ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ปารีส-นักวิจัยพบมาลาเรียปลอมระบาดในอาเซียน-แอฟริกา ซ้ำเติมโชคร้ายผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากยุงลายที่ต้องเสียชีวิตเพราะโรคร้ายนี้กว่า 1 ล้านราย

ศูนย์วิจัยระหว่างประเทศฟอร์กาตีแห่งสถาบันสุขภาพสหรัฐอเมริกาเปิดเผยถึงผลการค้นพบยารักษามาลาเรียปลอมระบาดในกลุ่มประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และบริเวณซับ-ซาฮาราในทวีปแอฟริกา ที่มีผู้เสียชีวิตเพราะโรคร้ายนี้ และยาปลอม หรือส่วนผสมสารเคมีอันตรายที่ไม่เหมาะสมกับการใช้ปราบโรคร้ายที่มียุงลายเป็นพาหะเกือบ 1 ล้านรายต่อปี โดยผู้เคราะห์ร้ายส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่

ศูนย์ระบุว่า พบยารักษามาลาเรียปลอมถึง 36% ของตัวอย่างยารักษาโรคมาลาเรียในตลาดอาเซียน 7 ประเทศ จำนวน 1,437 ตัวอย่างยา 5 ประเภทที่เก็บมาจากตลาดและพบว่า 20% ของยา 2,500 ตัวอย่างจากยา 6 ชนิดประเภทเป็นยาปลอม และ 35% ของตัวอย่างที่เก็บมาจาก 21 ประเทศในเขต ซับ-ซาฮารา ของแอฟริกา มีปริมาณสารออกฤทธิ์น้อยกว่ามาตรฐาน

ทั้งยังพบว่ายาปลอมเกือบครึ่งหนึ่งของตัวอย่าง 919 ตัวอย่างในอาเซียน บรรจุในแพ็กเกจที่ไม่ถูกต้อง โดยยาปลอมที่ตรวจพบมีทั้งแบบที่ไม่มีส่วนผสมของสารออกฤทธิ์ที่ใช้ฆ่าเชื้อมาลาเรียและมีส่วนผสมสำคัญบ้าง แต่มีปริมาณน้อยไม่เพียงพอต่อการกำจัดเชื้อโรคซึ่งถูกนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโดยเชื่อมั่นว่ายาดังกล่าวจะช่วยชีวิตผู้ติดเชื้อนี้ได้

ที่ผ่านมามีสัญญาณการระบาดของยาปลอมจากการพบเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นในพื้นที่ทางตะวันตกของกัมพูชาบริเวณชายแดนประเทศไทย และพม่า ปะปนไปกับการรักษาด้วยยาในตระอาร์เทอมิสินินที่มีใช้กันอย่างกว้างขวางเป็นยาฆ่าเชื้อมาลาเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผลการศึกษาพบว่าประสิทธิภาพของยาที่ ใช้ในภูมิภาคนี้น้อยกว่าที่ควรเป็น ทำให้ต้องใช้เวลานานขึ้นในการรักษาป่วย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหวั่นว่าจะเกิดเชื้อดื้อยาในทวีปแอฟริกาที่มีการใช้ยาปลอมยาไม่ได้มาตรฐายในการกำจัดเชื้อมาลาเรียเช่นเดียวกับอาเซียน

ทั้งนี้ หากเชื้อเกิดการดื้อยาจนสามารถทนทานยาตระกูลอาร์เทอมิสินินได้ก็ไม่มียาตัวอื่นที่จะใช้แทน และผ฿ที่ติดเชื้อจะต้องเสียชีวิตเพราะโรคร้ายนี้อย่างไร้ทางรักษา ปัจจุบันตัวเลขเด็กที่เสียชีวิตเพราะติดเชื้อมาลาเรียในแอฟริกาสูงถึงวันละ 2,000 คน และประชากรโลก 3,300 ล้านคนเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาลาเรียที่มียุงลายเป็นพาหนะ

นายโจเอล เบรแมน แห่งศูนย์ระหว่างประเทศฟอร์กาตี กล่าวถึงการค้นพบยาปลอมในครั้งนี้ว่าเป็นตัวจุดประกายความตื่นตัวในการสกัดกั้น ยกระดับ และกำจัดเครือข่ายลักลอบค้า รวมทั้งผู้ผลิตยาต่อต้านมาลาเลียปลอมซึ่งเชื่อว่ามีฐานการผลิตในประเทศจีน

 

ที่มา: นสพ.คมชัดลึกวันที่ 23 พ.ค. 55