่ครั้งที่สองเมื่อปี 2540 รัฐบาลของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อยู่ได้ไม่กี่วันมีการปรับเปลี่ยนโยกย้าย จนกระทั่งชีวิตการเมืองผมมาที่นี่เป็นครั้งที่สามของกระทรวงสาธารณสุขและเป็นครั้งที่ 16 ของการเป็นรัฐมนตรี” นายสมศักดิ์ กล่าวท่อนนี้เสร็จพร้อมด้วยเสียงปรบมือดังกึกก้อง  จากข้าราชการผู้บริหารของ สธ.

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การที่ตนทำงานมาถึง 20 วัน ตนได้เห็นทั้งปลัดกระทรวงรองปลัดกระทรวงผู้ตรวจราชการต่างออกสนามเต็มที่เร่งรัดงานต่างๆอย่างโครงการพาหมอไปหาประชาชนท่านปลัดบอกยังเหลือ 40 จังหวัด กระทรวงอื่นมีผู้ช่วยรัฐมนตรีไม่มากแค่ แต่ที่นี่มีถึงสี่คนได้ช่วยงานตรงนี้ ซึ่งก็ทำให้การงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี

ห่วง 30 บาทรักษาทุกที่งบไม่พอ ต้องอาศัย อสม.ช่วย

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า  ส่วนนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว กลัวเงินไม่พอ ซึ่งรัฐให้มา 1.4 แสนล้านบาท แต่บอกรับผู้ป่วยไม่อั้น ขณะที่งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ 30 บาทได้มาราว 3,600 บาทต่อคนต่อปี ต้องทำให้ไม่เกินโควต้าเงิน  ต้องช่วยกันให้มีคนเข้ามาหาบุคลากรทางการแพทย์น้อยลง  โดยสนับสนุน อสม. ปัจจุบันมีราว 1.07 ล้านคน แบ่งทำงานเป็นคุ้ม(หมู่บ้าน) โดย 1 คุ้มมี อสม.3-5 คน ดูราว 30-50 หลังคาเรือน จึงต้องทำกฎหมายที่เป็นพ.ร.บ.อสม.  เอาอสม.มาทำงาน ซื้อเครื่องมือใส่ถุงย่ามกระเป๋าอสม. เช่น อุปกรณ์ตรวจความดัน  ซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 3 แสนคุ้ม ถ้าลงทุนซื้อให้คุ้มละ 1,000 บาท เป็นเงิน 300 ล้านบาท ถ้าลงทุนให้ 1,000 เป็นเงิน 3,000 ล้านบาท แต่ต้องคิดตัวเลขว่าลงทุนแล้วทำให้คนเข้ารพ.น้อยจริงหรือไม่  

ลงทุนเพิ่มมูลค่า รพ.ชายแดนรับผู้ป่วยต่างชาติ

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจสุขภาพ  เมดิคัลฮับในเรื่องเมดิคัลเซอร์วิสฮับ ต้องดูที่เมืองท่องเที่ยว กองเศรษฐกิจสุขภาพและประกันสุขภาพ ต้องประสานกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในการเก็บเงินค่าบริการจากประกันสุขภาพของนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนี้ อาจจะไปมองที่ชายแดน ถ้ามีงบประมาณก็จัดไปลงทุนรพ.ชายแดนให้มีมูลค่ามากขึ้น รองรับผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านที่จะข้ามมารักษาในประเทศไทย  

 

ผลักดันกฎหมาย แยกตัวออกจาก ก.พ.

