ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

แม้ว่าปัญหาสำคัญของมาบตาพุดด้านมลพิษ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มักจะได้รับการกล่าวถึงแต่มักไม่ค่อยมีใครพูดถึงบ่อเกิดของปัญหาเหล่านี้นั่นคือความไม่ยุติธรรมทางสังคมในมาบตาพุด

ในสังคมทั่วไปที่มีทรัพยากรจำกัดและมีโครงสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำ คนที่ต้องเสียเปรียบมักจะเป็นคนที่อ่อนแอกว่าในกรณีมาบตาพุดโดยเฉพาะด้านการใช้น้ำสาธารณะที่ควรต้องแบ่งปันสำหรับทุกกิจกรรม ถูกดึงจากภาคเกษตรกรรมและชุมชนไปให้ภาคอุตสาหกรรมตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความไม่ยุติธรรมที่ชาวบ้านต้องเผชิญ

นอกจากนี้ สาเหตุของความขัดแย้งสำหรับการใช้ที่ดินและทรัพยากรไม่ได้มีเพียงการช่วงชิงทรัพยากรกับโรงงานและปัญหามลพิษเท่านั้นแต่มาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรแฝง ซึ่งก่อปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัยที่แออัดและปัญหาขยะล้นเมือง

แม้ในมาบตาพุดจะมีจำนวนประชากรตามทะเบียนบ้านเพียง 67,000 คน แต่ประชากรที่อยู่อาศัยจริงอาจจะสูงถึง 300,000 คน ดังนั้น จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโรงพยาบาล โรงเรียน รวมถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานในท้องถิ่นได้รับการจัดสรรงบประมาณเฉพาะ เพื่อดูแลประชาชนตามทะเบียนบ้านเท่านั้น

มาบตาพุดและจังหวัดระยองที่ดูเหมือนว่าจะสร้างรายได้มากที่สุดให้ประเทศไทยถึงกว่า 800,000 ล้านบาทต่อปีและมีผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวสูงสุดในประเทศกว่า 1 ล้านบาทต่อคนแต่ทราบกันหรือไม่ว่า มาบตาพุดยังมีห้องเรียนไม่เพียงพอสำหรับเด็กเพราะได้รับงบประมาณด้านการศึกษาสาธารณสุข และด้านสังคมอื่นๆ คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัดเท่านั้น

นอกจากนี้ จังหวัดระยองมีรายได้จากภาษีร้อยละ 19 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดโดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82 เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีน้ำมันแต่ภาษีจากเงินได้นิติบุคคลเป็นเพียงร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมเท่านั้น เนื่องจากร้อยละ 80 ของบริษัทที่มีการลงทุนในจังหวัดระยองจดทะเบียนนิติบุคคลในกรุงเทพฯ จึงทำให้เงินภาษีนิติบุคคลส่วนใหญ่ตกอยู่ที่กรุงเทพฯ ด้วยในขณะที่ระยองต้องรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ภาษีที่เก็บได้ถูกส่งเข้าส่วนกลางและได้รับการจัดสรรงบประมาณมาเพียงประมาณร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดเท่านั้น

ในมาบตาพุดขณะนี้จึงมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้นระหว่างคนสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งไม่ต้องการให้มีการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมเพราะรู้สึกว่าค่าใช้จ่ายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพสูงกว่าผลประโยชน์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจและอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องพึ่งพาโครงการอุตสาหกรรมเพื่อสร้างงานและสร้างรายได้ในท้องถิ่นมากกว่าความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ปัญหาสังคมต่างๆ ในจังหวัดระยองมีสถิติสูงกว่าที่อื่นในประเทศไทย จากการศึกษาสถานการณ์ปัญหาเยาวชนในจังหวัดระยองในปี พ.ศ. 2548 ถึง 2549 โดยสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ พบว่าในหนึ่งปีค่าเฉลี่ยทั่วประเทศสำหรับการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นคือ 902 คนต่อ 100,000 คนแต่ในจังหวัดระยองเป็นอัตรา 4,743 คน ต่อแสนคนกรณียาเสพติด ค่าเฉลี่ยของประเทศ คือ 170 คนต่อ 100,000 คนในจังหวัดระยองสูงถึง 318 คน ต่อ 100,000 คนกรณีโรคเอดส์ ค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ 3.3 คนต่อ 100,000 คนแต่ในจังหวัดระยองมีจำนวน 15.8 คน ต่อ 100,000 คน สุดท้ายค่าเฉลี่ยของอัตราการฆ่าตัวตายและพยายามฆ่าตัวตายของประเทศอยู่ที่ 34 คนต่อ 100,000 คนในจังหวัดระยองอัตรานี้อยู่ที่ 299 คน ต่อ 100,000 คน

นอกจากนี้ ในการศึกษาความมั่นคงของมนุษย์ในปัจจุบันและอนาคตของ UNDP 2552 ยังแสดงการจัดลำดับ 76 จังหวัดทั่วประเทศโดยจังหวัดระยองแม้จะมีอันดับ 1 ด้านผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อคนแต่ถูกจัดอยู่เพียงอันดับที่ 18 ด้านรายได้อันดับที่ 51 ด้านครอบครัวและชุมชนและลำดับที่ 73 ด้านการมีส่วนร่วมปัญหาในมาบตาพุดดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เพียงปัญหามลพิษจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเท่านั้นแต่เป็นเพราะไม่มีการวางแผนรองรับที่รอบด้านขาดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมอย่างเพียงพอที่จะมารองรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจนั้นค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้านสังคมและสุขภาพที่เกิดจากมลพิษไม่ปรากฏเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการแต่กลับเป็นค่าใช้จ่ายที่สังคมแบกรับหากปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินไปเรื่อยๆ การขัดแย้งก็จะรุนแรงมากขึ้น

แต่ถ้าเราจะยังคงพัฒนาอุตสาหกรรมต่อไป ควรเน้นการรับฟังปัญหาและความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เน้นการให้องค์กรภาคประชาชนเข้าถึงข้อมูลและมีบทบาทในการพิจารณาเสนอแนวทางแก้ไขทุกระดับในการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนอุตสาหกรรมการผลิตที่จะสำเร็จจะต้องผสมกลมกลืนเคารพและสนับสนุนสังคมในพื้นที่เพราะในที่สุดแล้วสังคมก็รากฐานของอุตสาหกรรมนั่นเอง

หมายเหตุ ตัดตอนจากวีดิทัศน์เรื่อง มาบตาพุด: อานิสงส์ถ้วนหน้า? ทั้ง 6 ตอน ของแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://www.tuhpp.net/?page_id=5092

"ควรเน้นรับฟังปัญหาและความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เพราะในที่สุดแล้วสังคมก็คือรากฐานของอุตสาหกรรมนั่นเอง

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16 พ.ค.2555