ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปี หลายองค์กรภาคแรงงาน ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน มักจะใช้วันนี้ในการจัดงานรำลึกแรงงานที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ที่สังคมไทยไม่เคยลืม โดยเฉพาะกรณีเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ จ.นครปฐม ซึ่งวันเวลาผ่านมาครบรอบ 19 ปี จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีแรงงานเสียชีวิตและบาดเจ็บกว่า 500 ราย สะท้อนถึงการละเลยในเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน และเป็นบทเรียนแห่งความสูญเสียครั้งใหญ่ของสังคมไทยมาจนถึงวันนี้

ทว่าปัญหาเรื่องความปลอดภัยจากการทำงานถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นกระแสอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ถังบรรจุสารโทลูอีนของบริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางสังเคราะห์ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยองระเบิด ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 11 ศพ บาดเจ็บอีก 129 ราย

และกรณีพนักงานบริษัท คิว แอดเวอร์ไทซิ่ง 5 คน พลัดตกลงจากนั่งร้าน ชั้น 68 ของอาคารใบหยก สกายทาวเวอร์ 2 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ขณะขึ้นไปติดป้ายโฆษณาสินค้า ทำให้เสียชีวิตทันที 3 คน และบาดเจ็บอีก 2 คน ตลอดจนเหตุการณ์แก๊สระเบิดร้านสเต๊ก บริเวณซอยรางน้ำ โชคดีที่ไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ก็มีผู้บาดเจ็บทั้งที่เป็นลูกค้าและคนงานในร้าน ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา

จึงมีคำถามว่า พ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 เป็นเพียงกระดาษที่ไม่สามารถบังคับทั้งนายจ้างให้เกรงกลัวหรือตระหนักต่อความปลอดภัยของลูกจ้าง ทั้งที่กฎหมายฉบับนี้ระบุชัดเจนว่าทั้งนายจ้างและลูกจ้างต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของความปลอดภัยในการทำงาน

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) กล่าวว่า ได้ตั้งทีมผู้ตรวจการแรงงานประกอบด้วยปลัดและอธิบดีทั้ง 5 หน่วยงานของกระทรวงแรงงาน รวมถึงมีผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เพื่อทำหน้าที่ออกไปตรวจตามสถานประกอบการต่างๆ ทุกเดือนอยู่แล้ว โดยทำงานเชิงบูรณาการกับกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม ออกไปสุ่มตรวจตามสถานประกอบการต่างๆ ร่วมกับทีมผู้ตรวจแรงงานโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าทั้งเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน สุขภาพ สารเสพติด สารเคมีและสภาพแวดล้อมในการทำงาน มาตรฐานเครื่องจักรในโรงงาน

ด้าน นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากรายงานของกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม (สปส.)พบว่า สถิติการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 1.79 ส่วนสถานประกอบการที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามประกาศ หรือกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานความปลอดภัย อยู่ที่ร้อยละ 1.72 ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงแรงงานจะต้องรณรงค์ และเข้าไปปรับปรุงสถานประกอบการกลุ่มนี้ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย จะขอความร่วมมือจากผู้ใช้แรงงานในการแจ้งให้รับทราบ

ขณะที่ นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายดูแลความปลอดภัยในการทำงานมีความครอบคลุมและได้มาตรฐาน เช่น พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 เน้นการบริหารจัดการของนายจ้าง และกำหนดหน้าที่ของลูกจ้าง โดยระบุว่า นายจ้างต้องจัดหาอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานให้แก่คนงาน และมีหน้าที่กำกับดูแลให้แรงงานสวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าวในการปฏิบัติงาน หากพบว่าแรงงานไม่ปฏิบัติ นายจ้างมีสิทธิระงับการปฏิบัติงาน และไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง ขณะเดียวกันกฎหมายยังกำหนดให้คนงานต้องสวมใส่อุปกรณ์ความปลอดภัยด้วย ทั้งนี้ หากสถานประกอบการละเลยดูแลให้แรงงานมีความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน จะมีโทษจำคุก 3 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กสร. และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะต้องดูแลระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัยของนายจ้างและลูกจ้างให้เข้มงวดมากขึ้นโดยเฉพาะโรงงานที่เกี่ยวกับสารเคมีและงานเสี่ยงอันตราย จะให้เจ้าหน้าที่กสร.ออกตรวจให้เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้นายจ้างและลูกจ้างบางส่วนยังละเลยการปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้เกิดอุบัติเหตุในการทำงาน

