ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ร.พ.เบทเทอร์ บีอิ้ง รุกขยายตลาดเวชศาสตร์ฟื้นฟูสุขภาพ ชูแนวคิดสมุทัยเวชศาสตร์ หรือฟังก์ชั่นนอลเมดิซีน สร้างจุดต่าง อัดงบฯ 10 ล้านขยายห้องพักผู้ป่วย เพิ่มงบฯการตลาดเน้นให้ความรู้ความเข้าใจ หวังขยายฐานลูกค้าคนไทย

น.พ.ต่อศักดิ์ ทิพย์ไพโรจน์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท AMPG&N Co.,Ltd ผู้บริหารโรงพยาบาลเบทเทอร์ บีอิ้ง หรือบีบีเอช ผู้ให้บริการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูสุขภาพ ภายใต้แนวคิดสมุทัยเวชศาสตร์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังจากเปิดให้บริการมา 3 ปี พบว่าจำนวนผู้ที่เข้ามารับบริการเพิ่มขึ้น จึงมีแผนลงทุนเพิ่มในบริเวณทำเลเดิมที่สุขุมวิท 39 บนพื้นที่ 2 ไร่ ซึ่งยังมีพื้นที่ว่างด้านหลัง โดยจะขยายอาคารห้องพักผู้ป่วย 3 ชั้น มีห้องพักผู้ป่วย 10 ห้อง เพิ่มเติมจากที่มีอยู่ 10 ห้อง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้าง ปลายปีนี้ และเปิดให้บริการได้ในปี 2556

นอกจากนี้ ยังมีแผนเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทจาก 20 ล้านบาท เป็น 60 ล้านบาท สำหรับเช่าที่ดินด้านหน้า เพื่อก่อสร้างอาคาร 8 ชั้น เป็นแผนกผู้ป่วยนอก 2 ชั้น ส่วนอีก 6 ชั้น จะหาพันธมิตรร่วมทุน เพื่อเปิดบริการอื่น ๆ อาทิ เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์, บูติคโฮเต็ล, ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ หรือศูนย์ออกกำลังกายโยคะ

"ปลายปีที่แล้วได้เปิดใช้อาคารหลังใหม่ 4 ชั้น มีห้องพักผู้ป่วย 10 คน ใช้งบฯลงทุนก่อสร้างและตกแต่ง 50-60 ล้านบาท ปลายปีนี้จะเริ่มสร้างอาคารใหม่ อาคารด้านหลังคาดใช้งบฯลงทุน 10 ล้านบาท"

สำหรับโรงพยาบาลเบทเทอร์ บีอิ้ง เปิดให้บริการรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรังชนิดต่าง ๆ อาทิ เด็กพิเศษ ออทิสติก โรคภูมิแพ้เรื้อรัง โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ภายใต้แนวคิดของสมุทัยเวชศาสตร์ การผสมผสานระหว่างการแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือก ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างมากในสหรัฐ และในไทยมีการนำแนวทางดังกล่าวมาใช้มากกว่า 15  ปี ปัจจุบันมีการก่อตั้งสมาคมแพทย์สมุทัยเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย

น.พ.ต่อศักดิ์กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้เข้ามาใช้บริการปีละกว่า 100 คน คนไข้ในเข้ามาพักเฉลี่ยเดือนละ 30-40 คน หลัก ๆ เป็นลูกค้าต่างชาติสัดส่วน 70-80% คนไทย 20-30% โดยจำนวนนี้เป็นเด็กมากกว่า 50% ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กพิเศษ ออทิสติก โรคภูมิแพ้ อีกกลุ่มเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อาทิ ระบบประสาท อัมพาต

โดยปีนี้มุ่งขยายตลาดคนไทยให้มากขึ้น และได้เพิ่มงบฯการตลาดเป็น 10 ล้านบาท จากปีก่อนใช้ไป 5-6 ล้านบาท เพื่อสร้าง แบรนด์อะแวร์เนส อาทิ จัดบรรยายให้ความรู้ที่โรงพยาบาล และร่วมกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ส่วนการทำตลาดกับชาวต่างชาติ จะใช้วิธีผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊ก และกลยุทธ์ปากต่อปาก พร้อมเพิ่มบุคลากรการแพทย์ พยาบาล นักกายภาพ ซึ่งทางโรงพยาบาลจะสนับสนุนทุนการศึกษาต่อด้านการแพทย์แนวสมุทัยเวชศาสตร์ที่สถาบัน Institute for Functional Medicine หรือ IFM

"ปีนี้คาดว่ามีรายได้ 70 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนมีรายได้เกือบ 50 ล้านบาท" น.พ.ต่อศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 - 20 พ.ค. 2555

เรื่องที่เกี่ยวข้อง