ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พล.ท.นพ.ถนอม สุภาพร อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการให้บริการผู้ป่วยไตวายเรื้องรังด้วยวิธีทดแทนไตผ่านทางช่องท้อง (CAPD) ในโอกาสใกล้ครบ 5 ปีของการให้สิทธิผู้ป่วยไตวายของรัฐบาลว่า ได้เคยทำการศึกษาเปรียบเทียบระหว่าง การทดแทนไตผ่านทางช่องท้อง  กับ การฟอกเลือด ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) พบว่า ข้อดีของ CAPD มีมากกว่าการฟอกเลือด เพราะทำให้ผู้ป่วย CAPD สามารถควบคุมน้ำและขจัดของเสียในร่างกายได้ดีกว่า โดยผู้ป่วยทั้งสองวิธีมีอัตราการรอดชีวิตไม่แตกต่างกันมากนัก ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตตามพยาธิสภาพของโรคเหมือนผู้ป่วยมะเร็งหรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ และความจำเป็นต้องใช้ยากระตุ้นการสร้างเม็ดลือดแดงซึ่งเป็นยาราคาแพงและผู้ป่วยโรคไตต้องใช้ประจำ ผู้ป่วย CAPD ใช้ยาน้อยกว่า  ผลลัพธ์ถ้าได้รับการปลูกถ่ายไตจะดีกว่า

พล.ท.นพ.ถนอม กล่าวต่อว่า แต่มีข้อต้องระวัง คือ การติดเชื้อในช่องท้อง ซึ่งจากประสบการณ์การให้บริการ CAPD ในระบบสปสช. มีอัตราการติดเชื้อน้อยกว่าที่เกิดในประเทศยุโรปและดีกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก ส่วนอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 10 ต่อปี ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆมากนัก ในด้านผู้ป่วยและครอบครัว มีการเข้าถึงบริการของ CAPD ได้ดีและง่ายกว่าการฟอกเลือด ลดภาระค่าใช้จ่ายจากการเดินทาง และลดค่าเสียโอกาสจากการทำงานของผู้ป่วยและญาติ เนื่องจากผู้ป่วยคนไทยส่วนใหญ่อยู่ชนบท ซึ่งหากฟอกเลือดต้องมาโรงพยาบาล 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นไปได้ยาก แต่ CAPD สามารถทำได้เองที่บ้าน ด้านการจัดการของรัฐ มีความเป็นไปได้ในการขยายบริการทั่วประเทศรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วได้ในอนาคต เนื่องจากใช้บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะพยาบาลเฉพาะทางโรคไตน้อยกว่าประมาณ 10 เท่า ค่าใช้จ่ายในการลงทุนและการบำรุงดูแลระบบบริการ ในภาพรวมน้อยกว่าการฟอกเลือดมาก เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ป่วยและประเทศ และลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้

พล.ท.นพ.ถนอม กล่าวว่า ขณะเดียวกันจากรายงานผลการศึกษาของผศ.นพ.เถลิงศักดิ์ กาญจนบุษย์ อาจารย์แพทย์โรคไต ซึ่งศึกษาผู้ป่วยทดแทนไตผ่านทางช่องท้องทั้งหมดจำนวน 8,194 ราย  จากหน่วยบริการ สปสช. จำนวน 102 แห่งทั่งประเทศ  ลงตีพิมพ์ในจดหมายเหตุทางการแพทย์ ของไทย ฉบับเดือนตุลาคม 2554 เผยแพร่ในเวทีประชุมวิชาการระหว่างประเทศที่ไทยเป็นเจ้าภาพ พบว่า ผู้ป่วยไทยมีอัตราการติดเชื้อในช่องท้องทั้งประเภทรุนแรงต้องนอนรักษาที่ รพ.และไม่รุนแรงให้ยากินและกลับบ้านได้  เฉลี่ยติดเชื้อ 25.6 เดือนต่อครั้งต่อคน อัตราการติดเชื้อในช่องท้องนี้ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาของ พญ.ปิยะธิดา จึงสมาน ในปี 2552 ที่เผยแพร่ในเวทีวิชาการทั่วไปทั้งในและนอกประเทศ พบติดเชื้อในช่องท้องเฉลี่ย 20.7 เดือนต่อครั้งต่อคน และดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกอยู่ที่ 18 เดือนต่อครั้งต่อคน หรือ ดีกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในยุโยปซึ่งมีรายงานว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 24 เดือนต่อครั้งต่อคน

 

