ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รมว.สธ.เข้ม สั่งการ !! หน้าฝนปีนี้ต้องเฝ้าระวังไข้เลือดออกอย่างเต็มที่คร.ขานรับแม้พบผู้ป่วยเพียง 1 รายต้องควบคุมโรคให้ได้ใน 24 ชั่วโมง

ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้พบยอดผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมเกือบ 9,000 ราย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการ!!หน้าฝนปีนี้ ให้กรมควบควบคุมโรค เตรียมพร้อมเฝ้าระวังป้องกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง อย่าง เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเช่น นักท่องเที่ยวต่างชาติ แรงงานข้ามชาติ หรือแรงงานเพื่อนบ้าน ที่เข้ามาท่องเที่ยวหรือมาประกอบอาชีพ ด้านกรมควบคุมโรคขานรับ เดินหน้าทั้งการรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย การให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อป้องกันตนเอง พร้อมออกมาตรการเข้ม!! ให้ สคร.ทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ เฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ย้ำ!!หากพบผู้ป่วยไข้เลือดออกแม้เพียง 1 รายต้องควบคุมโรคให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในช่วง 4 เดือนแรกของปี2554 ตั้งแต่ 1 มกราคม - 10 พฤษภาคม 55 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมทั่วประเทศ จำนวน 8,934 ราย หรืออัตรา 13.99 ต่อประชากรแสนคน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 9 ราย ที่จังหวัดราชบุรี สมุทรสงคราม ชลบุรี ภูเก็ต ระนอง นครราชสีมา และกรุงเทพฯ เมื่อแยกเป็นรายภาคพบว่าภาคกลางมีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุด 4,508 ราย รองลงมาคือภาคใต้ 2,225 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,185 ราย และภาคเหนือ 1,016 ราย ตามลำดับ

เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงปลายเดือน พฤษภาคมซึ่งกำลังจะย่างเข้าสู่ฤดูฝน เป็นช่วงที่สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงมีทั้งร้อน มีทั้งฝนตกชื้นแฉะ ในหลายๆพื้นที่ ทำให้มีแอ่งน้ำขังหรือมีน้ำขังอยู่ตามเศษวัสดุ เศษภาชนะต่างๆ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อย่างดีของยุงลายพาหะของเชื้อโรคไข้เลือดออก เกรงว่าจะทำให้ประชาชนเสี่ยงป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้ง่าย และอาจทำให้ผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงซึ่งได้แก่ เด็ก สตรีผู้สูงอายุ และผู้พิการ รวมถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น นักท่องเที่ยวต่างชาติ แรงงานข้ามชาติ หรือแรงงานเพื่อนบ้าน ที่เข้ามาท่องเที่ยวหรือมาประกอบอาชีพในประเทศไทย ซึ่งมีโอกาสเจ็บป่วยและแพร่เชื้อโรคได้ ด้วยความเป็นห่วงสุขภาพของประชาชนจึงมอบหมายให้กรมควบคุมโรค ดำเนินการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรคไข้เลือดออกเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดขึ้น

นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า หลังจากที่ได้รับมอบหมายจากนาย วิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกรมควบคุมโรคได้มีการสั่งการไปยังสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั่วประเทศทั้ง 12 เขต ให้มีการประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว(SRRT)ลงพื้นที่ และได้กำชับว่าหากมีรายงานพบผู้ป่วยแม้เพียงรายเดียว หรือพบข้อมูลต้องสงสัยว่าอาจมีการแพร่ระบาดของโรคเกิดขึ้น ต้องควบคุมโรคให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง และให้แต่ละพื้นที่ทำการรณรงค์ให้ประชาชนทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนให้ชุมชนทุกแห่งจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปริมาณยุงลายให้มากที่สุด และทำลายลูกน้ำยุงลายพ่นสารเคมีฆ่ายุงตัวแก่ภายในบ้านและรอบบ้านผู้ป่วยในรัศมี 100 เมตร และพ่นซ้ำในอีก 7 วัน

ทั้งนี้จากรายงานพบว่าผู้ที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก แต่ผู้ป่วยที่เสียชีวิตทั้ง 9 รายนั้นในจำนวนนี้เกินครึ่ง (5 คน) มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาการของโรค คิดว่าเป็นอาการไข้โดยทั่วไป จึงปล่อยไว้จนอาการหนักแล้วถึงมาพบแพทย์ ทำให้การรักษาไม่ทันเวลาจนเป็นเหตุให้เกิดการเสียชีวิตดังกล่าว และถ้าประชาชนมีข้อสงสัยเรื่องโรคไข้เลือดออก สามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 “ไข้เลือดออก”เป็นโรคที่ติดต่อกันได้โดยมียุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกกัด ซึ่งยุงลายจะกัดในเวลากลางวัน โรคนี้จะมีระยะฟักตัวของเชื้อประมาณ 8-12 วัน ดังนั้นผู้ที่ถูกยุงกัดโดยเฉพาะผู้ใหญ่หากมีอาการดังต่อไปนี้ให้สงสัยไว้ก่อนว่าท่านป่วยเป็นไข้เลือดออก คือ หลังถูกยุงกัด ประมาณ 5-8 วัน แล้วมีไข้สูงมากๆติดต่อกัน 2-7 วัน ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อ ครั่นตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูก ไม่ไอและไม่มีน้ำมูกไหลเหมือนไข้หวัด แต่มีผื่นหรือจุดแดงๆ ขึ้นที่ใต้ผิวหนัง หลังไข้ลดลงแล้ว ตัวเย็น รู้สึกเพลียมากๆเบื่ออาหาร ซึมและคลื่นไส้อาเจียน แบบนี้จะทำให้เกิดภาวะช็อคและเสียชีวิตได้ ต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคและทำการรักษาทันที ถ้าโรคนี้เป็นในเด็กเล็กผู้ปกครองต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะเด็กยังไม่สามารถบอกอาการตัวเองได้ ควรใช้วิธีสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เช่นหลังให้กินยาพาราเซตามอลหรือเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเพื่อลดไข้แล้ว ภายใน 2 วันไข้ยังไม่ลด หรือเด็กร้องกวนมาก ไม่กินนม ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเด็กอาจป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาอย่างทันท่วงที และที่สำคัญการให้ยาลดไข้ ต้องใช้ยาพาราเซตามอลเท่านั้น ห้ามใช้ยาแอสไพรินอย่างเด็ดขาด เพราะถ้าป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกซึ่งมีเลือดออกในอวัยวะภายในอยู่แล้ว เนื่องจากแอสไพรินมีคุณสมบัติต้านการแข็งตัวของเกร็ดเลือด จะทำให้มีเลือดออกมากขึ้น เลือดหยุดยากและอาจทำให้เสียชีวิตได้ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

