ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"กองทุนเอดส์-ไต"บูรณาการรักษาระบบเดียว3 กองทุนสุขภาพเริ่มดีเดย์วันนี้ ผู้ป่วยเชื่อลดความเหลื่อมล้ำการรักษา-เข้าถึงยามากขึ้น

ภายหลังจากที่รัฐบาลเดินหน้ารวมบริหารจัดการผู้ป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุนสุขภาพ ได้แก่ ระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสังคม (สปส.) และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทันทีที่เกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ ไม่จำกัดสิทธิ

ล่าสุด นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศขยายการรวมบริหารจัดการผู้ป่วย 3 กองทุนสุขภาพเพิ่มเติมใน 2 กลุ่มโรค คือผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายและผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ซึ่งจะเริ่มดีเดย์ในวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม 2555

ในส่วนการบูรณาการผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย น.อ.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะบูรณการผู้ป่วยโรคไต 3 กองทุนสุขภาพ แต่เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การรักษาผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายแล้ว เห็นว่ายังมีความแตกต่างกันอยู่ระหว่างสิทธิ์ ทั้งการล้างไต การรับยา และการปลูกถ่ายไต เป็นต้น โดยระบบสวัสดิการข้าราชการให้ขึ้นอยู่กับแพทย์วินิจฉัย ส่วนระบบประกันสังคมจะมีหลักเกณฑ์การรักษา ซึ่งผู้ป่วยล้างไตต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการเขตและคณะกรรมการจากส่วนกลางก่อนขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแม้จะมีหลักเกณฑ์กำหนดเช่นเดียวกับระบบประกันสังคม แต่จะเปิดช่องว่างมากกว่า ให้แพทย์มีส่วนใช้ดุลยพินิจในการรักษาได้ และเมื่อเปรียบเทียบทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ แม้ว่าระบบประกันสังคมจะมีหลักเกณฑ์การรักษาที่ชัดเจน แต่เนื่องจากการเข้ารับล้างไตต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการก่อน ซึ่งต้องใช้เวลานานเกือบเดือน ส่งผลต่อความล่าช้าของการรักษาผู้ป่วยบางคนจึงต้องยอมจ่ายค่าล้างไตเองในระหว่างที่รอ ผู้ป่วยที่มีรายได้น้อยได้รับความเดือดร้อน

และเมื่อดูกระบวนการวิธีการล้างไตยังมีความต่างกัน โดยระบบสวัสดิการข้าราชการจะให้ผู้ป่วยเลือกเองว่าจะล้างไตผ่านช่องท้องหรือล้างไตด้วยเครื่อง ให้สิทธิเบิกจ่ายครั้งละ 2,000 บาท และสามารถเลือกรับการฟอกไตที่โรงพยาบาลเอกชนได้  เช่นเดียวกับระบบประกันสังคมที่เปิดให้ผู้ป่วยเลือกล้างไตได้ทั้ง 2 วิธี แต่จะเน้นล้างไตผ่านเครื่องมากกว่า แต่ให้สิทธิ์เบิกจ่ายได้ครั้งละ 1,500 บาท ขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีนโยบายให้ผู้ป่วยไตทุกคนต้องรับการล้างผ่านช่องท้องก่อน จึงให้รับการล้างไตผ่านเครื่องได้โดยไม่ต้องจ่ายเงิน โดยให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัย

3 กองทุนมาตรฐานเดียว

น.อ.นพ.อนุตตร กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มอบให้สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยจัดทำข้อบ่งชี้การรักษาตามหลักวิชาการมาตรฐาน ซึ่งเห็นว่า 3 กองทุนสุขภาพควรใช้มาตรฐานการรักษานี้ และถ้าเป็นไปได้ก็ควรที่จะหารือเพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์และใช้กระบวนการรักษาเดียวกัน ที่เป็นการบูรณาการสิทธิ์อย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ป่วยในภาพรวมมากกว่า แต่คิดว่าโอกาสที่เป็นไปได้คงยาก

ผู้ป่วยพอใจยุบรวม

ด้าน นายสหรัฐ ศราภัยวานิช รักษาการประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การบูรณาการเป็นไปตามทิศทางที่ชมรมเพื่อนโรคไตและเครือข่ายผู้ป่วยเคยนำเสนอและขับเคลื่อนก่อนหน้านี้ แต่ยังนับเป็นเพียงก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงสิทธิผู้ป่วยโรคไตใน 3 กองทุนสุขภาพ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันเท่านั้น เพราะเท่าที่ดูยังคงความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนอยู่มาก อย่างไรก็ตามความเปลี่ยนแปลงจากการบูรณาการ 3 กองทุนครั้งนี้ สิ่งที่เห็นชัดเจนและเป็นเรื่องที่ดีที่สุด คือการรักษาผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้ายที่มีการปรับเกณฑ์การรักษาของระบบประกันสังคมให้เท่าเทียมกับระบบสวัสดิการข้าราชการและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยึดตามหลักเกณฑ์การรักษาของทางสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย รวมไปถึงการปรับปรุงระบบเพื่อให้ผู้ป่วยโรคไตได้รับการ รักษาต่อเนื่องกรณีเปลี่ยนสิทธิ์รักษาจากกองทุนหนึ่งไปอีกกองทุนหนึ่ง ตลอดจน การให้สิทธิ์ในการปลูกถ่ายไตของทั้ง 3 กองทุน

