ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เด็กออทิสติกลูกครึ่งไทย-อังกฤษวัย 4 ขวบครึ่ง พัฒนาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลังได้รับการแนะนำวิธีการรักษาจาก'รพ.กาฬสินธุ์'ผ่านทางโทร.ข้ามประเทศ

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นางศุภกร  เคอร์เกอร์  (ปานดอนลาน) อายุ 45 ปี พร้อม ด.ช.เดวิด วิลเลี่ยม เคอร์เกอร์ หรือน้องโจโน่ วัย 4 ขวบ 5 เดือน ลูกชาย ได้เดินทางเข้าพบ นพ.สมอาจ ตั้งเจริญ ผู้อำนวยการ รพ.กาฬสินธุ์ พญ.นภาพร โชติช่วงนิรันดร์ หัวหน้ากลุ่มงานกุมารเวชกรรม และนางสมคิด สุทธิพรม พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้าคลินิกกระตุ้นพัฒนาการเด็ก รพ.กาฬสินธุ์ เพื่อเข้ารักษาอย่างเป็นทางการ หลังนางศุภกรได้โทรศัพท์ปรึกษาทาง รพ.กาฬสินธุ์ ในการบำบัดลูกชายขณะอยู่ประเทศอังกฤษมานานร่วม 1 ปี

นางศุภกรกล่าวว่า ตอนที่เลี้ยงลูกชายอยู่ที่เมืองนอร์ทแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษนั้น เป็นช่วงที่ลูกชายอายุประมาณ 3 ขวบ ไม่มีการพูดหรือเปล่งเสียงอะไร ตนไม่ได้เอะใจอะไร กระทั่งได้ดูวิดีโอคลิปผ่านทางอินเตอร์เน็ต เป็นรายการที่นางสมคิด ถูกสัมภาษณ์ออกอากาศในรายการเรื่องเด่นเย็นนี่ ทางไทยทีวีสีช่อง 3 ซึ่งนางสมคิดได้ให้ข้อสังเกตการดูว่าเด็กเป็นออทิสติกมีอาการอย่างไร สังเกตแบบง่ายๆ ที่จำได้คือ ไม่มองหน้า ไม่สบตา ไม่พาที และไม่ชี้นิ้ว เป็นอาการเบื้องต้น ตนจึงมาสังเกตลูกชายตัวเองก็รู้สึกว่าน่าจะใช่ จึงพาไปตรวจที่โรงพยาบาลในประเทศอังกฤษ ครั้งแรกการเช็กร่างกายไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างไร หมออังกฤษบอกว่าปกติดีทุกอย่าง แต่พ่อของเด็กอยากให้ตรวจละเอียด เพราะลูกมีอาการไม่สนองตอบทางเสียง คือ ไม่ยอมหันตามเสียงที่เรียก หมอจึงจับตรวจทั้งเลือดและพฤติกรรมต่างๆ ก่อนวินิจฉัยว่าป่วยเป็นออทิสติกแน่นอน

นางศุภกรกล่าวต่อว่า ตนจึงนำลูกชายเริ่มต้นการรักษาที่โรงพยาบาลในประเทศอังกฤษอย่างจริงจัง แต่การแนะนำของหมอรวมทั้งวิธีการรักษาไม่สามารถตอบสนองอะไร กระทั่งมาทราบข่าวจากการได้ดูผ่านทางอินเตอร์เน็ต จึงตัดสินใจติดต่อมาที่ รพ.กาฬสินธุ์ เพื่อขอคำปรึกษาการรักษาลูกชายอย่างจริงจัง ซึ่งนางสมคิด พยาบาลได้แนะนำการที่ รพ.กาฬสินธุ์ เพื่อขอคำปรึกษาการรักษาลูกชายอย่างจริงจัง ซึ่งนางสมคิด พยาบาลได้แนะนำการดูแลและการบำบัดผ่านทางโทรศัพท์มือถือ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดี

"แรกๆ ก็โทรศัพท์ไปสอบถามบ่อยมาก เพราะมีบางเรื่องยังไม่ค่อยเข้าใจ อย่างเช่นการโล้บอลให้ลูกชายจะต้องทำท่าไหน เพราะการอธิบายทางโทรศัพท์อย่างเดียวไม่ค่อยได้เห็นภาพมากนัก แต่ก็ทำได้ ซึ่งนางสมคิดจะแนะนำการบำบัดการกระตุ้น พัฒนาการอย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์หรือใช้จ่ายอะไรแพงๆ มากนัก เช่น การให้ชิมรสชาติอาหารประเภทต่างๆ ก็เป็นของก้นครัว สามารถนำมาใช้ได้อย่าง เกลือ น้ำตาล มะนาว เป็นต้น นอกจากนี้ก็จะมีลูกบอลใหญ่ ซื้อหาก็ไม่แพงอะไร รวมถึงป้ายรูปต่างๆ ด้วย" นางศุภกรกล่าว และว่า "เราทำมาเป็นเวลา 1 ปี 2 เดือน ก็เริ่มเห็นความแตกต่างของลูกชายอย่างมาก น้องโจโน่เริ่มมีเสียงพูดออกมา เรียกชื่อและหันตามเสียงมาได้ ตอนนี้ทั้งครอบครัวเชื่อมั่นมากๆ ว่า วิธีการรักษาที่เราสามารถรักษาได้เอง ทำได้เองจะช่วยรักษาการออทิสติกของลูกได้ พัฒนาการเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งทำให้ครอบครัวเรามีกำลังใจมากขึ้น จนกระทั่งตัดสินใจมารักษาด้วยตัวเองถึง รพ.กาฬสินธุ์ในครั้งนี้" นางศุภกรกล่าว

ด้าน พญ.นภาพรกล่าวว่า จากการประเมินพัฒนาการของน้องโจโน่ พบว่ามีความล่าช้าด้านพัฒนาการทั้ง 5 ด้าน แยกเป็น 1.ด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่พัฒนาการอยู่ที่ 2 ปี 11  เดือน 2.ด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก พัฒนาการอยู่ที่ 1 ปี 9 เดือน 3.ด้านการเข้าใจภาษา มีพัฒนาการที่ 1 ปี 7 เดือน 4.การใช้ภาษาพูด 1 ปี 4 เดือน และ 5.ด้านสังคมหรือการช่วยเหลือตัวเอง มีอายุประมาณ 1 ปี 4 เดือน เมื่อประเมินภาพรวมแล้วพบว่าน้องโจโน่ที่มีอายุจริง 4 ขวบ 5 เดือน แต่มีพัฒนาการอยู่ที่ 2 ปี 5 เดือน นอกจากนี้ในการประเมินภาวะการเป็นออทิสติกยังพบว่าน้องโจโน่ป่วยเป็นออทิสติก 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ความรุนแรงอยู่ในระดับปานกลาง เนื่องจากน้องโจโน่มีอารมณ์ที่ดี ยิ้มแย้มและมีอาการแสดงถึงความก้าวร้าว ซึ่งในการรักษาก็คงใช้การบำบัดและการกระตุ้นฟื้นฟู เป็นการรักษาที่ไม่ต้องใช้ยาร่วมในการบำบัดและการกระตุ้นฟื้นฟู เป็นการรักษาที่ไม่ต้องใช้ยาร่วมในการบำบัด

"การรักษาออทิสติกที่จะได้ผลนั้น ผู้ปกครองต้องใส่ใจจริงจังแต่ไม่เคร่งเครียดในขั้นตอนการบำบัดต่างๆ ผู้ปกครองสามารถทำกิจกรรมให้เด็กได้ที่บ้านตลอด 24 ชั่วโมง อย่างคนที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ครอบครัวทุกคนจะใส่ใจกับการทำกิจกรรมบำบัดมากๆ ผู้ปกครองเองก็ต้องมั่นใจว่า ตัวเราเองสามารถทำได้ สิ่งหนึ่งที่จะฝากคือ พ่อแม่มีความรักอยู่แล้วเชื่อมั่นว่าจะรักษาให้หายได้" พญ.นภาพรกล่าว

นพ.สมอาจกล่าวว่า การบำบัดรักษาผู้ป่วย ออทิสติกรายนี้ได้รับรายงานมาตลอด ในขั้นตอนการรักษาถึงแม้จะเป็นการรักษาผ่านโทรศัพท์ทางไกล ซึ่งทาง พญ.นภาพร และนางสมคิด ที่เป็นพยาบาล ก็จะรายงานให้ตนทราบความเคลื่อนไหวมาต่อเนื่อง ซึ่งการรักษาออทิสติกรายนี้ทำให้เกิดผลประจักษ์เป็นรูปธรรมได้ เป็นเรื่องที่น่ายินดี และสร้างความพึงพอใจให้กับญาติผู้ป่วยได้อีกจนถึงขั้นเดินทางมาจากต่างประเทศเพื่อพาลูกชายมาหาเรา เท่ากับการรักษาของ รพ. กาฬสินธุ์ ได้รับการยอมรับในการรักษาเด็กออทิสติกมากขึ้น ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลเองยินดีจะรับครอบครัวที่มีปัญหาด้านนี้ทุกราย สามารถปรึกษาหรือมารักษาที่โรงพยาบาลได้ตลอด

 

ที่มา : มติชน ฉบับวันที่ 18 พ.ค. 2555