ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในแต่ละปีจำนวนผู้พิการร่างกายมีมากขึ้นเรื่อยๆ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้ให้การสนับสนุนงบประมาณครอบคลุมทั้งการจัดบริการเพื่อให้กลุ่มผู้พิการเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง ทั้งในด้านการฟื้นฟูสภาพ  การรับเครื่องช่วยของคนพิการ รวมทั้งจัดงบประมาณสนับสนุนให้หน่วยบริการ/องค์กรคนพิการ ได้นำมาพัฒนาเพื่อสร้างกระบวนการพัฒนาที่มีส่วนร่วมของภาคีในพื้นที่ พร้อมทั้งกระจายอำนาจและบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบไปยังส่วนภูมิภาคหรือพื้นที่ ด้วยการสนับสนุนงบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ให้กับกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นด้านสุขภาพระดับจังหวัด มีลักษณะเป็นกองทุนร่วม (Matching Fund) ระดับจังหวัด เพื่อให้คนพิการ ผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะฟื้นฟูในชุมชนได้รับบริการการดูแล และช่วยเหลือครอบคลุมในทุกมิติ  ในเขตพื้นที่ “ร้อยแก่นสารสินธุ์” มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 2 แห่ง ร่วมจัดตั้งกองทุนแล้ว คือ อบจ.ร้อยเอ็ด และ อบจ.กาฬสินธุ์

โครงการนำร่องผลิตขาเทียมใต้เข่า เป็นหนึ่งในโครงการที่เกิดจากความคิดริเริ่มของทีมงานฟื้นฟูสมรรถภาพ 4 จังหวัด ร้อยแก่นสารสินธุ์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อการให้บริการผู้พิการในด้านกายอุปกรณ์ “ทั่วถึง ถึงที่ มีคุณภาพ” 

ทีมงานได้ออกหน่วยขาเทียมเคลื่อนที่ระยะที่ 1 วันที่ 17-18 พฤษภาคม 2555 โดยเลือก โรงพยาบาลกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ เป็นพื้นที่นำร่อง เพราะมีจำนวนผู้พิการที่ต้องได้รับขาเทียมจำนวนมาก โดยคาดว่าการออกหน่วยครั้งนี้จะทำขาเทียมได้ประมาณ  14 ข้าง

พญ.นฏา   จันทไทย หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ทีมงานที่มาช่วยกันทำขาเทียมในวันนี้ มาจากหลายวิชาชีพ ทั้งแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ช่างกายอุปกรณ์ที่มาจากหลายโรงพยาบาล ใน 4 จังหวัด “ร้อยแก่นสารสินธุ์” คือ จังหวัดกาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และขอนแก่น โดยผู้นำทีมคือ ทีมงานกายอุปกรณ์ กลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ซึ่งมีนวัตวรรม “ขาเทียมใต้เข่ารอรับได้เลยใน 1 วัน” จากปกติการทำขาเทียมจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน

 “ทีมงานช่างกายอุปกรณ์ นักกายภาพบำบัด และ แพทย์ จะมาช่วยกันวิเคราะห์ว่าขาเทียมเดิมที่ผู้พิการใช้มีจุดบกพร่องจากตรงไหน  เพราะปัญหาที่เกิดจากการใช้ขาเทียมจะมาจาก 2 ส่วน คือ จากตัวขาเทียมชำรุดจริงๆ  หรือขาเทียมไม่พอดีกับตอขาของผู้พิการ และปัญหาจากตัวผู้พิการเอง เช่น ท่าทางการเดิน การใช้งาน ส่วนที่สามารถแก้ไขได้คือ ส่วนที่เกิดจากขาเทียมไม่พอดี  ทางทีมช่างก็จะพยายามแก้ไขให้ใช้ได้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้” พญ.นฏาย้ำถึงกระบวนการทำงาน

