ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผู้สูงอายุและญาติ พึงพอใจโครงการ 70 ปีไม่มีคิว  ในระดับดีถึงดีมากถึงร้อยละ 92 เนื่องจากได้พบหมอเร็วกลับบ้านเร็วกว่าเดิม  เฉลี่ยใช้เวลาบริการเพียง 1 ชั่วโมงครึ่ง โดยพบว่าอัตราการใช้บริการของผู้สูงอายุในแผนกผู้ป่วยนอกและใน สูงกว่ากลุ่มวัยอื่นถึง 2 เท่าตัว

วันนี้ (22 พฤษภาคม 2555)  นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์คำรณ ไชยศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง   เดินทางไปที่โรงพยาบาลสุรินทร์ มอบรถเข็นนั่งให้ผู้พิการ 40 คัน รถโยก 25 คัน และอุปกรณ์เครื่องช่วยสำหรับผู้พิการ 300 ชิ้นให้แก่ผู้พิการ เยี่ยมและมอบของขวัญให้ผู้สูงอายุ 100 ปีขึ้นไปจำนวน 2 คน จากนั้นเดินทางไปที่หอประชุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เพื่อเปิดประชุมสัมมนาพัฒนาศักยภาพ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านของจังหวัดสุรินทร์ ในการแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชนในหมู่บ้าน และเดินทางไปโรงพยาบาลอุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ เพื่อติดตามนโยบายการให้บริการ 70 ปีไม่มีคิว ซึ่งเริ่มให้บริการพร้อมกันในโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นมา  

นายวิทยา กล่าวว่า จากการรับฟังการดำเนินงานจัดบริการตรวจรักษาผู้สูงอายุที่แผนกผู้ป่วยนอก ตามนโยบายทางด่วน 70 ปีไม่มีคิวทุกจุดบริการของโรงพยาบาลอุทุมพรพิสัย พบว่าก้าวหน้าสามารถปฏิบัติได้จริง จากการประเมินผลในรอบเกือบ  2 เดือนมานี้ พบว่าผู้สูงอายุและญาติพอใจบริการในระดับดีถึงดีมากสูงถึงร้อยละ 92 เนื่องจากได้พบแพทย์ตรวจรักษาเร็ว รับยาและกลับบ้านเร็วกว่าเดิม จากที่เคยไปใช้บริการเฉลี่ยกว่า 2 ชั่วโมง   ลดลงเหลือ 1 ชั่วโมงครึ่ง ช่วยให้ญาติที่พาผู้สูงอายุไปตรวจไม่ต้องเสียเวลารอนาน 

นายวิทยา กล่าวต่อว่า นโยบายของรัฐบาลในช่วงระยะเวลา 4 ปีนี้ เน้นการพัฒนาสุขภาพของประชาชนตั้งแต่ตั้งครรภ์ วัยเด็ก วัยเจริญพันธุ์ วัยบรรลุนิติภาวะ วัยชรา และผู้พิการ และเสริมสร้างให้ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะต่าง ๆ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่งปรับปรุงอาคารสถานที่ทั้งห้องน้ำ ทางลาด ที่จอดรถให้ผู้สูงอายุและผู้พิการใช้ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย  อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้สูงอายุไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจะเน้นเรื่องการดูแลสุขภาพทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยเฉพาะโรคสมองเสื่อม ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศสำรวจคัดกรองเพื่อให้การดูแลอย่างเหมาะสม

ทางด้าน นายแพทย์คำรณ ไชยศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ข้อมูลจากการวิเคราะห์การให้บริการสุขภาพกับกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ของสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพในปี 2553 ภายใต้  3 กองทุนภาครัฐคือ ประกันสังคม ประกันสุขภาพ และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ พบอัตราการใช้บริการทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในของผู้สูงอายุ สูงกว่าวัยอื่น ๆ โดยมีอัตราการใช้บริการผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 6.2 ครั้งต่อคนต่อปี อัตราการใช้บริการผู้ป่วยในเฉลี่ย 0.23 ครั้งต่อคนต่อปี ซึ่งสูงกว่ากลุ่มวัยอื่น ๆ 2 เท่าตัว

โรคที่ทำให้ผู้สูงอายุนอนโรงพยาบาลมากที่สุดคือ โรคระบบการไหลเวียนโลหิตและโรคทางเดินหายใจ คาดการณ์ว่าในอีก 12 ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายสุขภาพของผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น 3.6 เท่าตัว จาก 63,000 ล้านบาทในปี 2553   เป็น 220,000 ล้านบาทในปี 2565  จะต้องเร่งพัฒนาระบบบริการและขยายการตรวจคัดกรองความเสี่ยง ในกลุ่มประชาชนตั้งแต่ยังไม่แสดงอาการป่วย เร่งรัดการจัดระบบบริการฟื้นฟูสุขภาพให้ต่อเนื่องหลังรักษาจนถึงในชุมชน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลที่ถูกต้อง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี