ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เลขาฯมูลนิธิไม่สูบบุหรี่เสนอแก้พ.ร.บ.ยาสูบห้ามธุรกิจบุหรี่ใช้กลยุทธ์กิจกรรมซีเอสอาร์สร้างภาพลักษณ์เกรงบั่นทอนพลังองค์กรรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ชงให้อำนาจสาธารณสุขจังหวัดเขียนใบสั่งปรับผู้กระทำผิดสูงสุดไม่เกิน20,000บาท"ทนุศักดิ์"ค้านอ้างแบ่งเบาภาระงบสร้างสรรค์สังคมผอ.ยาสูบขานรับไม่เปลืองงบปีละ 180 ล้านบาท

ศ.น.พ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าจากมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่17 เมษายน2555 เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 พ.ศ.2553 มติ 6 มาตรการในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านยาสูบโดยหนึ่งในสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังคือ ห้ามธุรกิจยาสูบทำกิจกรรมภายใต้นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (Corporate Social Responsibility ; CSR)

"การทำ CSR เป็นกลยุทธ์สำคัญที่บริษัทยาสูบใช้สร้างรากฐานทางสังคมเพราะผู้ได้รับเงินสนับสนุนหากเป็นชาวบ้านย่อมมีจิตสำนึกในความมีน้ำใจของบริษัทขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัทบุหรี่ เพราะชื่อของบริษัทจะปรากฏคู่กับองค์กรหรือหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนยิ่งถ้ามีชื่อเสียงก็จะยิ่งช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัทแต่ตรงกันข้ามเป็นการบั่นทอนพลังขององค์กรที่ร่วมรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ทำให้สังคมรู้สึกว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีน้ำใจเปิดกว้าง ซึ่งกลยุทธ์เช่นนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง" ศ.น.พ.ประกิต กล่าว

ศ.น.พ.ประกิต กล่าวต่อว่า ดังนั้นมูลนิธิจึงร่วมกับสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาเสนอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบพ.ศ. 2535 โดยมีกรอบดังนี้ 1.ห้ามธุรกิจยาสูบทำกิจกรรม CSR 2.ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับจังหวัดมีอำนาจในการเขียนใบสั่งผู้กระทำผิด3.พิจารณาปรับเพิ่มโทษผู้กระทำผิดจากเดิมโทษสูงสุดผู้กระทำผิดที่เป็นเจ้าของสถานที่คือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และผู้เสพปรับไม่เกิน2,000 บาท

ศ.น.พ.ประกิต กล่าวอีกว่า ในส่วนของรายละเอียดการแก้ไขพ.ร.บ.คงต้องประชุมหารือกันอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าภายใน2-3 เดือนนี้จะพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เสร็จ หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อนำเสนอครม.พิจารณาอีกครั้งก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร "ส่วนตัวยังอยากให้บริษัทบุหรี่แจงค่าใช้จ่ายด้านการตลาดให้สาธารณชนรับรู้มากยิ่งขึ้น เพราะที่มีอยู่ตอนนี้เชื่อว่าเป็นตัวเลขที่ไม่แท้จริงโดยตัวเลขอาจซ่อนเร้นหรืออยู่ในรูปของการทำตลาดด้านอื่นซึ่งขึ้นอยู่กับอำนาจของกระทรวงพาณิชย์ในการบังคับใช้"

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจากรายงานผลการเฝ้าระวังเพื่อควบคุมยาสูบ :  กรณีการเฝ้าระวังกลยุทธ์ อุตสาหกรรมยาสูบ ในเดือน กุมภาพันธ์ 2555 โดยกลุ่มพัฒนาวิชาการ สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบเรื่องการให้ทุนสนับสนุนกิจกรรม CSRกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในประเทศไทยของบริษัทบุหรี่ ตั้งแต่ปี 2552 -2554 พบว่าโรงงานยาสูบใช้งบประมาณรวม3 ปีจำนวน 199,937,352บาท แยกเป็นปี2552 จำนวน 43,350,600 บาท, ปี2553  จำนวน69,548,300 บาท และปี 2554  จำนวน87,038,452 บาท สำหรับบริษัทฟิลลิปมอร์ริสประเทศไทย จำกัดใช้งบประมาณรวม 2 ปี จำนวน12,042,764 บาท แยกเป็น ปี 2552  จำนวน 5,683,051  บาทและปี 2553  จำนวน 6,359,713  บาท

ด้านนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง  เปิดเผยว่าส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไข พ.ร.บ.ยาสูบส่วนการทำ CSR มองว่าไม่ใช่เป็นโฆษณาแฝงแต่เป็นทฤษฎีการดำเนินนโยบายที่คู่กับการพัฒนาสังคมไทย และแบ่งเบาภาระงบประมาณรัฐและเอกชน ที่ต้องการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้สังคม เช่น มหกรรมการแข่งขันกีฬาหมากรุกไทย"เปิดคลังประลองขุน" ซึ่งโรงงานยาสูบ มีงบประมาณพร้อมสนับสนุน "ทุกวันนี้ บริษัทเอกชนกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วโลกยังทำ CSR ได้ ไม่เห็นจะมีปัญหาร้องเรียนแต่อย่างใด"

อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลัง ไม่ได้ปิดกั้นการแก้ไขพ.ร.บ. แต่ต้องมีเหตุผลมาหารือกัน และต้องรับฟังความเห็นจากทางผู้บริโภคด้วยว่าเดือดร้อนในประเด็นนี้จริงหรือไม่ซึ่งกระทรวง จะเป็นตัวกลางในการพิจารณาถึงความเหมาะสม ขณะที่ความคืบหน้า การแก้ไขพ.ร.บ. ยาสูบขณะนี้ยังชะลอการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ที่จะเปลี่ยนแปลงฐานการจัดเก็บภาษีจากราคาหน้าโครงงานหรือซีไอเอฟ เป็นราคาขายปลีก เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายกับประชาชน

นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ(รยส.) กล่าวว่าข้อเรียกร้องไม่ให้ทำซีเอสอาร์ นั้น รยส.ยืนยันว่าไม่ใช่โฆษณาแฝงถ้ามีกฎหมายออกมาห้ามจริงๆ กลับเป็นผลดีกับรยส.ที่ไม่ต้องเสียงบประมาณต่อปี 180 ล้านบาท ไม่รวมงบกรณีต้องจ่ายสนับสนุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)อีก 2%ของภาษีแสตมป์

ส่วนหลักการทำซีเอสอาร์ของรยส.นั้น  มี 2 มิติคือ 1.การตอบแทนหรือคืนกำไรสังคม จากภารกิจผลิตบุหรี่ 2.หารายได้เข้ารัฐ โดยการคืนกำไรสังคมปี2555 แบ่งเป็น 3รูปแบบคือ 1.การลงทุนสร้างห้องสูบบุหรี่ปัจจุบันกำลังพัฒนาระบบ "ห้องสูบบุหรี่ นาโนเทคโนโลยี" ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  (สวทช.) งบลงทุน 20 ล้านบาท จะนำร่องติดตั้งที่สโมสรรยส.ก่อนกระจายติดตั้งตามศูนย์ราชการหรือตามที่องค์กรขอมา2.เงินบริจาคตามโรงพยาบาลหรือหน่วยงานเอกชน เช่น ร.พ.ศิริราช 10 ล้านบาทร.พ.พระราม9จำนวน 2 ล้านบาท และ3.ด้านกีฬานอกจากสนับสนุนผ่านทีมฟุตบอลรยส.แล้วยังกระจายที่อื่นอีก ตอนนี้คงเหลืองบราว 30-40 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีแผนจะทำโครงการทำลายขยะอุตสาหกรรมโดยใช้สำนักงานของรยส.ทั่วประเทศกว่า 10 แห่ง เป็นศูนย์รับซื้อขวดยาฆ่าแมลงจากชาวไร่-ชาวนา หากย้อนดูกิจกรรมซีเอสอาร์ของรยส.ไม่สะท้อนว่าเป็นโฆษณาแฝงแต่อย่างใด

"โจทย์เวลานี้ที่น่าห่วงคือ บุหรี่มวนเองมีตลาดใหญ่กว่ารยส.โดยเติบโตมากกว่าอัตรา 50% เมื่อมูลนิธิรณรงค์ไม่สูบบุหรี่มีความเข้มแข็งดีอยู่แล้ว จึงน่าจะให้น้ำหนักช่วยกันรณรงค์จุดนี้ด้วย"

นางสาวอรอนงค์ ประทักษ์พิริยะผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจการภายนอก ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ดเปิดเผยว่า บริษัทไม่เห็นด้วยกับแนว คิดนี้โดยรัฐบาลควรพิจารณาถึงมุมมองจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคอุตสาห กรรมทั้งหมด รวมถึงหน่วยงานด้านสาธารณสุขด้านการคลัง  ร้านค้าปลีก ผู้ผลิตยาสูบเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ และผู้บริโภคด้วย

"นโยบายด้านCSR ของฟิลลิปมอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล (Philip Morris International-PMI) นั้นสนับสนุนโครงการเพื่อสาธารณประโยชน์เพื่อบรรเทาปัญหาเร่งด่วน 5 ประการ ได้แก่  1.ปัญหาความยากจนหิวโหย  2.สนับสนุนด้านการศึกษา3.พัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ชนบท4.แก้ไขปัญหารุนแรงในครอบครัว และ5.บรรเทาทุกข์จากภัยธรรมชาติและสาธารณภัยสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษขององค์การสหประชาชาติ(UN Millennium Development Goals)โดยบริษัท ฟิลลิปฯได้สนับสนุนโครงการเพื่อสาธารณประโยชน์ทั่วโลกรวมทั้งสิ้น274 โครงการ ในกว่า 58 ประเทศ มีประชากรจำนวนกว่า 3.5 ล้านคนทั่วโลกได้รับผลประโยชน์"

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 17 - 19 พ.ค. 2555