ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

 

"หมอสมาน"เตรียมหารือสวนดุสิตโพลทำแบบสำรวจทั่วประเทศกรณีห้ามดื่มเหล้าบนทางเท้า หลังมติ คกก.ควบคุมฯตีกลับให้ศึกษาใหม่ เครือข่ายฯย้ำหากไม่ใส่ใจเคลื่อนไหวอีก

ตามที่มติคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พิจารณาร่างประกาศ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551 จำนวน 4 ฉบับ แต่เห็นชอบ 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่างประกาศห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงงานอุตสาหกรรม2.ร่างประกาศห้ามขาย ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ3.ร่างประกาศห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรถยนต์ทุกประเภททั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร รวมทั้งท้ายรถกระบะ ซึ่งจะเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ ส่วนร่างประกาศห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มในทางสาธารณะหรือไหล่ทาง ทางเท้า นั้นตกไป และให้นำกลับไปศึกษา พร้อมทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้

ล่าสุด เมื่อวันที่10 พฤษภาคม นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรมควบคุมโรค (คร.) เปิดเผยว่า มติที่ประชุมให้มีการศึกษาในรายละเอียดเกี่ยวกับประกาศห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มในทางสาธารณะโดยเฉพาะประเด็นการดื่มในที่สาธารณะทางเท้า ไหล่ทาง ได้ประสานความร่วมมือกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เพื่อสำรวจกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ทั้งที่ดื่มและไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วประเทศประมาณ 4,000-5,000 ตัวอย่าง เพื่อถามความเห็นร่างประกาศที่ผ่านมติคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์3 ฉบับ โดยเน้นร่างประกาศห้ามดื่มในที่สาธารณะ ทางเท้า ไหล่เท้า จากนั้น จะนำเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พิจารณาต่อไปในอีก 3 เดือนข้างหน้า พร้อมทั้งจะนำร่างประกาศเกี่ยวกับมาตรการโซนนิ่งร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ซึ่งจะห้ามขายในบริเวณ 300 เมตร และ 500 เมตร เข้าสู่การประชุมด้วย

นายชูวิทย์ จันทรส เลขานุการเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วเกี่ยวกับร่างประกาศห้ามขายห้ามดื่มในที่สาธารณะทางเท้า ไหล่ทาง ไม่จำเป็นต้องทำประชาพิจารณ์ หรือสำรวจความคิดเห็นใดๆ ให้ยุ่งยาก เนื่องจากการควบคุมเป็นเรื่องที่ดีและไม่ใช่เรื่องยากในการแยกคนทำถูกหรือทำผิดกฎหมาย เนื่องจากในแง่เทคนิคไม่ต้องไปตรวจวัดลมหายใจ ก็สามารถตรวจจับได้ โดยหากพบว่ามีคนเมาเดินถือขวดเหล้า หรือกระป๋องเหล้าที่เปิดฝาอยู่ และมีการดื่มบนพื้นที่สาธารณะทางเท้า ไหล่ทาง มีสภาพเมามาย มีกลิ่นเหล้าติดตัว ทั้งหมดถือว่ามีองค์ประกอบครบ สามารถดำเนินคดีได้

นายชูวิทย์กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นที่ระบุว่า หากจะไปออกกฎเกณฑ์ควบคุมร้านค้าที่ขายอาหาร พร้อมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามทางเท้า จะเป็นการออกกฎซ้ำซ้อนกับกฎหมายเดิม ทั้ง พ.ร.บ.ทางจราจร หรือกฎหมายของกรมสรรพสามิต ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ เนื่องจากการออกกฎหมายตรงนี้มาจะช่วยให้การจับกุมเข้มงวดขึ้น เพราะปัจจุบันแค่กฎหมายของกรมสรรพสามิต ที่ระบุว่าหากไม่มีใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเหล้าในประเทศจะปรับไม่เกิน 500 บาท แต่หากเป็นเหล้าต่างประเทศจะปรับไม่เกิน 2,000 บาท นับเป็นกฎหมายที่มีโทษเล็กน้อย คนถึงกล้าทำผิด

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 11 พฤษภาคม 2555