ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 2 เมษายน 2555 หน้า 12

“ทศวรรษที่ผ่านมา...หากมองว่าการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายากแล้ว การลดความเหลื่อมล้ำของระบบสุขภาพยิ่งยากกว่า“

นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข หรือ หมอก้อง มีดีกรีด็อกเตอร์ ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข โดยทุนรัฐบาล (ก.พ.) จากประเทศอังกฤษ ผู้ทำงานเบื้องหลังการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุขที่สำคัญอีกหลายเรื่อง เคยเป็นทีมงานด้านวิชาการของ นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เคยทำงานร่วมกับผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกคนปัจจุบัน (แพทย์หญิงมาร์กาเร็ต ชาน) ที่กรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ ครั้งนี้ได้จุดประกายประเด็นความแตกต่างของสวัสดิการรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคมและบัตรทอง ที่ผลงานวิจัยตีแผ่ให้เห็นว่า สิทธิรักษาพยาบาลของประกันสังคมซึ่งผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบนั้นด้อยกว่าบัตรทองหลายประการ งานวิจัยนี้สร้างความสั่นสะเทือนอย่างมาก กระทั่งในรอบปีที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคมต้องพัฒนาสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลหลายอย่าง รวมทั้งเปลี่ยนวิธีจ่ายเงินให้หน่วยบริการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่ด้อยกว่าบัตรทองทั้งสิ้น

จุดเริ่มต้นตรงนี้ เปรียบเสมือนเป็นอิฐก้อนแรกที่ถูกโยนลงไป เพื่อถมความเหลื่อมล้ำ และบอกให้สังคมได้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงว่า ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยมีความเหลื่อมล้ำอย่างมาก และหากไม่แก้ไขจะนำไปสู่ปัญหาในระยะยาว ทั้งความเป็นธรรม ประสิทธิภาพ และคุณภาพ ประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพของไทยจึงถูกจุดติด และเป็นนโยบายที่ภาครัฐและรัฐบาลต้องใส่ใจแก้ไขอย่างจริงจัง กระทั่งเริ่มก้าวแรกด้วยบริการฉุกเฉินมาตรฐานเดียวที่ดีเดย์เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา และนำไปสู่สภาวะการปัจจุบันที่กำลังเปลี่ยนผ่านขยับเข้าไปสู่การมีระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว ของคนไทยในไม่ช้า

ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ หมอก้อง เล่าว่า “สาเหตุที่เข้ามาจับงานด้านนี้ คงเป็นเพราะอยากทำงานเชิงนโยบาย จริงๆแล้วผมก็ไม่ต่างจากเพื่อนคนอื่นๆ อยากเป็นแพทย์เฉพาะทาง เป็นศัลยแพทย์ เพราะชอบผ่าตัด แต่ก่อนไปเรียนก็คิดอยู่นานว่า ถ้าเป็นแพทย์ผ่าตัดก็ช่วยคนได้ปีละไม่กี่พันคน ทั้งชีวิตคงได้ไม่ไหร่ แต่ถ้าหากมาทำด้านนโยบาย น่าจะส่งผลกระทบกับคนจำนวนมากกว่า พอดีกับที่คุณหมอสงวน (นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคนแรก) ได้ชวนมาทำงานในโครงการปฏิรูปบริการสุขภาพ (Health care reform project) จึงมีโอกาสเรียนรู้ทางด้านนี้ โดยเฉพาะด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข การเงินการคลัง และนโยบาย พอมีโอกาสได้ศึกษาต่อ จึงเลือกด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ซึ่งมีคนเรียนอยู่ไม่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

หมอก้อง เล่าต่อว่า ตอนทำ ป.เอก ก็ได้ทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง “การเปรียบเทียบวิธีจ่ายเงินให้กับหน่วยบริการ ภายใต้โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค” โดยเปรียบเทียบวิธีการจ่ายเงินให้หน่วยบริการระหว่าง ระบบเหมาจ่ายรายหัว (capitation) และการวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis Related Groups หรือ DRGs) จึงทำให้ยิ่งเข้าใจถึงปัญหาของระบบประกันสังคมได้เป็นอย่างดี

“การเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนในการพัฒนาการแพทย์ของระบบประกันสังคมนั้น เนื่องจากผู้นำแรงงานส่วนหนึ่งได้ขอร้องให้เข้ามาช่วยทำการศึกษา เพราะเขาคิดว่าสิทธิการรักษาพยาบาลของประกันสังคมไม่ค่อยได้รับการดูแลและพัฒนาเท่าที่ควร จริงๆแล้วผมไม่ได้คิดว่าจะเป็นเรื่องเป็นประเด็นที่สังคมสนใจอะไร พอดีถูกเชิญไปพูดในเวทีของผู้นำแรงงาน ก็พูดไปตามข้อเท็จจริงที่ค้นพบ คงมีนักข่าวอยู่ด้วย เรื่องจึงเป็นประเด็นขึ้นมา ประกอบกับ กว่า 20 ปี ที่ประกันสังคมขาดการพัฒนาด้านการแพทย์ พอมีระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค 10 ปีที่แล้ว และระบบมีการพัฒนาไปอย่างเร็วมาก จนระบบประกันสังคมตามไม่ทัน สิ่งที่เคยคิดว่า 30 บาทเป็นรักษาพยาบาลชั้นสาม แต่พอเปิดงานวิจัยออกมาไม่เป็นเช่นนั้น ประกันสังคมเลยเกิดอาการช็อค จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในปีที่ผ่านมา”

หมอก้อง ฉายภาพปัญหาความเหลื่อมล้ำของแต่ละกองทุน ว่าเนื่องมาจากแต่ละกองทุนมีที่มาที่ไปแตกต่างกัน จุดเริ่มต้นต่างกัน กฎหมายแตกต่างกัน ช่วงแรกที่ยังไม่มีกองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้าประชาชนคนรากหญ้าต่างต้องทนทุกข์กับปัญหาไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ ทั้งๆที่ การดูแลสุขภาพยามเจ็บไข้ได้ป่วยของประชาชนถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทุกคนและในที่สุดก็ถึงช่วงเวลาที่สุกงอม จนกลายเป็น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่นั้นเป็นเพียงก้าวแรกของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น ก้าวที่สำคัญต่อจากนี้ คือ การมุ่งสู่ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว เพราะระบบบ้านเรายังเหลื่อมล้ำ ขณะเดียวกันยังสามารถการเพิ่มทั้งประสิทธิภาพและคุณภาพในระบบสุขภาพไปพร้อมๆกัน หากไม่เดินหน้าเช่นนี้เราจะมีเงินไม่พอกับทุกคนในสังคม เพราะเรากำลังเดินหน้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเทคโนโลยี ยาใหม่ๆ ที่มีราคาแพง ในยุโรปหรือประเทศที่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้งหลาย ที่ใกล้ตัว เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ก็ล้วนแต่มีเส้นทางของระบบสุขภาพเช่นนี้ คือ มุ่งสู่ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว จะต่างก็เพียงจะช้าหรือเร็วเท่านั้น ขึ้นอยู่กับความรับรู้ การยอมรับ ของผู้คนในสังคม

“อย่างไรตาม วันที่ 1 เมษายน นี้ ถือเป็นก้าวแรกของระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว ที่เราจะได้เห็นคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจน เป็นข้าราชการ สาวโรงงาน หรือชาวนา ชาวไร่ สามารถเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อชีวิต ได้อย่างเท่าเทียม” เพราะเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ เพราะไม่มีใครรู้ว่าตัวเองจะเจ็บป่วย เป็นอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร ทางวิชาการเรียกว่ามี ความไม่แน่นอน (uncertainty) จึงต้องมีระบบที่ป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนเหล่านี้ ที่สำคัญ เรื่องนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ที่มีความจำเพาะ ไม่สามารถใช้การตลาดเสรีเข้ามาจัดการได้ จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเข้ามาดูแล เจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ โดยเฉพาะทำให้ทุกคนได้เห็นว่า ทุกคนได้รับการดูแลดีขึ้นจากระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว

เมื่อถามถึงการเมืองเป็นอุปสรรคในการพัฒนาระบบประกันสุขภาพหรือไม่ หมอก้องมองว่า การเมืองเป็นทั้งอุปสรรคและเป็นแรงผลักดันในเวลาเดียวกัน เพราะหากบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ มองให้ลึกและให้ความสำคัญกับระบบสุขภาพ พรรคการเมืองมักจะได้คะแนนจากสิ่งเหล่านี้ อย่างนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ก็เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ ว่าพรรคการเมืองนั้นๆ ได้รับคะแนนนิยมมากน้อยเท่าไร่ นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” ก็เช่นกัน ที่เป็นนโยบายส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อระบบ และแทบจะไม่มีคนคัดค้าน คนส่วนใหญ่เห็นด้วยเพราะต่างก็ได้รับประโยชน์ ถือว่ารัฐบาลนี้เข้าใจฉลาดที่จะใช้นโยบายสาธารณสุขซื้อใจประชาชน เชื่อว่านโยบายนี้จะกลายเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่งทีเดียว

สิ่งที่หมอก้อง ทิ้งท้ายไว้ก็คือ ระบบสุขภาพที่ดีของสังคมไทยก็เหมือน เมนูอาหารจานอร่อย ที่กว่าจะเป็นอาหารได้สำเร็จ ก็ต้องเริ่มต้นหาฟืน จุดไฟ การทำงานวิชาการของผมครั้งนี้เป็นเพียงงานชิ้นเล็กๆ เหมือนคนหาฟืน มาจุดไฟ แต่ยังต้องอาศัยลม อาศัยถ่าน อาศัยพ่อครัว เครื่องปรุง และอุปกรณ์ต่างๆ เปรียบเหมือนยังต้องอาศัยสื่อมวลชนที่เหมือนลมช่วยติดไฟ อาศัยพรรคการเมืองที่เป็นพ่อครัว อาศัยนักวิชาการคนอื่นๆ ตลอดจนคนในสังคมทุกคนมาช่วยกันชิม ไม่เช่นนั้นแล้วลำพังแต่คนจุดไฟ ก็ไม่สามารถทำอาหารจานอร่อยให้กับทุกคนในสังคมได้สำเร็จ เช่นกัน

เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน วันจันทร์ที่ 2 เมษายน 2555 คอลัมน์ส่องฅนคุณภาพ หน้า 12