ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

องค์การพัฒนาภาคเอกชน หรือเอ็นจีโอมาจากคำย่อภาษาอังกฤษ NGO : NonGovernmental Organization หลายคนมองภาพลักษณ์เอ็นจีโอติดลบ บ้างว่าเป็นพวกขัดขวางความเจริญ บ้างว่าเป็นพวกค้านแหลก บ้างว่าเป็นพวกรับใช้ต่างชาติ ฯลฯ

ไม่ว่าใครจะพูดอย่างไร มีหนุ่มสาว จำนวนไม่น้อยที่เดินตามความฝัน ปลุกจิตวิญญาณความเป็นอาสาสมัครใช้ไฟรุนแรงของคนรุ่นใหม่กระโจนสู่สนามการเป็นเอ็นจีโอ ตั้งใจแน่วแน่ในจุดยืนที่หวังสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อสังคม

เป็นเวลานับสิบๆ ปีแล้วที่ "นิมิตร์ เทียนอุดม" วัย 51 ปี ที่หลายคนอาจคุ้นชื่อแต่อาจยังไม่รู้จักผู้ชายคนนี้มากนักพี่นิมิตร์เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (AIDS Access) ที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงนักพัฒนาเอกชนด้านสุขภาพมานาน ถือได้ว่าเป็นเอ็นจีโอรุ่นใหญ่ที่อยู่แถวหน้าของประเทศไทยอีกคนหนึ่ง

พี่นิมิตร์ เล่าย้อนกลับไปราวปี 2528 เมื่อศึกษาจบคณะรัฐศาสตร์รั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง ด้วยความเป็นนักกิจกรรม ทำงานอาสาหลายอย่างทั้งชมรม และการออกค่ายจึงถูกชักชวนเข้าไปร่วมงานกับมูลนิธิโกมนคีมทอง ที่กำลังต้องการคนหนุ่มสาวมาทำงานเพื่อสังคม

การเริ่มงานที่มูลนิธิโกมนคีมทอง พี่นิมิตร์ ได้ทำหนังสือพิมพ์เพื่อนชาวบ้านลงพื้นที่ชนบท พูดคุยกับชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนา นำมาถ่ายทอดพร้อมกับเชื่อมโยงกระบวนการการศึกษา ต่อจากนั้นก็ได้เข้ามาทำงานในโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคมซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็นมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมเป็นการค้นหาอาสาสมัครที่ต้องการเรียนรู้ด้านสังคม โดยเปิดโอกาสให้เป็นอาสาสมัคร 2 ปี ช่วยค่าครองชีพแบบเต็มเวลา มีหน้าที่พัฒนาเรียนรู้ทำประโยชน์เพื่อสังคมซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ได้เรียนรู้การเป็นเอ็นจีโอ

"เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมไปในทางที่ดีขึ้น พร้อมๆ กับได้สนุก ได้คิดอยู่ตลอดเวลา และเชื่อว่าสิ่งที่เราทำนั้นมีประโยชน์ต่อส่วนรวม และช่วยกันสร้างฝันให้เป็นจริงขึ้นมา แต่ลักษณะงานจะมีอายุสั้นเป็นโครงการ 1 ปี บ้าง 2 ปี ต้องหาผู้สนับสนุนทางการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินทุนจากต่างประเทศ เพราะงบประมาณเหล่านี้ นอกจากใช้ในการดำเนินงานต่างๆ แล้วยังเป็นเงินเดือนของคนที่ทำงานด้วย"

พอทำอยู่ 4 ปี ก็รู้สึกเบื่อประกอบกับมีครอบครัวที่ต้องดูแลจึงกลับไปเลี้ยงดูลูกอยู่ 1 ปี จังหวะนี้เองที่พี่นิมิตร์ได้เข้ารับราชการด้วยพี่นิมิตร์ เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวไม่ค่อยเห็นด้วยที่จะเป็นเอ็นจีโอ โดยเฉพาะแม่อยากให้มีชีวิตที่มั่นคง เขามองว่าเอ็นจีโอไม่เป็น หลักแหล่งพึ่งพาไม่ได้ จนขัดแม่ไม่ได้ตัดสินใจสอบเข้าราชการ ได้เป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผนอบจ.มหาชัย แต่ทำงานอยู่เพียง 5 วัน เขาก็ตัดสินใจลาออกทำให้แม่ไม่พูดกับเขาอยู่หลายปี

"มันเหมือนไม่ใช่เรา อาจเพราะเป็นงานใหม่ด้วยเป็นวัยรุ่นด้วย ทำงานเป็นเอ็นจีโอมาตั้ง4 ปี อยู่ๆ จะให้นั่งโต๊ะ มันไม่สนุก ไม่ท้าทายก็คิดนะว่าเราจะมีชีวิตต่อไปอย่างไร ถ้าอยากให้ทำราชการเพื่อจะได้สวัสดิการก็มาตั้งต้นคิดว่า ทำไมคนไทยไม่มีสวัสดิการด้านสุขภาพ"

