ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จวกยับ ธุรกิจบุหรี่ใช้ CRS ส่งเสริมการขาย มุ่งเป้าหมายเป็นเยาวชน “หมอประกิต” เสนอยุบ รง.ยาสูบ เหมือนตุรกี-ยูเครน ด้าน คร.เตรียมประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.ใหม่ มิ.ย.นี้

วันนี้ (17 พ.ค.) ที่โรงแรมสยามซิตี ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ แถลงข่าวเนื่องในวันงดสูบุหรี่โลก “รู้ให้ทันพ่อค้าบุหรี่” ว่า สำหรับวันงดสูบบุหรี่โลก ตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคม ปีนี้จะเน้นลดปัญหาการแทรกแซงของบริษัทบุหรี่ ผ่านการทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ CSR เนื่องจากจัดเป็นการส่งเสริมการขายอย่างหนึ่ง โดยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบหนักสุด ซึ่งบริษัทบุหรี่มุ่งไปที่เยาวชน เพื่อดึงให้เป็นลูกค้ารายสำคัญในอนาคต บ้างก็เป็นนักสูบหน้าใหม่ตั้งแต่เรียน เพราะกลุ่มนี้อยากรู้อยากลอง โดยข้อมูลที่ผ่านมา พบว่า โรงงานยาสูบ และบริษัทบุหรี่มุ่งการทำ CSR ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเข้าไปทำ CSR ในรูปแบบ สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ บ้างมาในรูปการบริจาคสิ่งของ เครื่องไม้เครื่องมือให้โรงเรียน และหน่วยราชการบางแห่ง ซึ่งขัดต่อมาตรา 5.3 อนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกที่ 174 ประเทศทั่วโลกได้ร่วมลงนามไว้

ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า อนุสัญญาในมาตรา 5.3 กำหนดให้จำกัดการติดต่อของเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้แทนบริษัทบุหรี่ให้เหลือเท่าที่จำเป็น ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมที่จัดโดยบริษัทบุหรี่ ห้ามรับบริจาค หรือบริการใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2555 ยังให้หน่วยงานราชการปฏิบัติตามแนวทางของกรอบอนุสัญญาดังกล่าว เพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายการควบคุมยาสูบของรัฐ โดยให้กระทรวงการคลัง ห้ามธุรกิจยาสูบทำกิจกรรมภายใต้นโยบาย CSR และให้กระทรวงวัฒนธรรม กรมประชาสัมพันธ์ และกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสารปรับปรุงกฎหมาย ห้ามการประชาสัมพันธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจยาสูบทางภาพยนตร์ โทรทัศน์และสื่อมวลชนต่างๆ เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ควรมีการดำเนินการอย่างจริงจังด้วย

ศ.นพ.ประกิต กล่าวอีกว่า บริษัทบุหรี่ใช้ CSR เป็นกลยุทธ์ลดทอนกระแสรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ และเป็นการผูกมิตรกับเยาวชน ชุมชน ผู้นำ ผู้กำหนดนโยบายต่างๆ และการสร้างชื่อเสียงให้บริษัทเป็นที่รู้จักของตลาด จัดเป็นวิธีสร้างความแข็งแกร่งให้ตัวผลิตภัณฑ์ ดังนั้น รัฐต้องเอาจริงกับเรื่องนี้ โดยควรมีการปรับปรุงกฎหมาย ซึ่งต้องยึดหลักอนุสัญญามาตรา 53 เป็นฐาน เพื่อแก้ไขเป็นประเด็นๆ เช่น ห้ามทำ CSR การกำหนดให้ทำซองบุหรี่แบบไร้สีสัน ซึ่งขณะนี้ประเทศออสเตรเลียดำเนินการแล้ว ต้องมีการปรับโครงสร้างทางภาษีให้ครอบคลุมทั้งหมด รวมทั้งยาเส้น ในส่วนโรงงานยาสูบ ไม่ควรเป็นของภาครัฐ เพราะกำไรที่ได้ไม่เท่ากับเก็บภาษีบุหรี่ โดยปี 2553 โรงงานยาสูบไทยมีกำไรสุทธิ 5,817 ล้านบาท ซึ่งผลกำไรนี้ไม่เท่ากับภาษีบุหรี่ที่ได้เป็น 5-6 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญ ผลกำไรนี้ยังแลกมากับการเสียชีวิตของนักสูบไทยถึง 31,786 คนในปี 2552 ดังนั้น ควรขายหรือยกเลิกเสีย ซึ่งปัจจุบันมีตูรกี ยูเครนและอีกหลายประเทศยกเลิกไปแล้ว เหลือเพียงกว่า 10 ประเทศที่ยังมีโรงงานยาสูบของรัฐ เช่น ไทย เวียดนาม จีน และประเทศแถบตะวันออกกลาง เป็นต้น

ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า การเพิ่มภาษีจะช่วยลดปัญหาบุหรี่เถื่อน หรือบุหรี่นำเข้ารูปแบบอื่นๆ ได้ ยิ่งขณะนี้มีบุหรี่เขมรเข้ามาขายจำนวนมาก ในราคาซองลง 25-30 บาท นอกจากนี้ ควรปรับปรุงกฎหมายในเรื่องการบังคับใช้ให้ดีขึ้น อย่างการห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ ปัจจุบันต้องจ่ายที่สถานีตำรวจ แต่ควรทำเป็นจ่ายค่าปรับตามใบสั่ง ทำคล้ายๆ ปรับรถยนต์ และไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจจับ แต่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ ซึ่งการดำเนินการต่างๆ จะช่วยลดสัดส่วนการสูบบุหรี่ที่ปัจจุบันพบมากในชายไทย ถึงร้อยละ 45 ขณะที่ฮ่องกงต่ำกว่า ร้อยละ 20 ออสเตรเลีย ร้อยละ 15 โดยจริงๆ แล้วต้องลดสัดส่วนคนสูบให้เหลือไม่ถึงร้อยละ 10 ด้วยซ้ำ หากลดการสูบบุหรี่ได้ ยังลดโอกาสเสี่ยงเกิดโรคต่างๆ โดยข้อมูลปี 2552 พบคนไทยเสียชีวิตจากบุหรี่ 48,244 ราย ในจำนวนนี้พบ 14,204 หรือร้อยละ 29.4 เสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี แต่ละคนที่เสียชีวิตอายุสั้นลง 12.1 ปี ส่วนใหญ่มาจากบุหรี่และพบว่าก่อให้เกิดโรคมะเร็งสูงสุดถึง 18,041 ราย รองลงมาเป็นโรคทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น

นายศิริชัย พรรณธนะ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาภารกิจกฎหมาย สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายมี พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 ซึ่งดูเรื่องธุรกิจยาสูบอย่างเดียว และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ดูเรื่องสุขภาพเป็นสำคัญ โดยทั้ง 2 ฉบับมียาวนานร่วม 20 ปีไม่มีการปรับปรุง ล่าสุดอยู่ระหว่างดำเนินการรวมทั้ง 2 ฉบับเป็นร่าง พ.ร.บ.ใหม่ คือ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.... โดยอยู่ระหว่างประชุมเนื้อหาสาระอีกครั้ง เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ ก่อนทำประชาพิจารณช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ คาดว่า จะดำเนินการในทุกกลุ่มอายุทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ สาระสำคัญจะเน้นเรื่องการควบคุมการทำ CSR เป็นต้น

น.ส.บังอร ฤทธิภักดี ผอ.เครือข่ายการควบคุมการบริโภคยาสูบอาเซียน กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ถึง 5.9 ล้านรายทั่วโลก ขณะที่ในปี 2553 กำไรสุทธิของบริษัทบุหรี่ 6 แห่งเท่ากับ 35,000 ล้านเหรียญ ซึ่งเท่ากับกำไรของบริษัทโค้ก ไมโครซอฟต์ และแม็คโดนัลรวมกันเสียอีก และในปี 2553 ยังพบว่า ผลกำไรรวมของบริษัทบุหรี่ทั่วโลกเท่ากับ 183,000 บาท ซึ่งกำไรดังกล่าวแลกมาจากการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ต่อทุกหนึ่งคน เห็นชัดว่าธุรกิจบุหรี่มุ่งกำไรเพียงอย่างเดียว และการทำCSR ก็มุ่งประโยชน์ไม่ได้ทำเพื่อสังคมอย่างแท้จริง ดังนั้น ขอให้รัฐบาลออกกฎหมายห้ามบริษัทบุหรี่ทำ CSR และองค์กรต่างๆต้องไม่รับการสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่ สื่อมวลชนต้องไม่เผยแพร่กิจกรรมของบริษัทบุหรี่ และเยาวชน สังคมไทยต้องรู้ทันเล่ห์