ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

 “โรคหืด” ในประเทศไทยพบอุบัติการณ์ของโรคในเด็กถึง 10–12% และในผู้ใหญ่ 6.9%...ถือเป็นโรคเรื้อรังที่มีผลกระทบต่อผู้ป่วยค่อนข้างสูง

จากการสำรวจพบว่าผู้ป่วยโรคหืดมากกว่าครึ่งไม่สามารถทำกิจกรรมได้เช่นคนปกติ ผู้ป่วยโรคหืด ร้อยละ 21.7 ยังต้องเข้ารับการรักษาด้วยอาการหอบรุนแรงที่ห้องฉุกเฉินอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ในระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา และร้อยละ 14.8 ต้องเข้านอนรับการรักษาในโรงพยาบาล

ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า จำนวนผู้ป่วยที่เข้านอนรับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากโรคหืดก็เพิ่มขึ้นทุกปีนับตั้งแต่ 66,679 คน ในปี 2538...เป็น 102,245 คนในปี 2545

และ...มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหืด 806 คนในปี 2540 เพิ่มเป็น 1,697 คนในปี 2546วัชรา

รองศาสตราจารย์นายแพทย์วัชรา บุญสวัสดิ์ หัวหน้าหน่วยงานระบบทางเดินหายใจ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวในวันหืดโลกครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมาว่า โรคหืดเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศทั่วโลก เพราะอุบัติการณ์ของโรคหืดเพิ่มขึ้นมากในปัจจุบัน และเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

ในแง่การรักษา ปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก องค์การอนามัยโลก (WHO) และ National Heart Lung and Blood Institute ของอเมริกาได้ร่วมกันวางแนวทางการรักษาโรคหืดขึ้นในปี 2536 ใช้ชื่อว่า “GINA guideline”

จากผลการสำรวจ ผู้ป่วยโรคหืดส่วนมากยังไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ทำให้ต้องทนทุกข์ทรมานกับสภาวการณ์เจ็บป่วย ต้องเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน ประมาณ 1,000,000 คนต่อปี และเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล 100,000 คนต่อปี ทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยไม่ดีเท่าที่ควร

 “วันหืดโลก” เกิดขึ้นมาเพื่อกระตุ้นเตือนให้สังคมได้ตระหนักว่า โรคหืดเป็นปัญหาสำคัญต่อสุขภาพ และต้องการเผยแพร่แนวทางใหม่ในการรักษาโรคหืด ซึ่งสามารถทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตได้เช่นคนปกติ

ในปีนี้...มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศูนย์กลางทางวิชาการและความรู้ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ...สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เทศบาลนครขอนแก่น เครือข่ายคลินิกโรคหืด ชมรมผู้ป่วยโรคหืดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมมือกับ สปสช. เขต 7 ขอนแก่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคหืด... “Admit near Zero” เข้ารับการรักษาน้อยที่สุด

พุ่งเป้าไปที่ให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลงสู่ชุมชนระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ คุณหมอวัชรา ย้ำว่า งานนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 13 แล้วยังคงวัตถุประสงค์เดิม เพื่อให้ผู้ป่วยโรคหืดได้รับการดูแลรักษาให้ได้มาตรฐานโลก เน้นให้ผู้ป่วย ...ครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแลตนเอง ควบคุมโรคหืดอย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้ ยังมีการกระจายความรู้ในการรักษาโรคหืดไปสู่เครือข่ายคลินิกโรคหืดทุกโรงพยาบาลอำเภอ และทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยให้ชุมชนและ อสม. เข้ามามีส่วนร่วมในการค้นหา คัดกรอง ช่วยเหลือเบื้องต้น และดูแลส่งต่อผู้ป่วย เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้อง

ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2549-2550 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น สนับสนุนให้หน่วยบริการในพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ จัดตั้งคลินิก “โรคหืดแบบง่ายๆ (Easy Asthma Clinic)” ขึ้นมา

ปัญหาสำคัญของผู้ป่วยโรคหืด พบว่าหลายคนอาจเริ่มที่อาการหายใจไม่ออก ตรวจพบว่าตัวเองเป็นโรคหืด...เข้ารับการรักษา แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น เรื้อรังนานถึงสอง...สามปี เพราะว่าไม่มีวินัย ต้องย้ำว่าการรักษาโรคหืดจะต้องทำอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และก็มีวินัยในการใช้ยา

 “คลินิกโรคหืดแบบง่าย” เป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคหืด ด้วยกระบวนการรักษาตามมาตรฐาน โดยยึดหลัก ดังนี้

