ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

แพทยสภา เผยผลสำรวจ 'หมอจบใหม่' คิดลาออกไปเรียนต่อเฉพาะทาง กลัวงานหนัก เสี่ยงถูกฟ้อง หวั่น 'สมองไหล' จี้ผู้บริหาร สธ.เร่งแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 22 เมษายน น.อ.(พิเศษ) นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นแพทย์จบใหม่ในปี 2556 จำนวน 837 คน จากทั้งหมด 2,124 คน พบว่า แพทย์ต้องการเรียนต่อสาขาเฉพาะทาง และสามารถเลือกสาขาที่เรียนได้ ร้อยละ 96 ส่วนแพทย์ที่ยังระบุสาขาไม่ได้ หรือไม่เรียนมีเพียงร้อยละ 4 สาขาที่แพทย์อยากเรียนต่อมากที่สุด คือ อายุรศาสตร์ ร้อยละ 16 กุมารเวชศาสตร์ ร้อยละ 10 สูติศาสตร์นรีเวชวิทยา, ศัลยศาสตร์, เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ร้อยละ 7 จักษุวิทยา, ออร์โธปิดิกส์, เวชศาสตร์ครอบครัว ร้อยละ 6 วิสัญญีวิทยา,โสต ศอ นาสิกวิทยา ร้อยละ 3 เมื่อถามถึงแผนการลาออก แพทย์จบใหม่ระบุว่ายังไม่มีแผน ร้อยละ 61 มีแผนหลังจบการใช้ทุน 3 ปี ร้อยละ 15 มีแผนหลังจบการใช้ทุนปีแรก ร้อยละ 9 มีแผนหลังจบการใช้ทุน 2 ปี ร้อยละ 4 มีแผนก่อนใช้ทุนปีแรกหลังจับฉลากร้อยละ 1

น.อ.(พิเศษ) นพ.อิทธพรกล่าวว่า ส่วนผลการสำรวจเรื่องหากจำเป็นต้องลาออกจะทำอะไร ยังพบว่า แพทย์จะเรียนต่อในประเทศ ร้อยละ 44 เรียนต่อต่างประเทศ ร้อยละ 7 ประกอบอาชีพส่วนตัวหรือเปิดคลินิก ร้อยละ 8 สมัครโรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิกเอกชน ร้อยละ 6 เรียนต่อวิชาชีพที่ไม่เกี่ยวกับแพทย์ ร้อยละ 1 เปลี่ยนอาชีพ ร้อยละ 1 อื่นๆ ร้อยละ 34

"จากสถิติดังกล่าวเห็นได้ว่า แพทย์ส่วนใหญ่อยากเรียนต่อมากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับสถิติของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่สำรวจข้อมูลย้อนหลัง 6 ปี พบว่าแพทย์ออกจากระบบเพราะไปเรียนต่อถึงร้อยละ 53.5 นอกจากนี้ แพทย์จบใหม่ยังกังวลเรื่องภาระงาน ไม่ได้เรียนในสาขาที่ต้องการ รายได้ค่าตอบแทนน้อย เสี่ยงคดี" น.อ.(พิเศษ) อิทธพรกล่าว และว่า การสำรวจความเห็นดังกล่าวถือเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องเร่งแก้ปัญหา โดยเติมกำลังคนให้เหมาะสมกับภาระงาน

วันเดียวกัน กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ออกแถลงการณ์ถามถึงความจริงใจรัฐบาลเรื่องการรักษาประชาชน โดยมีใจความสรุปว่า การที่รัฐมนตรีว่าการ สธ. นำเรื่องเบี้ยขยันพี ฟอร์พี (P4P: Pay for Performance) มาใช้กับแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล และบุคลากรในโรงพยาบาลชุมชน เป็นการทำลายล้างอุดมการณ์ของบุคลากรทางการแพทย์ในต่างจังหวัดโดยสิ้นเชิง และกำลังสร้างความแตกต่างระหว่างโรงพยาบาลในเมืองกับชนบท ดังนั้น กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจึงสนับสนุนการต่อสู้ของชมรมแพทย์ชนบท โดยช่วยกันขึ้นป้ายในจังหวัดต่างๆ เพื่อแสดงความต้องการให้รัฐบาลประกันว่าคนชนบทจะมีหมออย่างเพียงพอ และเป็นหมอมีอุดมการณ์ และเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบเหตุการณ์นี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 23 เมษายน 2556