“จากผลการศึกษาและตีพิมพ์เผยแพร่ในหมู่นักวิชาการโรคไตทั้งในและนอกประเทศ ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ระบบบริการทดแทนไตผ่านทางช่องท้องของ สปสช.ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมามีความก้าวหน้าและดีกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่พัฒนาในยุโรปหลายประเทศ และ สปสช.เดินมาถูกทางแล้ว เท่าที่ทราบในอนาคตทาง สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยร่วมกับ สปสช. ได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดอัตราการติดเชื้อในช่องท้องให้เหลือเพียง 40 เดือนต่อครั้งต่อคน ตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 3ปีครึ่งติดเชื้อไม่เกิน 1 ครั้งต่อคน” พล.ท.นพ.ถนอม กล่าว

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสปสช. เปิดเผยว่า ผู้ป่วยทดแทนไตในระบบสปสช. ที่เริ่มให้สิทธิตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 ขึ้นทะเบียนจนถึงขณะนี้ มีผู้ป่วยสะสม ประมาณ 28,000 คน ประกอบด้วย ผู้ป่วยที่ยังคงมีชีวิตอยู่และทำการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ผู้ป่วยล้างไตผ่านทางช่องท้องและผู้ป่วยปลูกถ่ายไต ประมาณ 19,000 คนหรือประมาณร้อยละ 70 และผู้ป่วยเสียชีวิตรวมทั้งสามวิธีประมาณ 8,000 คนหรือประมาณร้อยละ 30 จากข้อมูลผู้ป่วยไตวายเสียชีวิตประมาณร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งใกล้เคียงกับการเสียชีวิตของผู้ป่วยไตวายของสิงคโปร์ และประเทศต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและสาเหตุอื่นตามพยาธิสภาพการเจ็บป่วยของโรค ไม่ใช่จากการติดเชื้อในช่องท้อง

รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวต่อว่า  จากการติดตามผู้ป่วย สปสช. ที่ทำการล้างไตผ่านทางช่องท้องเป็นเวลาต่อเนื่อง 52  เดือน มีผู้ป่วยเสียชีวิตหรือเปลี่ยนสิทธิ หรือเปลี่ยนไปใช้วิธีอื่น เช่น เปลี่ยนไปฟอกเลือด และ การปลูกถ่ายไต ประมาณร้อยละ 40 หรือ คิดง่ายๆเป็นเสียชีวิตเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 9.2 ต่อปี ขณะที่  ผู้ป่วยที่ทำการฟอกเลือด  สปสช. เริ่มให้สิทธิเมื่อเดือน ตุลาคม 2551  มีผู้ป่วยฟอกเลือดที่ทำมาก่อนและผู้ป่วยรายใหม่ ประมาณ 13,000 คน และยังคงมีชีวิตอยู่ประมาณ 9,000 คนหรือประมาณร้อยละ 68 และเสียชีวิตหรือได้เปลี่ยนไตประมาณ 4,000 คนหรือคิดง่ายๆผู้ป่วยฟอกเลือดเสียชีวิตประมาณร้อยละ 9.6 ต่อปี  ในภาพรวมเฉลี่ย 1 ปีพบว่าผู้ป่วยฟอกเลือดเสียชีวิตสูงกว่าผู้ป่วยที่ทดแทนไตผ่านทางช่องท้องเล็กน้อย ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ตรงข้ามกับที่มีกลุ่มคนบางคนที่พยายามให้ข่าวให้ร้ายกับระบบบริการหรืองานทุกงานที่ สปสช.ทำ ทั้งที่เป็นงานทำเพื่อให้ผู้ป่วยโดยรวมเข้าถึงการบริการได้ดียิ่งขึ้น และควบคุม ลดค่าใช้จ่ายด้านบริการสาธารณสุขของประเทศไม่ให้เพิ่มมากขึ้นจนเป็นภาระให้กับรัฐบาล ทำให้ค่าฟอกเลือดและค่ายาลดลง ประหยัดงบประมาณในปี 2554 ได้กว่า 1,600 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยแจ้งว่า การพัฒนาระบบบริการทดแทนไตผ่านทางช่องท้องของ สปสช.เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ป่วย และลดการผูกขาดของธุรกิจฟอกเลือดเอกชน ทำให้ผู้ป่วยไตวายในชนบทเข้าถึงการบริการและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน และเห็นผลมากในช่วงเกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดภาคกลางและกรุงเทพฯ ที่กระทบต่อผู้ป่วยฟอกเลือดอย่างมาก แต่มีผลไม่มากนักกับผู้ป่วยทดแทนไตผ่านทางช่องท้อง เพราะผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ที่บ้าน