ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554 หน้า A6

นอกจากผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมจะได้รับความเหลื่อมล้ำจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) แล้ว ผลงานวิจัยของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ยังชี้ให้เห็นว่ามีความเหลื่อมล้ำในกลุ่มผู้ประกันตนด้วยกันเองด้วย

เอื้อมพร พิชัยสนิธอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำการศึกษาถึงความไม่เป็นธรรมในระบบประกันสังคมไทย

ผลงานวิจัยแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกันตนในรูปของ"สัดส่วนสิทธิประโยชน์ต่อเงินสมทบที่ต้องจ่าย" โดยพบว่ามีโอกาสเหลื่อมล้ำกันได้สูงสุดถึง 16 เท่า

นอกจากนี้ ยังพบความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกันตนแต่ละช่วงอายุ โดยพบว่าผู้ประกันตนรุ่นหลังจะมีความเสี่ยงสูงที่อาจจะไม่ได้รับผลประโยชน์บำนาญอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและตรงตามเวลา

สำหรับสาเหตุความเหลื่อมล้ำ เอื้อมพร บอกว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากกฎเกณฑ์การใช้สิทธิประโยชน์ กล่าวคือ ผู้ประกันตนบางรายถูกลิดรอนสิทธิในการรับการรักษาพยาบาล (ไม่ได้ใช้บริการ)เนื่องจากมีประกันกับบริษัทเอกชน

งานวิจัยจึงเสนอให้มีการปรับกฎเกณฑ์เพื่อเอื้ออำนวยต่อผู้ประกันตนให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์ได้ทั้งหมด ทั้งของที่ทำงาน (ประกันเอกชน) และในระบบประกันสังคม ทั้งนี้เพื่อลดส่วนต่างระหว่างผู้ประกันและสร้างความเป็นธรรมให้มากขึ้นได้

อีกสาเหตุเนื่องจากผู้ประกันตนบางกลุ่มไม่เคยใช้สิทธิประโยชน์ด้านสงเคราะห์บุตร แต่กลับถูกเก็บเงินสมทบไปใช้ในกองทุนบำนาญชราภาพ

งานวิจัยจึงเสนอว่าควรแยกการสงเคราะห์บุตรออกจากกองทุนบำนาญและกำหนดอัตราเงินสมทบ-เงินบำนาญให้ถูกต้องตามทฤษฎีและสภาวะสังคมเศรษฐกิจที่เป็นจริง

"เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการเงินสะสมที่จะเตรียมไว้เป็นเงินบำนาญอย่างมีประสิทธิภาพและตรงตามวัตถุประสงค์จริง"

นอกจากนี้งานวิจัยยังช่วยยกประเด็นความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ประกันตนที่อยู่ภายใต้ระบบประกันสังคมกับแรงงานนอกระบบ

หากพิจารณาในแง่ของรายได้ สถิติจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.)แสดงให้เห็นว่าเกินครึ่งหนึ่งของผู้ประกันตนมีรายได้ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของชาวนา (ประมาณ 5 หมื่นบาทต่อคนต่อปี) จึงถือว่าเป็นผู้มีรายได้น้อย แต่แรงงานในระบบกลับต้องจ่ายเงินสมทบเพื่อได้รับบริการด้านสุขภาพ ขณะที่ชาวนาสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลฟรี

หากพิจารณาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น บนปรัชญาแห่งการสังคมสงเคราะห์การอ้างเหตุผลที่ต้องช่วยเหลือคนจนก่อนยังไม่สมเหตุสมผลพอ เพราะคนจนที่อยู่ในประกันสังคมกลับถูกเลือกปฏิบัติ

เอื้อมพร กล่าวว่า ปัญหาความไม่เป็นธรรมในประเทศไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งไม่ใช่เป็นความบกพร่องของสำนักงานประกันสังคม ที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในหน้าที่ที่ถูกกำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลค่าใช้จ่ายสวัสดิการพื้นฐานของประชาชนที่มีรายได้น้อยกลุ่มหนึ่งด้วยการใช้งบประมาณแผ่นดิน ประชาชนที่มีรายได้น้อยกลุ่มอื่นๆ ก็ควรจะใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเช่นเดียวกัน

นักวิชาการรายนี้ สรุปความว่า จากเหตุแห่งความไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม นับเป็นอุทาหรณ์ว่าการขยายการครอบคลุมสวัสดิการในรูปแบบต่างๆ ของประเทศในอนาคตจำเป็นต้องทบทวนให้เกิดความมั่นใจในหมู่ประชาคม

ด้วยเงื่อนไขความเป็นธรรมอย่างน้อย 3 ประการ คือ 1.การอุดหนุนจากภาครัฐ 2.การจ่ายเงินสมทบ 3.การได้รับสิทธิประโยชน์

"ทั้งสามประเด็นนี้จะต้องไม่เกิดความซ้ำซ้อน และต้องมีความเป็นธรรมระหว่างประชาชนทุกกลุ่ม" เอื้อมพร ระบุ