ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 15 พฤษภาคม 2555

มะเร็งปากมดลูกภัยเงียบที่ไม่เลือกความรวยจน 

“พ่ออี๊ด”...สุประวัติ ปัทมสูต ย้อนความรู้สึกในฐานะพ่อผู้สูญเสียลูกสาวกุ้งนาง...ช่วงแรกที่เธอเป็น เธอมีกำลังใจที่จะต่อสู้อย่างมีขั้นตอน ด้วยการช่วยเหลือตัวเองอย่างเต็มที่ และมีไม่กี่คนเท่านั้นที่รู้ตั้งแต่แรกว่ากุ้งนางเป็นมะเร็งปากมดลูก

“การตั้งสติมั่นคิดว่าจะปราบมะเร็งอยู่ก็ทำถูกต้อง เข้ารับการรักษาพยาบาลกระทั่งหาย มองว่า...ธรรมะที่เกิดขึ้นอะไรก็ตามที่เราเผชิญกับมัน

ไม่ว่าจะเป็นโรคร้าย...เรื่องที่เลวร้ายทั้งปวง ถ้ามีสติ มีจิตใจที่มั่นคง แน่วแน่ ดำเนินชีวิตตามครรลองอยู่กับมันได้อย่างมีความสุข...จะผ่านไปได้”

แม้จะรู้ว่าเรากำลังจะเดินไปสู่จุดสุดท้ายอย่างไร ก็เดินต่อไปได้อย่างมีความสุข “พ่ออี๊ด”...สุประวัติ อ่านหนังสือแจกในงานศพชื่อว่า “โพชฌงค์” ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ธรรมประยุติโต (ป.อ.) บอกว่า “กายกับใจเป็นเรื่องสำคัญ ถ้ากายสบายแล้วใจก็จะสบาย ในทางกลับกันทำให้สบายก็คือทำใจให้มีสติ กายก็จะสบาย” เช่นนี้เองที่ทำให้กุ้งนางสู้กับมะเร็งร้ายในช่วงแรกได้อย่างประสบความสำเร็จ

ในความรู้สึกของคุณพ่อที่ได้เห็นลูกที่สู้โรคร้ายมาโดยไม่บอกให้รู้ มีสองอย่าง ความรู้สึกแรก...ในความเป็นพ่อก็น้อยใจที่ลูกไม่บอก แล้วก็หายไปโดยเร็วเพราะรู้นิสัยลูกจะลำบากยังไงก็จะไม่บอก ความรู้สึกที่สอง...ก็คือยินดี ลูกเดินทางได้ถูกต้อง สู้โรคร้ายด้วยการมีสติ มุมานะพยายามที่จะรักษามันจนหาย

 “แต่มันไม่ได้จบเพียงแค่นั้น มีสติก็จริงแต่หลังจากนั้นก็มีมะเร็งอีกชุดหนึ่งไปเกิดขึ้นในจุดที่ถูกอวัยวะอย่างอื่นบัง เป็นที่กระดูกเชิงกราน...” สุประวัติ ผู้กำกับชื่อดัง ว่า

คีโมที่ใช้ก็เข้าไปไม่ถึง กลายเป็นเรื่องใหญ่...ช่วงแรกกุ้งนางก็ไม่บอกใคร พยายามรักษาตัวเองด้วยสติอีกครั้ง ด้วยความที่คิดว่าเธอเคยชนะแล้วเอามันอยู่ ในที่สุดจิตใจที่พยายามแข็งแรงยิ้มสู้บอกคนไปเยี่ยมว่าป่วยแบบธรรมดา สามารถเอาชนะได้ แล้วก็จะหาย เพียงแต่ว่าจะยากกว่าครั้งเก่า

แล้วเธอก็คิดว่าคงจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ คนที่แย่ที่สุดกลายเป็นญาติที่กุ้งนางไม่ได้บอกกล่าว เพราะคุณหมอบอกญาติด้วยความจำเป็น เรารู้สึกเจ็บปวด เรามองลูกว่าเธอเข้มแข็งเหลือเกิน แล้วมองกลับไปที่กุ้งนางที่มองว่าพ่อแม่พี่ป้าน้าอาพี่น้องอย่าคิดอะไรมากเลย...เดี๋ยวมันก็หาย คิดดูใจเราจะเป็นอย่างไร