“อย่างอะไรที่มันช้าอย่างที่ท่านบอกว่าอยากออกนอกกรอบของสำนักงาน ก.พ. เราก็ต้องทำแผนงานเตรียมทำกฏหมายจริงๆผมศึกษาแล้วท่านเค้าไม่ได้ห่วงเราแต่เราต้องทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะได้ออกจากนอกวงโคจรนี้ได้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยากเพราะเราเป็นคนเก่งและทำได้ใช่หรือไม่” นายสมศักดิ์ กล่าว

ส่วนเรื่องเศรษฐกิจสุขภาพนั้นก็จะเป็นเรื่องการลงทุน อัพเกรดโรงพยาบาลของเราที่อยู่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้านให้การตอบรับเข้ามาใช้บริการเรามากตรงนี้จะเป็นรายได้ให้กับเราได้  นอกจากนี้  ในเรื่อง เมดิคัล เวลเนส ฮับ ก็เป็นสิ่งที่ต้องขับเคลื่อน อย่างเรื่องการนวดไทย  สมุนไพร เราสามารถผลักดันร่วมลงทุนกับต่างชาติได้ 

รมช.สธ.ยังเดินหน้าแก้ปัญหาหมอขาดแคลน

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข กล่าวถึง การขับเคลื่อนการสาธารณสุขไทยว่า ตนพร้อมสนับสนุนและดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อยกระดับการบริการและหน่วยบริการสุขภาพในทุกระดับ  การพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศรวมไปถึงการดูแลส่งเสริมขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากรสาธารณสุขมีความสำคัญไม่น้อยกว่าอื่นๆ

บุคลากรสาธารณสุขในทุกๆอำเภอที่ได้เดินทางไปเยี่ยม ยังมีปัญหาขาดแคลนหมอที่ประจำในแต่ละอำเภอบางโรงพยาบาลได้บอกตนว่าควรมีแพทย์ประจำโรงพยาบาลอยู่เกิน 14 ถึง 15 คนแต่ปรากฏว่ามีเพียงสี่ถึงห้าคนเท่านั้นหมายความว่าระบบกระทรวงสาธารณสุขของเรากำลังเร่งรัดพัฒนาอย่างเข้มข้นในเรื่องของนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ จึงอยากจะขอฝากรัฐมนตรีว่าการว่าหากเราขาดแคลนบุคลากรที่จะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้โอกาสในการสร้างเสริมสุขภาพในอนาคตนั้นก็จะเกิดประสิทธิภาพน้อยลง

จากที่อยู่ในกระทรวงสาธารณสุขมาเกือบ 10 เดือนเห็นว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขมีความตั้งใจในการทำงานอย่างเข้มข้นมีการนำเทคโนโลยีใหม่ใหม่จากทั่วโลกมาเสริม ในการใช้ดูแลรักษาประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพ  แต่สิ่งที่ยังด้อยอยู่นั้น  คือ บุคลากรทางการแพทย์ ผลิตไม่ทัน ยังไม่เพียงพอ จึงขอฝากรัฐมนตรีเรื่องนี้ 

ฝากรมว.สธ.เคลื่อนแก้ปัญหาวิกฤติประชากร

รวมถึงอีกประเด็นคือขณะนี้ประเทศไทยของเรากำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติของประชากรเนื่องจากไทยมีประชากร  67 ล้านคนอัตราการเกิดตามสากลนั้นก็ต้องเกิดเฉลี่ย 1.4 ถึง 1.5% ต่อปีหรือปีหนึ่งต้องมีการเกิด 800,000 กว่าคนแต่จากตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าการเกิดของเด็กใหม่นั้น เกิดเพียงปีละ 480,000 หรือ 510,000 คนเท่านั้น ต่ำกว่ามาตรฐานราว 3 แสนคน ถือเป็นวิกฤติในอนาคตเราจะขาดบุคลากรในทุกๆด้าน  

” ตอนนั้นได้รับปัญหาว่าหลายครอบครัวไม่กล้ามีลูกเพราะกลัวว่าจะไม่สามารถเลี้ยงดูได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากที่สังเกตหากครอบครัวที่สามารถตั้งตัวได้ก็ต้องอายุ 35 ปีแล้ว แต่พอถึงตอนนั้นก็มีลูกยากตามหลักการทางการแพทย์ จึงมีปัญหาเรื่องการเกิดอย่างมาก  จึงขอฝากท่านว่าการในเรื่องนโยบายของการมีบุตร และให้ขวัญกำลังใจแก่ครอบครัวใหม่ๆ และสุภาพสตรีที่อยู่ในวัยเจริญพันธ์“ นายสันติกล่าว