ด้านนายแพทย์วิทยา หลิวเสรี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.เชียงใหม่ ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือตอนบนรวม 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน กล่าวว่าในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2555 (ระหว่างวันที่ 6-12 พฤษภาคม 2555) ที่ผ่านมาพบมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากกว่าปกติใน 2 จังหวัด คือ เชียงราย และ แพร่ เนื่องจากเริ่มมีฝนตกและอาจ ทำให้มีน้ำขังในหลายพื้นที่ รวมทั้งการที่ประชาชนมีการกักเก็บน้ำไว้เพื่อการเพาะปลูก แหล่งกักเก็บน้ำอาจกลายเป็นที่เพาะพันธุ์อย่างดีของยุงลายพาหะของโรคไข้เลือดออกได้

ถึงแม้ภาคเหนือจะไม่ใช่พื้นที่ ที่มีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากที่สุด โดยมีรายงานผู้ป่วยรวมทั้งภาคจำนวน 1,016 ราย แต่ในฐานะที่รับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและได้รณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในพื้นที่มาแล้วอย่างต่อเนื่อง โดยเร่งรัดการรณรงค์ในมาตรการ 3 ร (โรงเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล) คือ เร่งป้องกันและควบคุมโรคในโรงเรือน(ที่อยู่อาศัย) โรงเรียน และโรงพยาบาล พร้อมทั้งรณรงค์สร้างพฤติกรรมและค่านิยมทางสังคมร่วมกันเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยใช้มาตรการ 5 ป(ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับปรุง และปฏิบัติจนเป็นนิสัย) ตามนโยบายของกรมควบคุมโรค เน้นมาตรการด้านการป้องกันโรคและมาตรการควบคุมการระบาดของโรค ได้แก่ สำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้านและบริเวณรอบบ้าน เลือกใช้วิธีการต่าง ๆร่วมกันตามความเหมาะสม เช่น การปกปิดภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิด การหมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำ การใส่ปลากิน ลูกน้ำ การใส่สารเคมีฆ่าลูกน้ำ เป็นต้น ซึ่งจะเน้นการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องทั้งในระยะที่เป็นลูกน้ำ ตัวโม่ง และระยะที่เป็นตัวเต็มวัย และยังใช้การฉีดพ่นยาฆ่าแมลงแบบพ่นหมอกควันหรือพ่นฝอยละออง เพื่อช่วยลดความชุกชุมของยุง ซึ่งเป็นวิธีควบคุมยุงลายที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ให้ผลระยะสั้นเหมาะสำหรับช่วงที่เกิดการระบาดของโรคเท่านั้น เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงต้องใช้เครื่องพ่นที่เหมาะสม และต้องปฏิบัติโดยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญเท่านั้น การแนะนำให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัดควบคู่ไปกับการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายจึงเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด

ด้านนายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของจังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 – วันที่ 10 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 20 คน แต่ยังไม่พบผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่อยู่ในวัยเรียน อีกทั้งยุงลายชอบออกหากินเวลากลางวัน ตั้งแต่เช้าจนถึงพลบค่ำ เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงที่สถานศึกษาเริ่มเปิดภาคเรียน จึงขอความร่วมมือ และขอแนะนำให้สถานศึกษา ทุกแห่งร่วมกันป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนในสถานศึกษาป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ด้วยการปฏิบัติ 5 ป. คือ ปิดภาชนะที่ใช้เก็บน้ำให้สนิท ไม่ให้ยุงเข้าไปวางไข่ หรือสำรวจลูกน้ำยุงลายในห้องน้ำทุก 7 วัน , เปลี่ยนน้ำในแจกันทุก 7 วัน ,ปล่อยปลากินลูกน้ำในอ่างบัว เช่น ปลาหางนกยูง , ปรับปรุงสภาพแวดล้อม กำจัดขยะที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และปฏิบัติจนเป็นนิสัย หากร่วมกันปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จะช่วยแก้ปัญหาการระบาดของโรคไข้เลือดออกได้