ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

“ยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน”

ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก หรือไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับเรื่องของยาแก้หวัดสูตรนี้ ที่กลายเป็นประเด็นร้อนเขย่าแวดวงสาธารณสุขมาจนถึงวันนี้ ทั้งเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนทุกแขนงต่างเกาะติดสถานการณ์ชนิดแบบวันต่อวัน

เพราะนับตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เมื่อ นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ได้รับข้อมูลจากคณะกรรมการควบคุมยาของโรงพยาบาลอุดรธานี ว่ามีเภสัชกรลักลอบนำ ยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน ออกจากโรงพยาบาล จึงมีการสั่งสอบวินัยร้ายแรง และโรงพยาบาลอุดรธานีได้มีคำสั่งไล่ออกเภสัชกรคนดังกล่าวในที่สุด

แต่เรื่องไม่ได้จบเพียงแค่นั้น เพราะหลังจากถูกขยายผลไปในวงกว้าง ก็ยิ่งพบบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวพันและเกี่ยวข้องจำนวนมาก ไล่เรียงกันตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการโรงพยาบาลจนถึงเภสัชกรของโรงพยาบาล ทั้งในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ถึงขนาดที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต้องรับเรื่องยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนหายจากระบบโรงพยาบาลเข้าเป็นคดีพิเศษ

เพราะทาง ดีเอสไอ พบว่าการที่ยาแก้หวัดดังกล่าวหายไปจากโรงพยาบาลมีการทำเป็นขบวนการและที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือมีความเชื่อมโยงกับกระบวนการผลิตยาเสพติดเนื่องจากยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนสามารถนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดได้

ยิ่ง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ออกโรงยืนยันชัดเจนว่าต้องการที่จะจับ “ปลาใหญ่” ของขบวนการนี้ ไม่ต้องการได้แค่ “ปลาซิวปลาสร้อย” ก็ยิ่งทำให้สาธารณชนสนใจกันอย่างยิ่งว่า “ปลาใหญ่” ที่พูดถึงคือเป็นใคร

หันมาในส่วนของ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็มีการสั่งตรวจสอบบัญชีการใช้ยาดังกล่าวของโรงพยาบาลในสังกัด สธ. ทุกแห่ง โดยเมื่อพบที่ใดมีความผิดปกติ ก็จะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและหากพบว่ามีมูลก็จะเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาช่วยราชการที่กระทรวง เพื่อตั้งคณะกรรมการสอบวินัยทั้งร้ายแรงและไม่ร้ายแรง

จวบจนถึงวันนี้มีบุคลากร สธ.ที่ถูกเรียกมาช่วยงานยังส่วนกลางทั้งสิ้น 14 ราย จาก 8 โรงพยาบาล ประกอบด้วย 1.ผอ.รพ.อุดรธานี 2.หัวหน้าเภสัชกร รพ.อุดรธานี 3.ผอ.รพ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ 4.เภสัชกร รพ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ 5. ผอ.รพ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ 6.เภสัชกร รพ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ 7.เจ้าพนักงานเภสัชกร รพ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ 8.ผอ.รพ.ฮอด จ.เชียงใหม่ 9.เภสัชกร รพ.ฮอด จ.เชียงใหม่ 10.เจ้าพนักงานเภสัชกร รพ.ฮอด จ.เชียงใหม่ 11. เภสัชกร รพ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ 12.ผอ.รพ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ 13. เภสัชกร รพ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ และ 14.ผอ.รพ.เสริมงาม จ.ลำปาง ซึ่งผลการสอบสวนในส่วนวินัยไม่ร้ายแรงจะรู้ผลภายในเดือน พ.ค.นี้ ส่วนวินัยร้ายแรงจะรู้ผลในเดือน มิ.ย. 2555

และขณะที่ทั้งดีเอสไอและกระทรวงสาธารณสุข กำลังเร่งเครื่องกับกระบวนการสืบหาผู้กระทำความผิดที่แท้จริงในเรื่องนี้ ยังมีงานอีกส่วนหนึ่งที่ต้องเดินหน้าควบคู่กันไปด้วย นั่นคือมาตรการที่จะควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก

โดยมาตรการในการควบคุมยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะเป็นแกนหลักในการวางมาตรการควบคุม ซึ่งที่จริงมาตรการควบคุมยาแก้หวัดสูตรนี้ มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2548 เป็นต้นมา เริ่มจากการห้ามผู้แทนจำหน่ายขายส่งยาให้กับบุคคลที่ไม่ใช่ผู้รับใบอนุญาตขายยา หรือผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล สัตวแพทย์ และห้ามขายปลีกยานี้เกินกว่า 60 เม็ดต่อผู้ป่วย 1 ราย รวมทั้งควบคุมจำนวนการนำเข้าซูโดอีเฟดรีนจากต่างประเทศเพื่อนำมาผลิตยาอยู่ที่ 35,000 กิโลกรัมต่อปี

