ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กระทรวงสาธารณสุข มอบกรมควบคุมโรค เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและรณรงค์ให้ประชาชนทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง สนับสนุนให้ชุมชนทุกแห่งจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปริมาณยุงลายให้มากที่สุด และหากมีรายงานพบผู้ป่วยแม้เพียงรายเดียว ให้จัดส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว(SRRT) ลงพื้นที่เพื่อควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมง และทำลายลูกน้ำยุงลายพ่นสารเคมีฆ่ายุงตัวแก่ภายในบ้านและรอบบ้านผู้ป่วยในรัศมี 100 เมตร และพ่นซ้ำในอีก 7 วัน

วันนี้(11พฤษภาคม 2555) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยยังน่าเป็นห่วงเพราะในช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลง อากาศร้อนสลับฝนตก หลังจากฝนตกก็จะเกิดแอ่งน้ำขังหรือน้ำขังตามภาชนะต่างๆ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงได้ โดยทั่วไปยุงลายจะวางไข่ตามภาชนะที่มีน้ำใสและนิ่ง  ซึ่งน้ำฝนมักเป็นน้ำที่ยุงลายชอบวางไข่มากที่สุด จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–10 พฤษภาคม 2555) พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม จำนวน 8,934 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 13.99ต่อประชากรแสนคน  มีผู้เสียชีวิต จำนวน 7ราย ในจังหวัดราชบุรี สมุทรสงคราม ชลบุรี ภูเก็ต ระนอง นครราชสีมา และกรุงเทพฯ เมื่อแยกเป็นรายภาคที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ ภาคกลาง จำนวน 4,508ราย รองลงมาภาคใต้ จำนวน 2,225 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 1,185 ราย และภาคเหนือ จำนวน 1,016 ราย ตามลำดับ หากพิจารณาตามอัตราป่วยกลับพบว่า ภาคใต้มีอัตราป่วยสูงสุด คือ 25.02ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือภาคกลาง อัตราป่วย 20.85 ต่อประชากรแสนคน   

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สภาพอากาศโดยทั่วไปในพื้นที่ภาคใต้จะมีฝนตกประปรายเกือบตลอดทั้งปี ทำให้มีแอ่งน้ำขังหรือมีน้ำขังตามวัสดุต่างๆ ประกอบกับพื้นที่บางส่วนจะมีแนวชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงมีชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวจำนวนมาก จึงทำให้มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง ทั้งประชาชนในพื้นที่ นักท่องเที่ยวจากต่างชาติ และแรงงานเพื่อนบ้าน กรมควบคุมโรคจึงมีมาตรการเข้มข้นในเรื่องนี้ เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้เลือดออกที่อาจจะเกิดขึ้น  โดยจัดส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว(SRRT)จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11จังหวัดนครศรีธรรมราช และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12จังหวัดสงขลา ที่ดูแลพื้นที่ภาคใต้  เข้าไปร่วมดำเนินงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ภาคใต้  พร้อมสนับสนุนการดำเนินการทุกด้าน เช่น ทีมสอบสวนโรค ทีมปฏิบัติการพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวเต็มวัย ทรายกำจัดลูกน้ำ ยาทากันยุง และสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนร่วมกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดยุงลายเพื่อลดปริมาณยุงลายให้มากที่สุด

โรคไข้เลือดออกติดต่อกันได้โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ ซึ่งจะกัดในเวลากลางวัน  ลักษณะอาการเริ่มจากมีไข้สูง2-7วัน ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัวปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูก คลื่นไส้ อาเจียนแต่จะไม่มีอาการไอ ไม่มีน้ำมูกไหล เหมือนไข้หวัด นอกจากนี้อาจมีผื่นหรือจุดแดงๆ ขึ้นที่ใต้ผิวหนัง หลังจากนั้นไข้จะลง ส่วนใหญ่จะฟื้นตัว สดชื่น แจ่มใสขึ้น และหายเป็นปกติ  แต่หากไข้ลดแล้วมีอาการซึม เบื่ออาหาร มีอาการเพลียมาก ให้ไปพบแพทย์ทันที เพราะจะเกิดอาการช็อกได้ และที่สำคัญในการให้ยาลดไข้ ขอให้ใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพรินอย่างเด็ดขาด เนื่องจากหากป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ซึ่งมีเลือดออกในอวัยวะภายในอยู่แล้ว ยาแอสไพรินจะทำให้มีเลือดออกมากขึ้น เพราะคุณสมบัติของแอสไพรินจะต้านการแข็งตัวของเกร็ดเลือด ทำให้เลือดหยุดยากและเสียชีวิตได้

“นอกจากนี้ ได้กำชับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ ประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว(SRRT) ลงพื้นที่เพื่อควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมง และรณรงค์ให้ประชาชนปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกด้วย 5 ป.ปราบยุงลาย (ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับปรุง และปฏิบัติจนเป็นนิสัย)ได้แก่ ปิดฝาภาชนะกักเก็บน้ำทุกชนิด เปลี่ยนน้ำทุกๆ 7วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะกักเก็บน้ำ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ให้เป็นที่เพาะพันธุ์ของยุง และปฏิบัติตนเองจนเป็นนิสัย ซึ่งจะเน้นความร่วมมือในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่องทั้งในระยะที่เป็นลูกน้ำ ตัวโม่ง และระยะที่เป็นตัวเต็มวัย หากประชาชนสามารถทำตามมาตรการดังกล่าวได้ ก็จะช่วยให้ลดจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกลงได้  และถ้ามีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333” นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าว