ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กทม .จับมือ เครือข่ายภาครัฐและเอกชน จัดอบรมอาสาสมัครร่วมใจต้านภัยวัณโรคกระตุ้นเตือนประชาชน เฝ้าระวังและตระหนักถึงภัยวัณโรค พร้อมทั้งเป็นกลไกสำคัญในการช่วยเหลือและค้นหาผู้ป่วยวัณโรคให้ได้รับการตรวจรักษาตั้งแต่เริ่มแรก เดินหน้าหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อวัณโรคและลดจำนวนผู้เสียชีวิต

พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดการอบรมอาสาสมัครร่วมใจต้านภัยวัณโรค ในกรุงเทพมหานคร ตามโครงการบูรณาการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมวัณโรคและโรคเอดส์ในกรุงเทพมหานคร ณ โรงแรมตวันนา เขตบางรัก ซึ่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ มูลนิธิศุภนิมิต มูลนิธิรักษ์ไทย สมาคมพัฒนาอนามัย ( HAT ) สมาคมส่งเสริม พัฒนาการสังคม (SDA) องค์กร เอ อาร์ ซี อินเตอร์เนชั่นแนล (ARC) และองค์กรเอกชนในเครือข่าย จัดอบรมอาสาสมัครร่วมใจต้านภัยวัณโรคในกรุงเทพมหานคร รวม 410 คน เพื่อสร้างเครือข่ายและความเข้มแข็งของอาสาสมัครร่วมใจต้านภัยวัณโรค ในชุมชนด้วยการรณรงค์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัณโรคแก่ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงเฝ้าระวังและค้นหาผู้ที่มีอาการต้องสงสัยว่าจะเป็นวัณโรคให้ไปรับการตรวจวินิจฉัยโรคตั้งแต่เริ่มมีอาการ และรับการรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันและหยุดยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรค ลดผู้เสียชีวิตด้วยวัณโรค

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคเพิ่มขึ้นจนติดอันดับ 1 ใน 22 ประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรค มากที่สุดของโลก และคาดว่าในกรุงเทพมหานคร มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ปีละ 11,234 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยวัณโรคปอด 5,084 ราย หากผู้ป่วยวัณโรคระยะแพร่เชื้อไม่ได้รับการรักษาสามารถแพร่เชื้อด้วยการไอ จาม และด้วยลักษณะของแบคทีเรียที่ส่งผลให้เกิดโรคอยู่ในอากาศทำให้ ทุกคนมีโอกาสได้รับเชื้อได้ โดยผู้ได้รับเชื้อวัณโรคที่มีภูมิต้านทานแข็งแรงจะไม่แสดงอาการป่วย แต่เชื้อวัณโรคยังคงอยู่ในร่างกายนาน 2 ปี และเมื่อใดที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี เสพยาเสพติด หรือป่วยเป็นโรคเรื้อรัง แบคทีเรียจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วส่งผล ให้เจ็บป่วยได้ ทั้งนี้ วัณโรครักษาให้หายขาดได้ภายใน 6 - 9 เดือน ด้วยการพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและกินยาต่อเนื่อง

กรุงเทพมหานคร มีความมุ่งมั่นในการเฝ้าระวังและส่งเสริมให้ประชาชนปลอดภัยจากโรควัณโรค ช่วยเหลือให้ผู้ป่วยวัณโรค ได้รับการรักษาจนหายเพื่อช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรคไปสู่คนอื่น อีกทั้งสนับสนุนให้ผู้สงสัยป่วยเป็นวัณโรคได้รับการตรวจรักษาตั้งแต่เริ่มแรก โดยอาศัยพลังเครือข่ายอาสาสมัครในชุมชนร่วมกันค้นหาครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนกรุงเทพมีคุณภาพชีวิตที่ดี ปลอดภัยจากวัณโรค และประเทศไทยหลุดพ้นจาก 22 ประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุดของโลก สอดคล้องกับคำขวัญวัน วัณโรคโลกปี 2555 ที่ว่า Stop TB in my life time หรือ “ เมืองไทยปลอดวัณโรค” สำหรับประชาชนที่มีอาการ สงสัยเข้าข่ายเป็นวัณโรค เช่น ไอเรื้อรังหรือไอมีเสมหะปนเลือด มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่ายหรือค่ำ เจ็บหน้าอก มีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด รับการตรวจรักษาได้ฟรีที่ ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร ทั้ง 68 แห่ง