ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ยอดผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูจนถึงวันที่ 15 พ.ค. อยู่ที่ 210,000 คน สูงเกินเป้าตั้งไว้ โดยเฉพาะการพัฒนามัสยิดใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีพี่น้องชาวมุสลิมเข้ารับการบำบัด 1.2 หมื่นคน ขณะนี้พบว่ามีผู้เข้ารับการบำบัดเกินครึ่งแล้ว อย่างไรก็ตาม คาดว่า ระยะเวลาที่เหลืออยู่จะมีผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูเกินเป้าที่ตั้งไว้ 4 แสนคนต่อปี เป็นยอดที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพราะในอดีตที่มีการประกาศสงครามกับยาเสพติดเมื่อปี 2546 เคยบำบัดฟื้นฟูมากที่สุด 3.2 แสนคนต่อปี

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะ ผอ.ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด กล่าวว่า ตามที่ประมาณการว่าทั่วประเทศมีผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดประมาณ 1.2 ล้านคน และในปีนี้รัฐบาลตั้งเป้าการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพ และผู้ติดยาเสพติดเอาไว้ 4 แสนคน แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะเจอปัญหาน้ำท่วมทำให้การบำบัดฟื้นฟูในช่วงแรกล่าช้า แต่พอผ่านช่วงน้ำท่วมมาได้พบว่ายอดผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูจนถึงวันที่ 15 พ.ค. อยู่ที่ 210,000 คน สูงเกินเป้าตั้งไว้ โดยเฉพาะการพัฒนามัสยิดใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ ให้เป็นศูนย์บำบัดฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติดในชุมชน หรือมัสยิดศูนย์ส่องทางสู่ชีวิตใหม่ ปูซัดเกอฮีดูปันบารู ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีพี่น้องชาวมุสลิมเข้ารับการบำบัด 1.2 หมื่นคน ขณะนี้พบว่ามีผู้เข้ารับการบำบัดเกินครึ่งแล้ว อย่างไรก็ตาม คาดว่า ระยะเวลาที่เหลืออยู่จะมีผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูเกินเป้าที่ตั้งไว้ 4 แสนคนต่อปี เป็นยอดที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพราะในอดีตที่มีการประกาศสงครามกับยาเสพติดเมื่อปี 2546 เคยบำบัดฟื้นฟูมากที่สุด 3.2 แสนคนต่อปี

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวต่อว่า เหตุที่มีผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูเป็นจำนวนมาก คงเป็นเพราะนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาล ให้โอกาสผู้เสพ ผู้ติด เป็นผู้ป่วย และการมี 1 อำเภอ 1 ศูนย์ฟื้นฟู กว่า 1,200 แห่งทั่วประเทศ ทำให้มีการเข้าถึงสถานที่บำบัดฟื้นฟู โดยผู้เสพจะใช้เวลา 9 วัน ส่วนผู้ติดยาเสพติดใช้เวลา 4 เดือน หลังจากนั้นจะมีการติดตามต่ออีก 1 ปี หากได้รับการบำบัดฟื้นฟูครบตามกำหนด 85% จะไม่กลับไปเสพอีก มีเพียง 15% เท่านั้น ที่กลับไปเสพซ้ำ ซึ่งกลุ่มนี้ได้รับการบำบัดฟื้นฟูไม่ครบตามกำหนด

"สำหรับปัญหา อุปสรรคในการบำบัด ฟื้นฟู คือ การนำผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการในช่วงแรกการเชิญชวนโดยสมัครใจ คนก็ยังไม่ยอมมา ต้องให้เจ้าหน้าที่ขู่เข็ญ บังคับ หรือการค้นหาผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดโดยใช้กระบวนการประชาคมในหมู่บ้าน แต่ไม่ได้มีการนำผู้เสพ ผู้ติด เข้ามา เพราะทำเชิงรณรงค์ป้องกันมากกว่า ช่วงหลังมีการปรับเปลี่ยนการทำงานใหม่ทำให้มีผู้เข้าสู่กระบวนการมากขึ้น" น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวและว่า นอกจากนี้ในเรื่องงบประมาณแม้จะได้รับการจัดสรรเพียงพอ แต่งบประมาณบางส่วนกว่าจะลงไปในพื้นที่ต้องรอนาน บางแห่งเข้าเดือนที่ 4 งบประมาณจึงลงไป ก็เลยต้องใช้งบประมาณอื่นแทนไปก่อน

 

ที่มา : นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 18 พ.ค. 2555