ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ในงานรำลึก 19 ปีเคเดอร์ แรงงานปลอดภัยไร้แร่ใยหิน ที่สภาเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายสังคมไร้แร่ใยหิน (T-BAN) และแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นเพื่อเดินหน้าหาข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ ช่วยแรงงานที่ได้รับผลกระทบเร่งรัดให้ประกาศมาตรการยกเลิกใช้แร่ใยหิน

นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ เมื่อปี 2536 ทำให้มีแรงงานเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จึงกำหนดให้วันที่ 10 พ.ค. ของทุกปี เป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ จนถึงปัจจุบัน 19 ปีที่ผ่านมา พบว่าไทยมีนโยบายโครงสร้างกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานของแรงงาน แต่ยังไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย ที่สำคัญยังขาดงบประมาณและบุคลากร รวมทั้งแพทย์ พยาบาลด้านอาชีวอนามัยและวิศวกรเพื่อความปลอดภัยจากการทำงาน ขณะที่เจ้าหน้าที่ของภาครัฐมีอยู่จำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับโรงงาน 170,000 แห่ง มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐเพียง 600 คน ในจำนวนนี้มีผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ ไม่ถึง 40 คน ทำให้การตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของโรงงานมีเพียงรายงานในกระดาษแต่ไม่มีการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบอย่างทั่วถึง

ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยกล่าวว่า แรงงานแถวชลบุรี ระยองประสบอันตรายจากอุตสาหกรรมหนัก บางรายเสียชีวิต เมื่อเจรจาขอค่าชดเชยจากนายจ้างไม่ได้ ต้องฟ้องศาล ซึ่งมีอยู่หลายคดี ส่วนแถบนครปฐมแรงงานประสบปัญหาเรื่องฝุ่นฝ้าย ฝุ่นจากใยสังเคราะห์ ฝุ่นของโรคเซรามิก เป็นสารที่มาจากเซรามิก มีความรู้สึกว่าสถานการณ์การเจ็บป่วยของคนงานไม่ได้รับการส่งต่อไปยังคลินิกโรคจากการทำงาน ส่วนใหญ่จะเลยไปใช้สิทธิประกันสังคม การวินิจฉัยจากประกันสังคมจะระบุว่าการเจ็บป่วยไม่ใช่เนื่องจากการทำงาน ทำให้คนงานเสียสิทธิเมื่อรักษาไปจนสิ้นสุด

"ยังพบปัญหาว่าเจ้าหน้าที่ทั้งของสำนักงานประกันสังคมและกองทุนทดแทนไม่มีความรู้เรื่องของสารเคมี ทำให้ไม่สามารถสอบประวัติคนไข้ได้ และไม่เคยมีประสบการณ์ในการเข้าโรงงาน มองว่า 19 ปีไม่มีอะไรดีขึ้น น่าจะเพิ่มบุคลากรสาขาอาชีวเวชศาสตร์ มีการตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ผลิตพยาบาล มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ แก้ปัญหาจากต้นเหตุ ทำงานวิจัยเชิงรุกต่อ"

ด้านนพ.อดุลย์ บัณฑุกุล สมาพันธ์อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบกว่า 100 ประเภท และยังมีแร่ใยหินที่จะได้รับการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างอีกมาก ซึ่งสมาพันธ์อาชีวอนามัยฯ จะประสานความร่วมมือแพทย์ พยาบาล ทุกระดับ และพยาธิแพทย์ เพื่อเก็บข้อมูล ค้นหาผู้ป่วยจากแร่ใยหิน โดยการซักประวัติผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดว่ามีประวัติการทำงานอะไร ให้นำไปสู่การรวบรวมข้อเท็จจริงเป็นหลักฐานทางการแพทย์ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายที่ชัดเจนต่อไป

"แม้ว่าครม.มีมติเห็นชอบห้ามนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์ แต่ปัจจุบันมีผู้ผลิตกระเบื้องรายใหญ่เพียง 2 รายเท่านั้นที่ประกาศเลิกใช้แร่ใยหิน ซึ่งกลุ่มคนงานก่อสร้างถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยจากแร่ใยหิน แต่ในประเทศไทยการพิสูจน์โรคว่าเกิดจากการทำงานทำได้ยากมาก เนื่องจากไทยมีแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์น้อยมาก หากเจ็บป่วยแพทย์จะลงความเห็นว่าเป็นมะเร็งปอด โดยไม่มีการพิสูจน์ต่อ ทำให้แรงงานเหล่า นี้ต้องเจ็บป่วยโดยที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือใด เพราะผู้ประกอบการมักอ้างว่าไม่สามารถพิสูจน์ได้จริงว่าเกิดจากการทำงานในช่วงที่เป็นลูกจ้างของตน เนื่องจากช่วงเกิดโรคแรงงานส่วนใหญ่จะมีการย้ายการทำงานไปแล้ว รัฐบาลจึงจำเป็นต้องจริงจังกับการแก้ปัญหา" พุทธิ เนติประวัติ สหพันธ์แรงงานก่อสร้างและคนทำไม้แห่งประเทศไทยบอกเล่า

องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์กรนานาชาติการวิจัยมะเร็ง (IARC) และองค์กรสากล (ILO) ชี้ชัดว่า ใยหินไครโซไทล์ สามารถก่อมะเร็งเยื่อหุ้มปอด มะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียง แร่และมะเร็งรังไข่ ปัจจุบันมีประเทศที่ยกเลิกการใช้แร่ใยหินแล้วประมาณ 53 ประเทศ รวมทั้งประเทศที่มีเหมืองแร่ใยหินเอง ทั้งนี้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบของวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ อาทิ กระเบื้องมุงหลังคา วัสดุอุดผนัง รอยแตกผนัง แผ่นผนังซีเมนต์กันความร้อน ฉนวนกันความร้อนบนหลังคา ผนังฉนวนกันความร้อน ไวนิลปูพื้น ฝ้าเพดาน สีทารองพื้นผนัง อุปกรณ์ทำความร้อน หม้อน้ำ ท่อส่งน้ำ ผ้าเบรก ประเกน คลัตช์ ตู้เย็น เครื่องอบผ้า เครื่องอบผม เครื่องเป่าผม ขณะที่ครม.มีมติเมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2554 และมติสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 3 ให้ยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน

อย่างไรก็ตามกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อแร่ใยหินมากที่สุดคือคนงาน โดยเฉพาะคนงานในธุรกิจก่อสร้างที่ต้องเลื่อย ตัด เจาะ กระเบื้อง เมื่อเกิดฟุ้งกระจายสารอันตรายจะเข้าสู่ปอดได้ง่าย ขณะที่ผู้อาศัยอยู่ในอาคารบ้านเรือนที่มีวัสดุเป็นแร่ใยหิน เมื่อของเหล่านี้แตกหักก็จะหายใจเข้าไปกลายเป็นมะเร็งได้ในที่สุด แม้จะใช้เวลายาวนานนับสิบ ปีก็ตาม

น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคกล่าวว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้มีบริษัทผู้ผลิตกระเบื้องรายใหญ่พาสื่อไทยไปดูงานอุตสาหกรรมแร่ใยหินที่รัสเซีย ให้ข้อมูลตรงข้ามกับนักวิชาการทั่วโลกว่า แร่ใยหินมีความปลอดภัย ขณะที่บริษัทในภาคธุรกิจก่อสร้างในประเทศเกิน 80 เปอร์เซ็นต์หันไปใช้วัสดุอื่นแทนแร่ใยหิน แต่มีบริษัทกระเบื้องยักษ์ใหญ่ 3 ราย ยังจำหน่ายกระเบื้องที่มีแร่ใยหินอยู่ เพราะขณะนี้มติครม.ยังไม่มีผลบังคับใช้ โยนให้กระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปจัดการแต่ภาคอุตสาหกรรมใช้วิธีชะลอ ซึ่งเท่ากับสร้างความไม่เป็นธรรมกับบริษัทที่หยุดจำหน่ายและนำเข้าแล้ว ในภาคของสหพันธ์ฯต้องเดินหน้าให้มตินี้มีผลบังคับใช้มากกว่าจะเป็นเพียงตัวหนังสือในแผ่นกระดาษ

"เจตนาที่พาสื่อไปดูช่วงนี้ บริษัทน่าจะทำให้กับมติครม. ซึ่งขณะนี้ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่นำเข้ากระเบื้องไว้เยอะมาก คิดว่าน่าจะกักตุน เรามองว่าธุรกิจพวกนี้มุ่งเอาเปรียบสังคม มุ่งแต่จะรวยอย่างเดียวไม่สนใจคนอื่น เถียงอย่างเดียวว่าไม่อันตราย คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองเข้ามา เพราะมติที่ออกมาเป็นคนละรัฐบาลกัน จึงยังไม่มีผลบังคับใช้" ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าว

อย่างไรก็ตามแม้การเผยแพร่อันตรายของแร่ใยหินจะถูกพูดถึงในสื่อเป็นระยะแต่มีชาวบ้านส่วนมากที่ยังไม่ทราบพิษภัยของแร่ใยหินเพราะการแสดงอาการของโรคใช้เวลา ดังนั้นการหยุดการนำเข้าเท่ากับสร้างความปลอดภัยอย่างสูงสุดในสภาพของสังคมปัจจุบันที่ความรู้อยู่ไกล ความตายอยู่ใกล้มาก

 

ที่มา : เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 20 พ.ค. 2555