นางบังอร  งามเสริฐ  อายุ 50 ปี ชาวบ้านสวนโคก  อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ หนึ่งในผู้มารับบริการทำขาเทียมใต้เข่า ระบุว่า เป็นเบาหวานมานานหลายปี เมื่อปี 2552 หลังเท้าพอง ช้ำ เป็นหนอง คิดว่าไม่เป็นอะไรมาก แต่แผลกลับลามไปเรื่อยๆ จนแพทย์โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ต้องตัดเท้าขวาจนถึงครึ่งแข้งออก เพื่อไม่ให้แผลลุกลาม หลังจากรักษาตัวในโรงพยาบาลกาฬสินธุ์นานถึง 2 เดือน ทางโรงพยาบาลได้ทำขาเทียมใต้เข่าให้และใช้มาเรื่อยๆ จนขาเทียมหลวม ใส่ไม่สบาย จึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ แพทย์จึงแนะนำให้มารับบริการทำขาเทียมที่โรงพยาบาลกมลาไสย

 “ดีใจที่ไม่ต้องไปรอทำขาเทียมที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เพราะทำที่นี่ใกล้บ้าน มาทำแล้วได้เลยในวันเดียว ไม่ต้องรอนาน ไม่ต้องไปกลับหลายครั้ง เสียค่ารถ ค่ากิน ถึงจะทำขาเทียมฟรีก็ตาม ทางทีมกายอุปกรณ์แนะนำว่าถ้ามีแผลถลอกบริเวณตอขาที่ต้องสวมกับขาเทียม ไม่ให้เอาสำลี หรือผ้าก๊อซมารองเพราะจะทำให้เกิดแรงกดมากขึ้น แผลก็จะใหญ่ขึ้น รักษายาก ก็จะเอาไปทำตาม” นางบังอรเล่า

ในขณะที่หลวงพ่อน้อย  โพนชัยแสง  เจ้าอาวาสวัดโพนงาม อ.กมลาไสย อายุ 67 ปี หนึ่งในผู้มาทำขาเทียมในวันนี้เล่าว่า ป่วยเป็นโรคเบาหวานและได้ถูกตัดเท้าจนถึงครึ่งแข้งขาข้างซ้ายเมื่อปี 2545 และได้ใช้ขาเทียมที่ทำเมื่อปี 2545 มาจนถึงทุกวันนี้  จนขาเทียมเดิมชำรุดจึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ทางโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ก็ได้แนะนำให้มารับการทำขาเทียมที่โรงพยาบาลกมลาไสย

หลวงพ่อน้อยเล่าว่า ขาเทียมอันแรกที่ทำนั้นหลวงพ่อต้องไปกลับโรงพยาบาล 2 ครั้ง เพื่อวัดและปรับแต่งขาเทียมให้ได้ขนาดเหมาะสม หลังจากนั้นก็รอประมาณ  2 สัปดาห์ จึงได้รับขาเทียมมาใช้  แต่พอมาที่นี่ก็มาวันเดียวทางช่างก็ทำเสร็จแล้ว ทันใจ ไม่ต้องรอนานเลย อยากให้ทำแบบนี้ตลอดไป เพราะมีญาติโยมอีกหลายคนที่หมู่บ้านหลายคนเป็นผู้พิการจากโรคเบาหวานจะได้ไม่ต้องรอนาน

นพ.อรรถพล โชติรัตนพิทักษ์  แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ระบุว่า สำหรับหลวงพ่อน้อยนั้นต้องทำขาเทียมใหม่  เพราะขาเทียมเดิมใช้มานานเกือบ 10 ปี จึงชำรุดมาก ซ่อมไม่ได้ แต่บางรายหากขาเทียมยังสามารถซ่อมได้ ทางช่างกายอุปกรณ์ก็จะช่วยปรับซ่อมให้เหมาะสมกับผู้พิการแต่ละราย ตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่าช่างกายอุปกรณ์ และแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู มีอยู่เฉพาะในโรงพยาบาลประจำจังหวัดบางแห่งเท่านั้น แต่จำนวนผู้พิการในแต่ละปีมีมากขึ้น ทั้งจากอุบัติเหตุ และภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานที่จำเป็นต้องตัดขาออก

ผลสำเร็จของโครงการนี้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องรอนาน เพราะมีทีมงานทั้งแพทย์ ทั้งนักกายภาพบำบัด ทีมช่างกายอุปกรณ์ จาก 4 จังหวัด มาทำขาเทียมให้ถึงในพื้นที่ ทำให้คนไข้ได้รับขาเทียมที่เหมาะสมกับตนเอง  และโครงการนี้ก็พร้อมจะขยายการดำเนินงานออกไปครอบคลุมทั่วพื้นที่ในอนาคต