นายสหรัฐ กล่าวว่า แต่ที่ยังเหลื่อมล้ำคือสิทธิการล้างไต โดยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากำหนดให้ผู้ป่วยต้องล้างไตผ่านหน้าท้องก่อน และหากมีข้อบ่งชี้จึงล้างไตด้วยเครื่องได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยที่เริ่มเข้าระบบและต้องการล้างไตผ่านเครื่องเลยนั้น จะต้องจ่ายค่าบริการเอง 1,500 บาทให้กับหน่วยล้างไตคู่สัญญา ยกเว้นกลุ่มผู้ป่วยล้างไตด้วยเครื่องก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ที่กำหนดร่วมจ่ายเพียง 500 บาท สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมของผู้ป่วยแม้อยู่ในกองทุนเดียวกันก็ตาม

และเมื่อเปรียบเทียบกับระบบประกันสังคม โดยประกันสังคมจะจ่ายค่าฟอกไตให้ผู้ประกันตน 1,500 บาทเท่านั้น ซึ่งจะให้สิทธิ์เฉพาะผู้ป่วยที่เกิดภาวะไตวายหลังเข้าเป็นผู้ประกันตนเท่านั้น ส่วนผู้ป่วยที่เกิดภาวะไตวายก่อนเป็นผู้ประกันตน จะได้รับค่าฟอกไตเพียงแค่ 500 บาทเท่านั้น ขณะที่ระบบสวัสดิการข้าราชการไม่เป็นปัญหา โดยจ่ายค่าฟอกไตให้ครั้งละ 2,000 บาท พร้อมสิทธิ์ในการปลูกถ่ายไตใหม่ ความแตกต่างเหล่านี้ต้องปรับให้เป็นมาตรฐานการรักษาเดียวกัน

"แม้ว่าการประกาศครั้งนี้จะยังคงปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนอยู่มาก แต่ก็ถือเป็นก้าวแรก ดีกว่าไม่มีการขยับอะไรเลย ซึ่งการรวมกองทุนภาคประชาชนได้เรียกร้องและผลักดันมากกว่า 2 ปีแล้ว และขณะนี้เริ่มเห็นผลเพราะเริ่มมีการขยับรวมสิทธิ์การรักษาในผู้ป่วย 3 กองทุนมากขึ้น" รักษาการประธานชมรมเพื่อนโรคไต กล่าว

มาตรฐานเดียวรับยาเอดส์

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการรวมบริหารจัดการโรคของ 3 กองทุนสุขภาพ ซึ่งเรื่องฉุกเฉินก่อนหน้านี้ไม่ถือเป็นการจัดการกลุ่มโรค ปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีผู้ติดเชื้อ 1.2 แสนราย ระบบสวัสดิการข้าราชการ 2 หมื่นราย และระบบประกันสังคม 5 หมื่นราย โดยจะมีการกำหนดแนวทางการรักษาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งการตรวจวินิจฉัย การให้สูตรยาต้านไวรัส รวมไปถึงการจ่ายค่ารักษาที่ใช้ฐานคำนวณเดียวกัน โดยมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญกลางจากทุกภาคส่วนร่วมกันจัดทำหลักเกณฑ์เหล่านี้ขึ้นมา ถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำของระหว่างกองทุนสุขภาพ ทั้งยังลดความยุ่งยากให้กับโรงพยาบาล ทั้งการจ่ายยาและเบิกจ่าย เพราะ 3 กองทุน ต่างใช้ยาและหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเดียวกัน

นายนิมิตร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ที่เห็นได้ชัดคือการนำระบบแนป (ระบบเก็บข้อมูลผู้ติดเชื้อ โดยใช้เลข 13 หลักบัตรประชาชนแทนชื่อผู้ป่วยในการรักษาและเบิกยา) มาเริ่มใช้กับผู้ป่วยในระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ จากแต่เดิมใช้เฉพาะในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น ซึ่งผู้ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องแสดงตนอย่างในอดีต ทั้งยังเป็นการเชื่อมระบบข้อมูลผู้ติดเชื้อทั้งหมดเข้าด้วยกัน ส่งผลดีต่อผู้ติดเชื้อในการย้ายสิทธิ์ ทำให้การรักษามีความต่อเนื่อง "การใช้เกณฑ์มาตรการการรักษาเดียวกัน โดยเฉพาะสูตรยาต้านไวรัสที่ให้เริ่มต้นที่สูตรพื้นฐานเหมือนกันหมด จะส่งผลดีต่อการลดปัญหาการดื้อยาลง จากแต่เดิมในบางกองทุนกำหนดให้ขึ้นอยู่กับแพทย์สั่งจ่าย ที่บางครั้งไม่ได้เริ่มจากสูตรยาขั้นพื้นฐานก่อน

จึงทำให้เกิดปัญหาการดื้อต่อยาได้ง่าย ส่งผลเสียต่อผู้ติดเชื้อเอง ต้องใช้ยาต้านไวรัสสูตรอื่นที่มีราคาแพงกว่าทดแทน กลายเป็นภาระงบประมาณประเทศในอนาคต" ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว และว่า  เชื่อว่าการรวมบริหารจัดการผู้ป่วยจะขยายไปยังกลุ่มโรคอื่นๆ ต่อไปในอนาคต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาล

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 1 ตุลาคม 2555