1. มีแนวทางการรักษาโรคหืดแบบง่าย โดยประเมินการควบคุมโรคหืด เพื่อให้การรักษาตามแนวทางการรักษาโรคได้อย่างถูกต้อง

2. มีระบบการทำงานเป็นทีม ทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเพิ่มบทบาทของพยาบาลและเภสัชกรในการร่วมดูแลผู้ป่วยกับแพทย์พยาบาลจะทำหน้าที่ในการลงทะเบียนผู้ป่วย...ประเมินการควบคุมโรค แพทย์ทำหน้าที่สั่งการรักษา และเภสัชกรมีหน้าที่ให้ความรู้เรื่องโรคหืด แนวทางในการรักษา ความรู้เรื่องยาและวิธีการใช้ยาพ่นชนิดต่างๆ

3. มีการบันทึกข้อมูลการรักษาอย่างเป็นระบบ ด้วยระบบเทคโนโลยี สารสนเทศ เพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลออนไลน์ที่ http://eac2.dbregistry.com ของแต่ละโรงพยาบาล ทำให้ประเมินผล...ติดตามผู้ป่วยได้ อย่างมีประสิทธิภาพ

ลงลึกขั้นตอนการทำงาน คลินิกโรคหืดแบบง่ายเริ่มจากผู้ป่วยจะพบพยาบาลเพื่อลงทะเบียน ประเมินการควบคุมโรคหืด โดยใช้แบบสอบถามง่ายๆ และให้ผู้ป่วยเป่าพีคโฟว์ เครื่องมือวัดความเร็วสูงสุดขณะหายใจออกเพื่อวัดความเร็วสูงสุดที่ผู้ป่วยสามารถเป่าได้ เพื่อให้ทราบถึงสภาวะหลอดลมว่าเป็นอย่างไร

ขั้นต่อมา...ผู้ป่วยจะพบแพทย์เพื่อตรวจ ประเมินอาการ และการควบคุมโรค ขั้นสุดท้าย...ผู้ป่วยจะพบเภสัชกรเพื่อรับยา โดยเภสัชกรจะให้ความรู้เรื่องโรค การรักษาโรค การใช้ยาพ่น ตรวจสอบการใช้ยาตามแพทย์สั่งพิเชษฐ์

นพ.พิเชษฐ์ ลีละพันธ์เมธา ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 7 ขอนแก่น บอกว่า เราทำงานกันเป็นระบบ ขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน...ผู้ป่วยโรคหืด จะได้รับการดูแล รักษา ตามแนวปฏิบัติบริการสาธารณสุข เพื่อป้องกันการกำเริบของโรค พร้อมกันนี้ยังมีการประชุมหารือ ออกเยี่ยมหน่วยบริการพัฒนาบุคลากร จัดทำคู่มือหนูน้อยโรคหืด...เพื่อใช้เป็นสื่อในการให้ความรู้ผู้ ปกครองที่นำบุตรหลานมารักษาที่คลินิกโรคหืด

สำหรับในปี 2555 สปสช.เขต 7 ขอนแก่น...โรงพยาบาลศรีนครินทร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และหน่วยบริการทุกแห่ง มีแนวคิดขยายการบริการเพื่อให้ผู้ป่วยโรคหืดรับบริการได้ใกล้บ้าน ใกล้ใจมากขึ้น

รวมทั้งบริการเชิงรุก อาทิ การเยี่ยมติดตามที่บ้าน การค้นหาผู้ป่วยรายใหม่เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาที่ได้มาตรฐาน ทำให้ผู้ป่วยโรคหืดเข้ารับการรักษาได้สะดวก ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลา ไม่มีปัญหาในเรื่องการขาดยา ส่งผลให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยรวมทั้งครอบครัวดีขึ้น ดำรงชีวิตได้อย่างปกติ

 “เป้าหมายสำคัญ เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ต้องมานอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งเราคาดหวังว่าผู้ป่วยโรคหืดสามารถดูแลตนเองได้ที่บ้าน อัตราการนอนโรงพยาบาลจะเป็นศูนย์ในที่สุด”การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดอย่างเป็นระบบของ สปสช. เขต 7 ขอนแก่น ไม่สงวนลิขสิทธิ์ใดๆทั้งสิ้น...โดยเฉพาะการนำงบประมาณมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เห็นผลในทางปฏิบัติ

ถ้าเป็นไปได้...ใกล้บ้าน ใกล้ใจ โครงการเครือข่ายคลินิกโรคหืดอย่างง่าย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ควรจะขยายให้ครอบคลุม เข้าถึงผู้ป่วยทั่วประเทศ.

 

ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 10 พฤษภาคม 2555