ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาผลกระทบสุขภาพจากปัญหาบ่อกำจัดกากอุตสาหกรรมบริษัทเบตเตอร์เวิร์ลฯ จังหวัดสระบุรี พร้อมสั่งการให้กรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เฝ้าระวังคุณภาพน้ำดื่มน้ำใช้ อาหาร เป็นการด่วน และเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนที่อยู่พื้นที่โดยรอบ 3 ตำบล พร้อมทั้งตั้งศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลห้วยแห้ง เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนทั้งร่างกายและจิตใจ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นการเฉพาะ คาดเริ่มให้บริการกลางเดือนหน้านี้

วันนี้ (11 พฤษภาคม 2555) นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพ จากปัญหาบ่อกำจัดกากอุตสาหกรรม บริษัทเบตเตอร์ เวิร์ล กรีน จำกัด (มหาชน) จ.สระบุรี พร้อมด้วยนายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย และดร.สุมล ปวิตรานน ผู้อำนวยการศูนย์ประเมินความเสี่ยง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยตรวจเยี่ยมจุดให้บริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อตรวจสุขภาพประชาชนในตำบลห้วยแห้ง ที่องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแห้ง อ.แก่งคอย และตรวจเยี่ยมบ่อกำจัดกากอุตสาหกรรมของบริษัทเบตเตอร์เวิร์ลฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ 8 ต.ห้วยแห้ง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี

นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยสุขภาพประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รอบบ่อกำจัดกากอุตสาหกรรมของบริษัทเบตเตอร์ เวิร์ลฯ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ประชาชนร้องเรียนทั้งเหตุรำคาญ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และได้มอบหมายให้กำกับดูแลการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะเรื่องน้ำดื่ม น้ำใช้ และการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยแก่ประชาชน โดยมาตรการแก้ไขระยะเร่งด่วนนี้ได้สั่งการให้กรมอนามัย และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกันประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โดยรอบบ่อกำจัดกากอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งมี 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลหนองปลาไหล ตำบลกุดนกเปล้า อ.เมือง และตำบลห้วยแห้ง อ.แก่งคอย มีประชากรที่มีความเสี่ยงประมาณ 10,000 คน โดยให้ศึกษาการแพร่กระจายของสารเคมีหรือสารพิษที่อาจปนเปื้อนในแหล่งน้ำบริโภคทั้งน้ำประปา น้ำบ่อ   ชั้นดิน และในอากาศบริเวณบ่อกำจัด เพื่อหาความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพของประชาชน อย่างสมเหตุสมผล ให้รายงานผลการดำเนินการอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ กรมอนามัยได้เก็บตัวอย่างน้ำ 4 แหล่ง ได้แก่ น้ำประปาบาดาล น้ำจากลำคลอง น้ำจากบ่อน้ำ และน้ำฝน ไปทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา จะทราบผลการตรวจในอีก 2-3 สัปดาห์

นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า สำหรับผลการตรวจสุขภาพเบื้องต้นประชาชนที่อาศัยโดยรอบบ่อกำจัดกากอุตสาหกรรมในปี 2553 และ 2554 พบว่ามีความเสี่ยงจากสารพิษร้อยละ 8 มีภาวะเครียดร้อยละ 1 ดังนั้นมาตรการแก้ไขในปี 2555 นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้วางแผนดำเนินการ 2 เรื่อง ได้แก่ 1.จัดตั้งศูนย์ตรวจรักษาโรคด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมของจังหวัดสระบุรี ในระดับตำบลที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลห้วยแห้ง เพื่อให้บริการประชาชน 3 ตำบลประมาณ 5,000 ครัวเรือน พร้อมทั้งเฝ้าระวังและส่งเสริมสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจควบคู่กัน รวมทั้งป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพและรักษาโรคจากสารพิษเคมีต่างๆ โดยเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคจากสารพิษและนักพิษวิทยาจากโรงพยาบาลภาครัฐเช่นโรงพยาบาลรามาธิบดี ไปให้บริการตรวจรักษาเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง คาดว่าจะเริ่มให้บริการประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2555

และเรื่องที่ 2 ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรีจัดบริการเชิงรุก เฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่น ตรวจร่างกาย ตรวจหาสารเคมีเช่นสารแคดเมียม แมงกานีส สารอาซีนิก ตกค้างในเลือด ในปัสสาวะ เอ็กซเรย์ปอด และตรวจคัดกรองสุขภาพจิต ฟรี ตั้งเป้าดำเนินการ 7 ครั้ง  ขณะนี้ตรวจไปแล้ว 4 ครั้ง มีผู้รับบริการ 176 คน ผลการตรวจพบมีความเสี่ยงได้รับสารเคมี 8 คน คิดเป็นร้อยละ 5 และพบมีอาการผิดปกติทางอายุรกรรม มีความเสี่ยงต่อการทำงานผิดปกติของตับ ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เป็นต้น รวม 30 คน คิดเป็นร้อยละ 17 ทุกรายจะส่งตรวจรักษาที่ศูนย์อาชีวเวชศาสตร์โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป  

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาได้เก็บตัวอย่างอาหารจาก 3 ตำบล ทั้งอาหารดิบและสุก พืชผัก และน้ำประปา น้ำบ่อ น้ำฝน และนำจากลำคลอง ไม่พบสิ่งปนเปื้อนผิดปกติแต่อย่างใด นายแพทย์สุรวิทย์กล่าว