ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

หลังจากผ่านพ้นการเลือกเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จนได้ นพ.วินัย สวัสดิวร อดีตเลขาธิการ สปสช.ดำรงตำแหน่งอีก 1 สมัย นัยว่าเพื่อสานต่อนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของระบบสุขภาพไทย ทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ แต่ความเป็นจริงคงไม่ง่ายนัก...

เหตุเพราะช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดกระแสค้านมติ ครม.ซึ่งเห็นด้วยกับสำนักงบประมาณที่เสนอ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2556 ปรับลดค่าเหมาจ่ายรายหัวบัตรทองเหลือเพียง 2,755,60 บาทต่อคน ลดลงร้อยละ 5 จากที่ สปสช.เสนอ 2,939.73 บาทต่อคน ขณะที่ความเป็นจริงตั้งแต่มีกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะมีการปรับเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวทุกปี โดยขั้นต่ำจะเพิ่มร้อยละ 6

ประธานชมรมแพทย์ชนบท นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ นายกแพทยสภา ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ และ ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ล้วนเห็นพ้องต้องกันว่า การปรับลดงบเหมาจ่ายรายหัวจะส่งผลต่อระบบบริการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นแง่งบประมาณที่จะส่งผลต่อสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขาดสภาพคล่องรวมไปถึงส่งผลต่อระบบบริการ ซึ่งหากมีการปรับลดงบเช่นนี้ สุดท้ายระบบบัตรทองจะกลายเป็นระบบอนาถา ที่เป็นการให้บริการของคนชั้น 3 และยิ่งมีการสนับสนุนนโยบายเมดิคัล ฮับ ยิ่งจะทำให้ผู้ป่วยบัตรทองเป็นผู้ป่วยชั้น 4 ที่อาจได้รับการดูแลท้ายสุด

ขณะที่ผู้บริหารแวดวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่าการปรับลดงบเหมาจ่ายรายหัว กระทรวงสาธารณสุข ใน พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2556 จะเข้า ครม.สัญจร วันที่ 20 พฤษภาคมนี้ ก่อนเข้าสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 21-23 พฤษภาคม เรื่องนี้ดูเหมือนรัฐบาลไม่ได้เดินตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำอย่างที่ประกาศไว้เนื่องจากมีการเพิ่มงบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการอีกร้อยละ 5 คิดเป็น 66,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มว่าในปี 2556 จะเพิ่มเป็น 70,000 ล้านบาท ที่ขยายความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะผู้ป่วยบัตรทองจะได้รับการบริการท้ายสุด

"โดยเฉพาะปัญหาโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ขาดสภาพคล่อง ซึ่งขณะนี้เฉพาะไตรมาสแรกของปี 2555 มีงบเงินบำรุงในโรงพยาบาลสังกัด สธ.รวม 51,000 ล้านบาท ซึ่งหากงบเหมาจ่ายรายหัวน้อยลง หรือไม่เพียงพอก็ต้องมีการดึงงบส่วนนี้มาใช้ สุดท้ายงบจากเงินบำรุงไม่พอ ก็ต้องประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในที่สุด รัฐบาลจึงต้องพิจารณาและเดินอย่างถูกทางไม่ใช่หลงทิศทาง จะลดความเหลื่อมล้ำหรือขยายความเหลื่อมล้ำกันแน่ยิ่งขณะนี้มีข่าวว่ารัฐบาลจะตึงงบเหมาจ่ายรายหัวให้คงที่ 3 ปี เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แต่กลับไปเพิ่มงบข้าราชการตรงนี้คนในแวดวงสาธารณสุขรู้สึกกังวล และไม่เข้าใจทิศทางของรัฐบาลจริงๆ"  ผู้บริหารแวดวงสาธารณสุขกล่าวด้าน ศ.คลินิก นพ.อำนาจ เห็นด้วยกับการปรับเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัว เนื่องจากปัจจุบันการกระจายเงินก็ยังมีปัญหา โดยเฉพาะโรงพยาบาล สธ.ที่มีปัญหาขาดทุน หากงบดังกล่าวน้อยลง ปัญหาขาดทุนก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นแน่นอน ขณะเดียวกันโรงพยาบาลเอกชนก็จะไม่เข้าร่วมในเครือข่ายบัตรทอง เพราะไม่คุ้มทุนจะหันไปหาประกันสังคมสิทธิสวัสดิการข้าราชการเพิ่มขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลคำนึงถึงประเด็นนี้ และขอให้มีการปรับงบส่วนนี้เพิ่ม ส่วนค่ารักษาข้าราชการหากควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาได้ก็จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายตรงนี้

ขณะที่นายนิมิตร์ มองว่า ต้องให้ชัดเจนก่อนว่าการลดงบครั้งนี้มีการแยกเงินเดือนบุคลากร แยกอัตราเงินเฟ้อ ออกมาแล้วหรือไม่ ตรงนี้ต้องมีรายละเอียดให้ชัดเจน แต่จนถึงขณะนี้ไม่มีตัวเลขดังกล่าว ซึ่งหากไม่มีการแยกตัวนี้ไว้ถือว่าไม่ถูกต้องที่สำคัญหากมีการเพิ่มงบในส่วนสวัสดิการข้าราชการจริง และมีแนวโน้มจะเพิ่มอีกในอนาคตตรงนี้ก็น่าคิด เพราะดูจะสวนทางกับนโยบายที่ผ่านมาที่บอกชัดว่า จะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของสาธารณสุขไทยดังนั้น รัฐบาลต้องชัดเจนเรื่องนี้ต้องออกมายืนยันหนักแน่นเลยว่าจะเดินหน้านโยบายสาธารณสุขอย่างไรกันแน่ หากจะลดความเหลื่อมล้ำจริงต้องแสดงให้เห็นอย่างไรก็ตาม หากสุดท้ายมีการปรับลดงบเหมาจ่ายรายหัวจริง โดยไม่มีเหตุผลเพียงพอแล้ว ภาคประชาสังคมและประชาชนทุกคนคงทำได้เพียงจำไว้และขอให้จำให้แม่นว่า พรรคที่เลือกเข้าไปเป็นรัฐบาลให้ความสำคัญกับสาธารณสุขคนไทยอย่างไร

ส่วน นพ.วินัยที่เพิ่งได้รับตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.สมัยที่ 2 บอกว่า จริงๆ แล้วงบเหมาจ่ายรายหัวยังไม่สิ้นสุด เพราะที่ผ่านมาเป็นการเสนอโดยสำนักงบประมาณ โดยเสนอเป็นงบประมาณประจำปี 2556 และมีงบเหมาจ่ายรายหัวรวมอยู่ด้วย ซึ่งโดยกฎหมายของ สปสช.กำหนดชัดว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จะต้องเป็นผู้เสนอให้ ครม.พิจารณางบเหมาจ่ายรายหัวเอง ซึ่งเรื่องนี้นายวิทยาไม่ได้นิ่งนอนใจเตรียมเสนอเรื่องอีกครั้งเช่นกัน

งานนี้คงต้องรอดูความจริงใจจากรัฐบาลว่าจะลดความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขอย่างไรส่วนเลขาธิการ สปสช. ก็คงเอาใจช่วยในการบริหารงานด้วยงบประมาณจำกัด ว่า จะทำอย่างไรให้คุณภาพการบริการดีขึ้นและไม่ต้องเจอปัญหาโรงพยาบาลขาดทุนเหมือนปีก่อนๆ อีกปัญหาท้าทายที่น่าติดตามจริงๆ

 

ที่มา: นสพ.มติชนวันที่ 19 พ.ค.55