ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) แถลงหลังเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการสมัยที่ 2 ว่า สปสช.จะมุ่งขับเคลื่อน7 ยุทธศาสตร์สู่ทศวรรษที่ 2 เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กองทุน โดยหนึ่งในนั้นจะเสริมสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างกองทุนสุขภาพ เพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์และระบบบริการให้เท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ จะร่วมกันพัฒนากลไกการเงินการคลังและการเป็นหน่วยงานเบิกจ่ายกลาง หรือ Clearing House และร่วมกันพัฒนาการสื่อสารเพื่อให้ประชาชนทราบสิทธิและหน้าที่

สำหรับอีก 6 ยุทธศาสตร์ 1.เสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกและมาตรการคุ้มครองด้านประกันสุขภาพคุ้มครองประชาชนที่ไม่มีหลักประกัน ผู้ด้อยโอกาสในสังคม และผู้ที่มีหลักประกันภาครัฐอื่นๆ2.พัฒนากระบวนการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม 3.สนับสนุนการพัฒนาการบริการสาธารณสุขภายใต้ให้มีคุณภาพมาตรฐานทุกคนเข้าถึงได้ 4.ส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ 5.บริหารเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 6.เสริมสร้างและพัฒนาธรรมาภิบาล

ขณะที่ที่ประชุมร่วม 3 กองทุนสุขภาพ ประกอบด้วย สปสช. สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และสวัสดิการข้าราชการ เมื่อวันที่22 พ.ค.ที่ผ่านมาเห็นชอบในหลักการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี (เอดส์) และโรคไตวาย มาตรฐานเดียว แต่ยังมีชุดสิทธิประโยชน์ไม่ตรงกัน จึงมีมติให้ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ จัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมก่อนนำเข้าสู่การประชุมครั้ง

การให้บริการผู้ติดเชื้อเอดส์ที่ประชุมเห็นว่า ที่ผ่านมาผู้ป่วยกังวลเมื่อต้องเข้ารับการรักษา จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้อง อาทิ ผู้ป่วยต้องการรับการรักษาที่เป็นความลับ ก็ต้องมีระบบทะเบียนผู้ป่วยที่ไม่เปิดเผยตัว ขณะนี้ สปสช.และ สปส.มีแล้ว แต่เป็นคนละฐานข้อมูลนอกจากนี้ ผู้ป่วยต้องการรักษาในที่ที่ห่างออกไป ซึ่งไม่มีใครรู้จัก

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังเห็นว่าควรตั้งคณะกรรมการเอดส์แห่งชาติ 1 ชุดทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ ขนาด และการเข้าถึงยาต้านไวรัสให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ขณะที่การให้บริการแก่ผู้ป่วยไต ที่ประชุมเห็นว่าทั้ง 3 กองทุนสุขภาพยังมีความแตกต่างเรื่องการวินิจฉัยโรคโดยเฉพาะเกณฑ์การรักษา อาทิ ระดับใดจึงจะล้างไตได้และล้างด้วยวิธีใด นอกจากนี้จะต้องจัดระบบรองรับการเปลี่ยนสิทธิของผู้ป่วยจากสิทธิหนึ่งไปอีกสิทธิหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นอีก 1 ชุด ทำหน้าที่กำหนดเกณฑ์และควบคุมให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องแม้จะย้ายสิทธินอกจากนี้ยังเสนอให้มีระบบจัดซื้อยารวม 3 กองทุน เนื่องจากมีการจัดซื้อยาชนิดเดียวกันในราคาที่แตกต่างกันมากอาทิ ยาฉีดชนิดหนึ่ง สปสช.ซื้อ 200 บาท ขณะที่สวัสดิการข้าราชการให้เบิก1,000 บาท

ทั้งนี้ การเบิกจ่ายทั้งโรคเอดส์และไตใช้ลักษณะเดียวกับโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว โดยผู้บริหาร 3 กองทุนสุขภาพจะเร่งทำข้อเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง