ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

วันนี้ (10 พฤษภาคม 2555) ที่ห้องรับรอง อาคารรัฐสภา นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค หารือกับแพทย์หญิงนาฟิส ซาดิค (Dr.Nafis Sadik) ที่ปรึกษาพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติและผู้แทนพิเศษด้านเอชไอวีเอดส์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้านนโยบายการแก้ไขปัญหาเอดส์    โดยนายวิทยาให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับมอบหมายจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้เป็นผู้แทนในการหารือในครั้งนี้ ซึ่งแพทย์หญิงนาฟิสได้ชื่นชมผลงานการป้องกันแก้ไขปัญหาเอดส์ตลอดช่วง 28 ปีของประเทศไทยที่ประสบผลสำเร็จยอดเยี่ยม และไทยยังเป็นประเทศต้นๆ ในโลกที่ประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติฉบับพ.ศ.2555-2559 เป็นแผนที่ดีเยี่ยม มีวิสัยทัศน์สู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์ 3 ประการ สอดรับกับนโยบายขององค์การสหประชาชาติ ได้แก่ ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ไม่มีการตายเนื่องจากเอดส์ และไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ โดยใช้งบประมาณทั้งหมด 43,790 ล้านบาท ภายในปี 2559 ไทยตั้งเป้าลดผู้ติดเชื้อรายใหม่เหลือไม่เกิน 4,900 ราย 

นายวิทยากล่าวต่อว่า สถานการณ์โรคเอดส์ของไทย จากการคาดประมาณตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ในพ.ศ. 2554 คาดว่ามียอดสะสม 1,148,117 คน ยังมีชีวิต 481,770 คน และคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์รายใหม่ 10,097 คน พบมากในกลุ่มฉีดยาเสพติดเข้าเส้นร้อยละ 30-40 กลุ่มชายรักชายร้อยละ 10 พนักงานบริการชายร้อยละ 16 พนักงานบริการหญิงร้อยละ 3 ในปี 2552 ไทยมีค่าใช้จ่ายในการดูแลป้องกันและรักษาโรคเอดส์ทั้งสิ้นจำนวน 7,208 ล้านบาท โดยร้อยละ 76 เป็นงบด้านการรักษาพยาบาลและเวชภัณฑ์ 5,483 ล้านบาท ที่เหลืออีกร้อยละ 14 เป็นงบการป้องกันโรค 987 ล้านบาท

 นายวิทยากล่าวต่อไปว่า แพทย์หญิงนาฟิส ได้ขอให้ไทยเพิ่มมาตรการในการลดปัญหาการติดเชื้อเอดส์ในกลุ่มฉีดยาเสพติดเข้าเส้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราการติดเชื้อสูงสุดในปี 2554 ซึ่งตามแผนยุทธศาสตร์เอดส์ชาติฯ ของไทยในช่วง 5 ปีจากนี้ไป จะเน้น 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การแลกเปลี่ยนเข็มฉีดยาสะอาด (Drop in center) เพื่อป้องกันการติดเชื้อรายใหม่ ขณะนี้เริ่มดำเนินการแล้ว 19 จังหวัด เช่น กทม. เชียงใหม่ สงขลา ปทุมธานี 2.การรักษาด้วยเมทธาโดนให้เลิกเสพยา 3.การส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยและ 4.การลดการตีตราผู้ติดยา ทั้ง 4 เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดพื้นที่นำร่องโครงการบำบัดยาเสพติดแบบองค์รวมดำเนินการทั้ง 4 เรื่องนี้ ใน 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และสงขลา  

นอกจากนี้ ในการประชุมวิชาการสมัชชานานาชาติว่าด้วยโรคเอดส์ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 11 ในเดือนพฤศจิกายน 2556ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ แพทย์หญิงนาฟิส ได้เสนอให้ไทยใช้โอกาสนี้จัดประชุมผู้นำระดับสูงจากทั่วโลกควบคู่กันไปด้วย เพื่อแลกเปลี่ยนโครงการความสำเร็จใหม่ๆ เช่นโครงการตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีของสภากาชาดไทย ซึ่งจะทำให้ผู้ติดเชื้อได้เข้าสู่ระบบการรักษาเร็วขึ้น และลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลงได้ จะทำให้ไทยก้าวสู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์ได้ เพื่อให้ผู้นำระดับสูงนำไปขยายผลในประเทศต่างๆต่อไป