ช่วงท้ายจริงๆ หมอบอกความจริง ก็คงจะรู้สึกว่าสู้ไม่ไหวแล้ว เธอนิ่ง...แล้วก็พยายามบอกรักคนโน้นคนนี้ด้วยเสียงที่ไม่มี ที่น่าเจ็บปวดเธอพยายามทำให้เห็นด้วยว่าอย่างไรแล้วเธอยังสู้ได้นะ ถ้าพ่อไปถึง...ถามลูกว่าหิวข้าวไหม จะกินอะไร มีไอติมอยู่แท่งนึงที่เธอชอบมากเธอก็บอกว่าให้พ่อกินเถอะ เธอกินไม่ไหวแล้ว

ในช่วงเวลานี้ความพอดีเป็นสิ่งสำคัญ หมอบอกว่าเหลืออีก 7 วัน...การเตรียมตัว ฝึกใจให้สบายทำกายให้สบาย ฟังธรรมะให้ใจมีความสุข คุณหมอบอกว่าแม้ว่ากุ้งนางจะพูดไม่ได้แต่หูก็ยังได้ยิน คนเยี่ยมบางคนที่ไม่เข้าใจพูดหวังดีแต่เป็นเรื่องไม่ดี แสดง...บอกว่าไม่ต้องห่วงเรื่องอะไรทั้งนั้นเดี๋ยวจะดูแล... ทำให้จิตใจเธอไม่ดี

 “ผู้เยี่ยมต้องระวัง จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียดในอารมณ์ แล้วความสว่างที่มีอยู่ พร้อมที่ทำโดยใจที่สบายแล้วจะถูกตัดรอน สิ่งที่ควรทำเมื่อถึงเวลาที่ต้องต่างคนต่างจากกันไป ควรแสดงให้เห็นว่า...เธอไม่ต้องห่วง พวกเรายังสามารถดำเนินการในเรื่องต่างๆแทนเขาได้โดยไม่ได้บอกหรือพูดตรงๆ แต่ต้องทำด้วยวิธีการที่ชาญฉลาด”

ถ้าเราจะข้ามกลับไปคุยกันเรื่องวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ในมุมมองพ่ออี๊ดคิดว่าการดูแลเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สุด ทำนองเดียวกันสำหรับคนป่วย ถ้ารู้ว่าตัวเองป่วยก็ต้องดูแลตัวเองให้มากขึ้นไปอีกเป็นสิบเท่า ซึ่งโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทั้งกำลังเงินและกำลังใจ

 “มะเร็งปากมดลูก” ไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์ แต่เกือบทั้งหมดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพ็ปพิลโลมาไวรัส หรือเชื้อ HPV ชนิดก่อมะเร็งที่บริเวณปากมดลูก การป้องกันทำได้ 2 วิธี ฉีดวัคซีน กับ ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก สม่ำเสมอ เพื่อรักษาแต่เนิ่นๆ ปัจจุบันชุดตรวจก็ไม่แพงราคาแค่ร้อยกว่าบาท

นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เจ้าของโครงการ “ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้เด็กหญิง ป.6” บอกว่า เมืองไทยมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่เพิ่มปีละประมาณ 10,000 ราย ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัญหานี้ลดลงอย่างชัดเจน แต่ในประเทศที่กำลังพัฒนา ยังพบโรคนี้เป็นสาเหตุการป่วยและการเสียชีวิตที่สำคัญของผู้หญิง

องค์การอนามัยโลกระบุว่า ทั่วโลกมีผู้หญิงเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกปีละ 275,000 ราย สาเหตุของมะเร็งชนิดนี้ ร้อยละ 80 เกิดมาจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่าเอชพีวี ที่ติดจากการมีเพศสัมพันธ์