ส่วนเป็นไงมาไงจึงมาทำงานที่มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ หลังจากพักงานไป 1 ปี ช่วงปี 2530 อ.จอน อึ๊งภากรณ์ ก็ชวนไปทำงานพัฒนาสังคมด้านเอดส์ แม้จะลังเลอยู่บ้างพี่นิมิตร์ก็เริ่มทำงานด้านเอดส์ตั้งแต่นั้นมา โดยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เริ่มก่อตั้งองค์กรเมื่อปี2534 เป็นการทำงานในด้านการแก้ไขปัญหาเอดส์ที่เป็นปัญหาสังคม ซึ่งมีผลกระทบต่อเรื่องสิทธิคุณภาพชีวิต ตลอดจนความเป็นมนุษย์ ของผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ และครอบครัว และเป็นตัวแทนประเทศไทยในการประสานงานระหว่างประเทศในประเด็นที่เกี่ยวกับโรคเอดส์

พี่นิมิตร์ บอกว่า เรามีจังหวะที่ดีที่ได้ทุนสนับสนุนจากต่างประเทศที่ให้อิสระในการทำงานมาก ขณะเดียวกัน ก็ไม่อยากของบจากส่วนราชการ เพราะขอแล้วกลายเป็นเบี้ยหัวแตก แถมยังเป็นการจำกัดการทำงานของตัวเอง ดังนั้น จึงเลือกที่จะไม่รับทุนจากรัฐ ทั้งๆที่จริงๆ แล้วองค์กรพัฒนาเอกชนเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีจุดมุ่งหมายเดียวกันกับภาครัฐ เพียงแต่คนทำงานกลุ่มนี้ไม่อย่างอยู่ในระบบราชการเท่านั้น

ที่สำคัญแม้จุดเริ่มแรกของเอ็นจีโอจะมาจากอาสาสมัคร แต่เราพบว่าหากเป็นเพียงอาสาสมัครก็จะทำได้ในช่วงสั้นๆ ไม่สามารถรักษาคนทำงานได้ ต้องเปลี่ยนหน้าสร้างคนอยู่ตลอดเวลา งานที่ตั้งใจจะทำก็ไปไม่ถึงไหนเมื่อคนเป็นกลไกสำคัญในการเป็นเอ็นจีโอเพื่อเป็นหลักในการขับเคลื่อนฉะนั้น ต้องพยายามทำให้เป็นวิชาชีพ มีความมั่นคงในชีวิต ดังนั้นมูลนิธิเข้าถึงเอดส์จึงมีการสร้างระบบฐานเงินเดือน ดูแลสวัสดิการคนทำงาน ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีกิน หรือเพื่อนจบร่วมรุ่นเดียวกัน เงินเดือนไปไกลมากแล้ว แต่เรายังอยู่ที่เดิม ฉะนั้น คนที่เรียนจบปริญญาตรีก็จะมีฐานเงินเดือนที่จะได้ นอกจากนี้ก็มีการต่อสัญญาทุก 3 ปี

"ส่วนทัศนคติเชิงลบต่อเอ็นจีโอทั้งหลายนั้น เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย แต่พี่มองว่า ในส่วนที่เอ็นจีโอมองต่างเป็นเรื่องที่ดีสังคมจำเป็นที่ต้องมีความเห็นที่หลากหลาย เช่น หากรัฐพัฒนาประเทศโดยไม่สนใจ มิติทางสังคมทำให้เกิดช่องว่างสูงหากไม่มีการถ่วงดุลเลยปัญหาจะยิ่งมากขึ้นดังนั้น จึงเป็นการเห็นต่างที่จะนำไปสู่การพัฒนาและแก้ปัญหาไปด้วยกัน ในขณะเดียวกันเอ็นจีโอก็ไม่จำเป็นต้องค้านอย่างเดียว เราสามารถสนับสนุน ผลักดันหรือทำงานร่วมกันได้เหมือนที่มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ทำอยู่"

พี่นิมิตร์ ทิ้งท้ายด้วยว่า สิ่งที่ทำให้สามารถทำงานเป็นเอ็นจีโอได้อย่างยาวนานเพราะความรู้สึกภูมิใจในการช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาต้านไวรัสเอชไอวีมากขึ้น ทำให้ช่วยรักษาชีวิตผู้ที่ติดเชื้อและมีชีวิตที่มีคุณภาพที่ดี โดยการที่เพื่อนพี่ น้อง ที่ทำงานด้วยกันไม่ต้องเสียชีวิตเป็นกำลังใจสำคัญในการทำงานอย่างมาก

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 7 พฤษภาคม 2555