ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ชาวบ้านน่านกินหมูดิบดับ 1 สาหัส 5 สาธารณสุขจังหวัดยกทีมไปสอบสวนโรคพบต้นเหตุมาจากพยาธิเม็ดสาคู

วันนี้(15พ.ค.) นายแพทย์พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน นำทีมสอบสวนโรคสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคเข้าพื้นที่หลังชาวบ้านจากบ้านนาคำ หมู่ที่ 1 ตำบลศิลาเพชร อำเภอปัว จังหวัดน่าน จำนวน 19 คน ถูกหามส่งเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว อำเภอปัว ด้วยอาการอ่อนเพลีย ท้องร่วง อาเจียน ไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ ตาบวมและเสียชีวิต 1 ราย

นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ นพ.สสจ.น่าน

จากการสอบสวนโรคทราบว่า ชาวบ้านในบ้านนาคำ จำนวน 91 ราย ได้รับประทานอาหารดิบที่ปรุงด้วยเนื้อหมูในงานสู่ขวัญญาติพี่น้องหลังเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 18 – 21 เมษายน ที่ผ่านมา โดยรวมกันซื้อหมูเป็นของนายสวัสดิ์ สมเงิน บ้านเลขที่ 111 หมู่ที่ 9 บ้านป่าตองพัฒนา ตำบลศิลาเพชร จากนั้นนำหมูมาชำแหละในหมู่บ้านที่บ้านของนายปิน ขันติวงค์ อายุ 55 บ้านเลขที่ 104 บ้านนาคำ แล้วแบ่งกันเป็น 12 ส่วน กระจายไปตามบ้านแต่ละหลังในหมู่บ้าน

จากนั้นจำนวน 19 คน เริ่มมีอาการป่วย จนทยอยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลด้วยอาการดังกล่าว และแพทย์ส่งต่อเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน ซึ่งในช่วงแรกแพทย์ยังอยู่ระหว่างการวินิจฉัยโรค จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม นายดำเนิน คำอ้าย อายุ 60 ปี บ้านเลขที่ 126 บ้านนาคำ หมู่ที่ 1 ตำบลศิลาเพชร อ.ปัว เสียชีวิต เนื่องจากรับประทานมากกว่าคนอื่นเพราะเป็นมือปรุงลาบดิบ และกินเนื้อหมูติดต่อกัน3วัน

แพทย์ได้ชิ้นเนื้อภายในของนายดำเนิน ผู้ตาย นำไปตรวจสอบจึงพบว่าสาเหตุการตาย เกิดจากโรคพยาธิเม็ดสาคูในหมู หรือทางการแพทย์เรียกว่า “ทริคิโนซิส” (Triehinosis) ที่เข้าไปตามระบบทางเดินอาหารและเข้าสู่ระบบเลือด ชอนไชเข้าสู่หัวใจ ประกอบกับนายดำเนิน เป็นผู้สูงอายุ ทำให้ร่างกายไม่สามารถต้านทานการแตกตัวของไข่พยาธิได้ จนทำให้เสียชีวิต ขณะนี้ยังมีชาวบ้านที่นอนรักษาตัวเพื่อรอดูอาการอีก 5 คน เป็นหญิง 1 ราย และมีอาการสาหัส 1 ราย คือนายสนั่น ฑีฆาวงศ์ อายุ 72 ปี ที่ยังต้องเข้ารักษาตัวในห้องไอซียูและอยู่ในการดูแลของทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด

นายแพทย์พิศิษฐ์ กล่าวว่า ขณะนี้เข้าไปสอบสวนโรคในพื้นที่แล้ว พร้อมทีมเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ไปฉีดยากำจัดพยาธิและวัคซีนป้องกันให้แก่หมูในหมู่บ้าน และได้ให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ตลอดจนชาวบ้านทั่วไปให้ระมัดระวัง ในการรับประทานอาหารโดยเฉพาะให้งดรับประทานของสุก ๆ ดิบ เพราะจะมีพยาธิและมีเชื้อโรคหลายชนิด ซึ่งจังหวัดน่านมีตัวอย่างแล้วหลายครั้ง ในกรณีนี้ที่ทราบช้าเนื่องจาก อาการจะคล้ายกับการกินเห็ด หรือแพ้อาหารอย่างอื่น และสอบถามชาวบ้านก็ไม่ได้ให้ข้อมูลตรงว่ารับประทานหมูดิบมาจึงต้องเฝ้าดูอาการและรอผลการพิสูจน์โรค โดยโรคนี้มีระยะฟักตัว 1 – 3 เดือน

สำหรับการระบาดของพยาธิเม็ดสาคูในหมู ในพื้นที่จังหวัดน่านเคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2525 หรือเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งครั้งนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอนาน้อย และมีผู้เสียชีวิตจากพยาธิดังกล่าวถึง 30 ราย โดยพยาธิชนิดนี้ มีการแตกกระจายตัวในร่างกาย และจะเข้าสู่กล้ามเนื้อ อวัยวะภายในทั้ง หัวใจ ปอด และสมอง มีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

ที่มา: http://www.posttoday.com