แต่นั่นไม่ได้ทำให้ขบวนการผลิตยาเสพติดลดละความพยายาม เพราะยังคงมีการนำยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนไปผลิตยาเสพติดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทาง อย.ต้องประกาศยกระดับให้ยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน ทุกสูตร ยกเว้นสูตรผสมพาราเซตามอล จาก “ยาอันตราย” เป็น “ยาควบคุมพิเศษ” จำหน่ายได้เฉพาะในสถานพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลเอกชนประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน
จากมาตรการนี้เอง ที่น่าจะเป็นเหตุให้การรั่วไหลของยานี้เปลี่ยนจากร้านขายยาไปสู่โรงพยาบาลแทน เพราะการนำยาสูตรผสมพาราเซตามอล ไปผลิตยาเสพติดนั้น ยังมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่าการใช้ยาสูตรผสมอื่นๆ

สถานพยาบาลจึงกลายเป็นเป้าหมายหลักของขบวนการยาเสพติด

และนั่นทำให้ อย.ต้องใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดแบบจัดเต็มด้วยการยกระดับยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนทุกสูตรเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 2 ตาม พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 เช่นเดียวกับยาซูโดอีเฟดรีนสูตรเดี่ยว และห้ามมีจำหน่ายในร้านขายยาอย่างเด็ดขาด ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. โดยจะให้มียานี้ได้ในเฉพาะสถานพยาบาลของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนที่มีใบอนุญาตเท่านั้น ทั้งให้ร้านขายยาส่งคืนยาไปยังบริษัทผู้ผลิตตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.–3 พ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมทั้งลดจำนวนการนำเข้าซูโดอีเฟดรีนจากต่างประเทศเหลือเพียง 12,000 กิโลกรัม
นอกจากนั้น ยังออกมาตรการในการกำกับดูแลผู้ซื้อซึ่งประกอบไปด้วยสถานพยาบาลของรัฐสถานพยาบาลเอกชนและคลินิกที่มีใบอนุญาตครอบครอง หรือใช้ประโยชน์วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ที่ประสงค์จะใช้ยาดังกล่าว เมื่อวันที่ 5 พ.ค. กำหนดให้สถานพยาบาล คลินิกแต่ละแห่งต้องจัดทำแผนการซื้อยาและประมาณการจำนวนที่จะใช้ประจำปี ทั้งนี้ ในการจัดซื้อ ผอ.สถานพยาบาล คลินิก ต้องเป็นผู้ลงนามในใบสั่งซื้อยาซูโดอีเฟดรีนทุกสูตร

ทั้งกรณีที่เป็นคลินิก สามารถสั่งซื้อยาเม็ด หรือแคปซูลได้ไม่เกินเดือนละ 5,000 เม็ด/แคปซูล และยาน้ำขวดละ 60 มิลลิลิตรไม่เกิน 150 ขวด กรณีที่เป็นสถานพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลเอกชนที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน สามารถสั่งซื้อยาเม็ด หรือแคปซูลได้ไม่เกินเดือนละ 10,000 เม็ด/แคปซูล และยาน้ำซื้อได้ไม่เกิน 300 ขวด ขวดละ 60 มิลลิลิตร ทั้งนี้ สามารถส่งใบสั่งซื้อไปยังผู้ขาย ได้โดยตรง พร้อมแนบสำเนาใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมและสำเนาใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครอง หรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ทุกครั้ง กรณีสถานพยาบาล/คลินิกใด มีความจำเป็นต้องใช้ยาเกินจำนวนดังกล่าวให้ยื่นแผนการสั่งซื้อต่อ อย. เพื่อพิจารณาอนุมัติ

อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ทาง อย. ออกมานั้น น่าจะเป็นการแก้ปัญหาของยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนที่อยู่ในระบบเท่านั้น

ทีมข่าวสาธารณสุข คงต้องขอฝากความหวังไว้กับดีเอสไอ ให้สามารถสาวไปถึงต้นตอและจับกุมหัวหน้าใหญ่ของขบวนการที่ทำตัวเป็นไอ้โม่งจี้มาดำเนินคดีได้จริงๆ เสียที

เพราะหากสาวไปจนเจอ “ปลาใหญ่” แล้วต้องใส่เกียร์ถอยหลังกลับ และจับกุมแค่ “ปลาซิวปลาสร้อย” ย่อมหมายถึงมาตรการทางกฎหมายบ้านเมืองใช้ไม่ได้ผล ทางเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือ ประเทศไทยต้องเลิกใช้ยานี้

คนที่ต้องรับเคราะห์เต็มๆ คงหนีไม่พ้นประชาชนคนไทย ที่ต้องถูกปิดโอกาสการเข้าถึงยาดีๆ ไปอย่างน่าเสียดาย

ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 17 พ.ค. 2555