คุณหมอสุรวิทย์ บอกว่า ที่ผ่านมาอัตราการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกครอบคลุมผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป...มีอยู่ราว 10 ล้านคน คัดกรองได้เพียงร้อยละ 70 เท่านั้น ทำให้การควบคุมป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้ผลดีไม่มากนัก ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากประเพณี ความเชื่อ ความเขินอายไม่กล้าพบแพทย์

แนวคิดนำวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี ฉีดป้องกันในเด็กหญิงไทยอายุ 12 ปีที่กำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (ป.6) และยังไม่มีเพศสัมพันธ์ ทั่วประเทศมีปีละประมาณ 400,000 คน...ฉีดคนละ 3 เข็ม จะป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้ตลอดชีวิต ซึ่งจะลดการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกรายใหม่

เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณ 600 ล้านบาท เฉลี่ยรายละ 1,500 บาท และนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเร็วๆนี้ เพื่อกำหนดเป็นนโยบายใหม่ของชาติ

หากป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก จะต้องใช้เวลารักษาติดต่อกัน 4-5 ปี ค่ารักษาประมาณ 1 ล้านบาท หากมีผู้ป่วย 10,000 ราย จะต้องใช้งบรักษามากถึง 10,000 ล้านบาท และบางรายเป็นระยะสุดท้ายอาจไม่ได้ผล

ถ้าฉีดวัคซีนจะถูกกว่า 17 เท่าตัว ประเทศที่พัฒนาแล้ว อังกฤษ อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปานามา รวมถึงมาเลเซีย ได้บรรจุการฉีดวัคซีนเป็นนโยบายวัคซีนแห่งชาติ...ฉีดให้เด็กหญิงอายุ 12-13 ปีทุกคน พบว่าได้ผลดี ทำให้โรคลดลงอย่างชัดเจน

ชลพรรษา นารูลา ผู้ประกาศข่าวภาคเที่ยง ช่อง 3 ให้มุมมองในฐานะคุณแม่ที่มีลูกสาว บอกว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นความเสี่ยงที่น่ากลัว เคยถามหมอในช่วงแรกที่เอาวัคซีนมาใช้ ราคายังสูงหลักหมื่น...ผ่านมาถึงวันนี้ราคาแค่หลักพันบาท

 “เอ่ยคำว่ามะเร็ง ใกล้ตัวมาก คนรู้จักใกล้ตัวเป็นกันเยอะ มะเร็งตับ มะเร็งกระดูก มะเร็งเต้านม บางคนดูแลตัวเองดี กินดีใช้ชีวิตดีก็ยังเป็น กลัวมากที่สุดคือมะเร็งกระดูก ทรมานมาก อยากจะบอกว่าโรคภัยไข้เจ็บป้องกันได้ แต่ถึงเวลาจะเป็นหรือเปล่ามันเลือกไม่ได้ ที่ดีที่สุด...ใช้ชีวิตให้มีความสุข อย่าประมาท”

ทางออกโครงการฉีดวัคซีนในภาพใหญ่ ยังมีปัญหาในเรื่องราคาที่ยังสูงเกินไป วิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า การศึกษาต้นทุนภายใต้โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) พบว่า ไม่ควรเกินเข็มละ 200 บาท เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องนำมาเปรียบเทียบพิจารณาให้รอบด้าน

แนวโน้มความเป็นไปได้จะเกิดขึ้นภายในปีนี้หรือไม่ คงต้องลุ้นกันต่อไปอีกสักระยะ...ประเด็นราคาวัคซีน ยังเป็นเรื่องของกลไกบริษัทยา อาจจะเรียกว่ากึ่งๆผูกขาดก็ว่าได้ เพราะต่างประเทศที่มีการซื้อวัคซีนป้องกัน HPV แจกจ่ายให้กับประเทศยากจน สนนราคาอยู่ที่ชุดละ 150 บาท มีทั้งหมด 3 เข็ม หรือแค่เข็มละ 50 บาทเท่านั้น

ตัวเลขนี้ สะท้อนต้นทุนจริงของวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่ว่าแพงแสนแพงได้มากน้อยแค่ไหน ผู้ที่จะตอบได้ดีที่สุดน่าจะเป็นบริษัทยา