ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สภาเภสัชฯ ระดมภาคี ถกปัญหาซูโดฯ เสนอแนวทางแก้ เน้นจัดการระบบกระจายยา พร้อมเดินหน้าหาทีมกฎหมาย ช่วยเภสัชกรที่ตกอยู่ในกระบวนการลักลอบซูโดฯ แบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ภญ.รศ.ธิดา นิงสานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สภาเภสัชกรรม ผนึก 8 องค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมจากเครือข่าย สมาคมชมรมวิชาชีพเภสัชกรรม อาทิ สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) สมาคมเภสัชกรการตลาด (ประเทศไทย) สมาคมเภสัชกรการอุตสาหกรรม (ประเทศไทย) ฯลฯ ได้ร่วมกันจัดสัมมนาเพื่อถกปัญหาและร่วมหาแนวทางมาตรการพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรม ฝ่าวิกฤตซูโดอีเฟดรีน ณ ห้องประชุมคอนเวนชั่น ฮอลล์ รพ.เทพธารินทร์ โดยมีการทบทวนประเด็นปัญหาที่มีการรั่วไหลของการนำยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดฯ ที่สามารถนำไปสกัดเป็นสารตั้งต้นของยาเสพติดได้ โดยได้ร่วมกันวิเคราะห์หาจุดอ่อนทั้งระบบ ตั้งแต่กระบวนการผลิต การจำหน่าย การกระจาย และการใช้ยาดังกล่าว และพิจารณาว่า วิชาชีพเภสัชกรรมจะร่วมกันสร้างมาตรการเสริม เพื่อช่วยอุดช่องว่างของระบบ เพื่อป้องกันปัญหาการรั่วไหลของยาดังกล่าว รวมถึงยากลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ไม่ให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิดที่อาจก่อให้เกิดปัญหากับสังคมในอนาคต

ภญ.รศ.ธิดา กล่าวว่า สำหรับมติที่ประชุมนั้นมีการสรุปเป็นแนวทาง สำคัญหลายด้าน ได้แก่

1.มาตรการแก้ไขในระบบการผลิต การจำหน่าย การกระจายยาของผู้ผลิต และผู้จำหน่ายโดยเน้นการสร้างความเข้มแข็งของกลไกการรายงานข้อมูลการจำหน่ายยาไปยังสถานพยาบาลต่างๆ ให้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำหรับยากลุ่มเสี่ยง เนื่องจากสามารถตรวจสอบย้อนกลับที่มาที่ไปของยาได้ ขณะเดียวกัน อย.ควรสื่อสารข้อมูลการจำหน่ายยาที่มีปัญหาดังกล่าวให้กับเภสัชกร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ในจังหวัดต่างๆ ทุกเดือน หรือรายไตรมาส เพื่อจังหวัดจะสามารถใช้ข้อมูลในการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาได้อย่างทันเวลา รวมทั้งขอความร่วมมือบริษัทจัดส่งสำเนาสรุปการจำหน่ายยาส่งให้โรงพยาบาลทุกไตรมาส สำหรับวัตถุออกฤทธิ์ฯ ยาเสพติดให้โทษฯ และยากลุ่มเสี่ยงที่จะนำไปใช้ในทางที่ผิด เพื่อช่วยให้ผู้บริหารโรงพยาบาลสามารถตรวจสอบการจัดซื้อของโรงพยาบาลได้ และป้องกันปัญหาการส่งยามาโดยที่โรงพยาบาลไม่ได้สั่งซื้อ หรือการใช้ชื่อโรงพยาบาลสั่งยาแต่นำมาใช้ในกิจการส่วนตัว

2.กระบวนการสั่งซื้อของโรงพยาบาล โดยการสั่งซื้อยาทุกรายการจะต้องมีการจัดส่งใบสั่งซื้อไปพร้อม ยกเว้นกรณีที่มีความจำเป็นต้องการใช้ยาเร่งด่วน ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นบ่อย และต้องมีการจัดแบ่งแยกหน้าที่เภสัชกรที่ทำหน้าที่สั่งซื้อยา และเภสัชกรที่ทำหน้าที่ควบคุมและเบิกจ่ายยาให้ชัดเจน ไม่ควรเป็นบุคคลเดียวกัน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสั่งซื้อยาในนามโรงพยาบาล ให้กับบุคคลอื่น โดยไม่ใช่เพื่อกิจการของโรงพยาบาล

3.กระบวนการจ่าย หรือขายยาของเภสัชกร จะต้องมั่นใจว่า เป็นการจ่ายให้กับผู้ประกอบวิชาชีพหรือร้านยาอื่นๆ โดยไม่จำหน่ายให้ประชาชนโดยทั่วไป และต้องมีการบันทึกการจ่ายที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่ง อย.ควรให้มีการแยกร้านยาประเภทขายส่ง ออกจากร้านยาทั่วไป เพื่อสามารถติดตามควบคุมกำกับยาที่จำหน่ายได้ทั้งวงจร

“อย่างไรก็ตาม สำหรับเภสัชกรโรงพยาบาลบางแห่ง ที่ตกเป็นข่าวว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการรั่วไหล ของยาดังกล่าวนั้น ส่วนใหญ่เป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ได้มีส่วนร่วม หรือเจตนาโดยตรงที่จะนำยาออกไปเพื่อร่วมในกระบวนการนำไปสกัดสารตั้งต้นของยาเสพติดตามที่เป็นข่าว ซึ่งทางสภาเภสัชกรรม ได้ช่วยจัดหาที่ปรึกษาด้านกฎหมาย เพื่อให้คำปรึกษากับสมาชิกที่ถูกพาดพิงกล่าวหา แต่ไม่มีเจตนาที่จะกระทำผิดในเรื่องยาเสพติดดังที่เป็นข่าว” ภญ.รศ.ธิดา กล่าว

ที่มา : www.manager.co.th