ส่วน นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลดูแลการใช้กฎหมายด้านความปลอดภัยในการทำงานอย่างจริงจัง และปฏิบัติงานแบบเชิงรุก ไม่ใช่เชิงรับ เช่น การให้เจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบสถานประกอบการต่างๆ ว่าได้มาตรฐานหรือไม่ หรือมีสถานประกอบการใดเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยของแรงงานโดยให้สหภาพแรงงาน พนักงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้องช่วยตรวจสอบด้วย รวมทั้งจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงานด้วย

ด้าน นางรัศมี ศุภเอม ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ เมื่อ 19 ปีก่อน กล่าวว่า อยากให้ผู้ประกอบการใส่ใจในความปลอดภัยของชีวิตผู้ใช้แรงงาน มากกว่าห่วงทรัพย์สิน หากเกิดเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นควรเร่งอพยพคนงานโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นจะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่ตนประสบมา ซึ่งสร้างความสูญเสียให้ตนอย่างมากแม้จะได้รับค่าชดเชยจากทั้งโรงงานและสำนักงานประกันสังคมรวมแล้วกว่า 3 แสนบาท ก็ยังไม่คุ้มค่ากับที่ตนต้องพิการ และสูญเสียโอกาสมากมาย

อยากฝากถึงเพื่อนคนงานอื่นๆ ให้ใส่ใจในความปลอดภัยของตนเอง ผู้ประกอบการเองก็ควรเข้มงวดในการสวมใส่อุปกรณ์นิรภัยต่างๆ และอยากให้ภาครัฐรณรงค์เรื่องความปลอดภัยในการทำงานให้มากๆ เพื่อให้ทุกคนใส่ใจในความปลอดภัยของตน เพราะปัจจุบันคนงานส่วนใหญ่ไม่สนใจเรื่องนี้มากนัก นางรัศมี กล่าว

นางสมบุญ สีคำดอกแค สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้โรงงานแต่ละแห่งเร่งกำลังการผลิต ส่งผลต่อแรงงานต้องทำงานหนักเพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงเกิดอันตรายต่อสุขภาพ และสารพิษ โดยขาดการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจัง และไม่มีเครือข่ายอาชีวอนามัยเพื่อแรงงาน จึงอยากเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานขึ้น เพื่อให้มีคณะทำงาน นำไปสู่การตั้งศูนย์ร้องเรียน และบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับความปลอดภัย เช่น การยกเลิกการใช้แร่ใยหินตามมติครม.

ส่วนปัญหาที่ต้องจับตามองต่อไปนั้น นพ.อดุลย์ บัณฑุกุล สมาพันธ์อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบกว่า 100 ประเภท และยังมีแร่ใยหินที่จะได้รับจากการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างอีกมาก ซึ่งสมาพันธ์อาชีวอนามัยฯ จะประสานความร่วมมือแพทย์ พยาบาล ทุกระดับ และพยาธิแพทย์ เพื่อเก็บข้อมูล ค้นหาผู้ป่วยจากแร่ใยหิน โดยการซักประวัติผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดว่ามีประวัติการทำงานอะไร ให้นำไปสู่การรวบรวมข้อเท็จจริง เป็นหลักฐานทางการแพทย์ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายที่ชัดเจนต่อไป

นายพุทธิ เนติประวัติ สหพันธ์แรงงานก่อสร้างและคนทำไม้แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ ครม. มีมติเห็นชอบ ห้ามนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์ แต่ปัจจุบันมีผู้ผลิตกระเบื้องรายใหญ่เพียง 2 รายเท่านั้นที่ประกาศเลิกใช้แร่ใยหิน ซึ่งกลุ่มคนงานก่อสร้างถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยจากแร่ใยหิน แต่ในประเทศไทยการพิสูจน์โรคว่าเกิดจากการทำงานทำได้ยาก เนื่องจากไทยมีแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์น้อยมาก หากเจ็บป่วยแพทย์ก็จะลงความเห็นเพียงว่าเป็นมะเร็งปอดโดยไม่มีการพิสูจน์ต่อ ทำให้แรงงานเหล่านี้ต้องเจ็บป่วยโดยที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องจริงจังในการแก้ปัญหานี้

นายจ้างและลูกจ้างบางส่วนยังละเลยการปฏิบัติตามกฎหมายทำให้เกิดอุบัติเหตุในการทำงาน

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 14 พฤษภาคม 2555