ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สธ.เดินหน้าโครงการอาหารปลอดภัยตรวจตลาดสดทั่วประเทศ พบยังมีอาหารไม่ปลอดภัย 27% สถานที่ที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์อันดับหนึ่งคือตลาดสด เร่งแก้ไขสนองนโยบายรัฐครัวไทยสู่ครัวโลก

วันนี้(16 พฤษภาคม 2555) นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลัง นำคณะตรวจเยี่ยม การดำเนินโครงการอาหารปลอดภัย ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ตลาดผดุงดอยแดน(เชิงดอย) อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ตามนโยบายรัฐบาล ครัวไทยสู่ครัวโลก ว่าจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมตลาดสดในหลายพื้น อาทิ ตลาดสดบางลำพู จ.ขอนแก่น ตลาดสดเทศบาลเมืองสระบุรี ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้คณะรัฐมนตรีติดตามเรื่องราคาสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผักสด ผลไม้ ไข่ไก่ เนื้อสัตว์ โดยได้กำชับให้มาเปรียบเทียบราคาสินค้าขณะนี้กับที่ผ่านมาว่ามีราคาเป็นอย่างไรแพงขึ้นหรือไม่ซึ่งในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะไม่เพียงตรวจสอบเรื่องราคาสินค้าเท่านั้น แต่จะเน้นย้ำเรื่องการตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยของอาหารทั้งเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ จากสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายที่ห้ามใช้ ได้แก่ สารฟอร์มาลิน สารบอแรกซ์ สารกันบูด สารกันรา ยาฆ่าแมลง และสารเร่งเนื้อแดง รวมทั้งมาตรฐานความสะอาดของตลาดสด การวางสินค้าจำหน่าย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน ถูกหลักสุขาภิบาล 

นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า จากการไปตรวจที่ผ่านมา พบความสะอาดของตลาดอยู่ในขั้นดี และที่ดีเด่นมากคือการจัดให้มีการตรวจสารปนเปื้อนต่างๆโดยมีเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะมีห้องตรวจที่ชัดเจน และยังมีห้องที่มีน้ำสะอาดสำหรับให้ลูกค้านำผัก ผลไม้มาล้าง

นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร ของกระทรวงสาธารณสุข ล่าสุดเมื่อสิ้นเดือนเมษายน 2555 ในด้านของสถานที่จำหน่ายอาหาร เช่น ตลาด ร้านอาหาร แผงลอยทั่วประเทศ ตรวจทั้งหมด 30,138 แห่ง ปรากฎว่าผ่านเกณฑ์ 26,269 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 87 สถานที่ที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ได้แก่ อันดับ 1 ได้แก่ ตลาดค้าส่งพบร้อยละ 45 รองลงมาคือ ซุปเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้าร้อยละ 19 โรงอาหารในโรงเรียนร้อยละ 18 ศูนย์เด็กเล็กร้อยละ 15 แผงลอยร้อยละ 13 และร้านอาหารทั่วไปร้อยละ 12 ส่วนความปลอดภัยของอาหารจากแหล่งจำหน่ายถึงผู้บริโภค โดยตรวจ 2 เรื่อง ได้แก่ด้านสารเคมี ได้แก่สารต้องห้ามเช่นบอแรกซ์ ตรวจ 114,283 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่ปลอดภัย ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 99   ส่วนผลการตรวจความปลอดภัยด้านเชื้อจุรินทรีย์ก่อโรคระบบทางเดินอาหาร ยังพบปัญหาที่ร้านแผงลอยและร้านอาหาร ต้องเร่งเรื่องความสะอาด โดยตรวจพบเชื้อจุรินทรีย์ในมือผู้สัมผัสอาหารมากที่สุดร้อยละ 27 รองลงมาคือ น้ำดื่ม น้ำแข็ง พบร้อยละ 25 นายแพทย์สุรวิทย์กล่าว

นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งแก้ไขปัญหา โดยจะมีการกำหนดมาตรฐานควบคุมเป็นกฎหมายบังคับใช้ให้ร้านอาหารและแผงลอยต้องผ่านการอบรม และผ่านการรับรองจากสถาบันที่กำหนดภายใต้กฎหมายที่เชื่อถือได้ โดยได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยด้านอาหารของกระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวางแผนร่วมกับ กรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสมาคม ชมรมร้านอาหารและแผงลอย เพื่อพัฒนายกระดับมาตรฐานร้านอาหารและแผงลอยทั่วประเทศ โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวให้สะอาด ปลอดภัย เพื่อรองรับนโยบาย ครัวไทยเป็นครัวโลก