ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ประชาชาติธุรกิจ  24 พ.ค. 55-เบอร์ลี่ ยุคเกอร์บุกตลาดเวชภัณฑ์เต็มสูบ รุกธุรกิจยาตั้งแต่ต้นน้ำปลายน้ำ ผนึกพันธมิตรบริษัทยายักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ ทุ่มสร้างโรงงานไบโอเทค เน้นยารักษามะเร็ง พร้อมเปิด "เฮลท์สโตร์" ฉีกวัตสันบู๊ทส์ ทดลองคอนเซ็ปต์ในศูนย์การค้าไตรมาส 2-3 นี้

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัทจะเน้นกลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิคมากขึ้น ซึ่งตลาดมีโอกาสการเติบโตอีกมาก ปัจจุบันมีสัดส่วนคิดเป็น 15% ของยอดขาย โดยตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาได้ปรับโครงสร้างธุรกิจกลุ่มนี้ใหม่เพื่อสนับสนุนกลยุทธ์การเติบโตและทิศทางการดำเนินงาน ปัจจุบันกลุ่มเวชภัณฑ์แบ่งเป็น 3 ฝ่ายคือ 1.ฝ่ายเวชภัณฑ์ เป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ 2.ฝ่ายการแพทย์ เป็นผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ทางการ แพทย์และอุปกรณ์ที่ใช้ในการผ่าตัด และ 3.ฝ่ายพัฒนาธุรกิจสำหรับฝ่ายเวชภัณฑ์ หรือผลิตภัณฑ์ยาปีนี้จะเป็นความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ จากปัจจุบันที่เป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายยาจากต่างประเทศ ก็จะรุกไปที่ต้นน้ำและปลายน้ำ โดยช่วงไตรมาส 2-3 นี้เตรียมเปิดร้านในคอนเซ็ปต์ "เฮลท์สโตร์" ในศูนย์การค้า เบื้องต้น 2-3 สาขา เน้นคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างจากร้านวัตสัน และบู๊ทส์ที่มีอยู่ในตลาดที่เป็นร้านแนวสุขภาพและความงาม หรือเฮลท์แอนด์บิวตี้

"ร้านนี้จะเป็นการทดลองคอนเซ็ปต์ว่าจะได้รับการตอบรับอย่างไร โดยจะเน้นไปที่เรื่องของสุขภาพ หรือเฮลท์ มีทั้งยา อาหารเสริม และบริการเครื่องมือแพทย์ มีบิวตี้นิดหน่อย ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสรุปไอเดียทั้งหมดว่าจะออกมาในรูปแบบไหน ทั้งคอนเซ็ปต์ร้าน และชื่อร้าน ช่วงแรกจะเน้นขายสินค้าของค่ายอื่นก่อน"

นายอัศวินกล่าวว่า ในส่วนของโรงงานยาที่เป็นปลายน้ำ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรที่เป็นบริษัทยาในต่างประเทศ ซึ่งบีเจซีเป็นตัวแทนจำหน่ายยาให้อยู่แล้ว รูปแบบคือการเช่าโรงงานของพันธมิตรรายนี้ซึ่งปัจจุบันมีตัวโรงงานในไทยแล้ว แต่เป็นโรงงานเปล่า เพราะทำเป็นเพียงแค่ศูนย์วิจัย และมีแผนทำโรงงานไบโอเทคผลิตยาสำหรับรักษาโรคมะเร็ง

"เราอยากทำโรงงานยาเอง ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้วย หากวันหนึ่งพันธมิตรที่เราขายยาให้เขาอยากมาทำเอง เราก็เสีย สาเหตุเราเลือกทำไบโอเทค เพราะหากทำยาสามัญการเริ่มต้นจากศูนย์เป็นเรื่องที่ยาก ขณะที่โรงงานไบโอเทคในไทยมีไม่เยอะ ที่สำคัญต้องมีพาร์ตเนอร์จากต่างประเทศ มีบุคลากร และมีเทคโนโลยี เพราะมีเรื่องของสิทธิบัตรด้วย การทำโรงงานไบโอเทคจะต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่เรื่องเงินทุนไม่ใช่ปัญหาสำหรับเรา อยู่ที่ไอเดียในการทำธุรกิจมากกว่า"

นายอัศวินกล่าวว่า คาดว่าจะใช้เวลาปีกว่าในการสร้างโรงงาน ขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปว่าการผลิตในช่วงแรกจะทำในรูปแบบไหน จะเป็นการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาผลิตที่ไทย หรือส่งเป็นกึ่งสำเร็จรูปแล้วมารีแพ็กที่โรงงาน หรือจะเป็นรูปแบบไหน ซึ่งจะมีความช้าเร็วต่างกัน แน่นอนว่าถ้าเป็นรูปแบบกึ่งสำเร็จรูปก็จะเร็วกว่า สำหรับไตรมาส 1 ที่ผ่านมา กลุ่มบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิคมียอดขาย 1,648 ล้านบาท ลดลง 8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรในไตรมาส 1 อยู่ที่ 126 ล้านบาท ลดลง 30.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุที่มีรายได้และกำไรที่ลดลงมาจากการชะลอตัวของเครื่องมือแพทย์ ซึ่ง 65% มาจากงานประมูลของราชการ โดยขณะนี้ภาครัฐชะลอการโอนเงินจากผลกระทบเรื่องน้ำท่วม ทำให้โครงการสั่งซื้อเครื่องมือแพทย์ต่าง ๆ เลื่อนไปเป็นไตรมาส 2 ของปีนี้ ปัจจุบันมีการเปิดซองประมูลไปแล้ว 400 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณจากโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ 200 ล้านบาท และอีก 200 ล้านบาทมาจากโรงพยาบาลประจำจังหวัด จากงบฯของภาครัฐสำหรับการซื้อเครื่องมือแพทย์ในปีงบประมาณนี้ทั้งหมด 2,000 ล้านบาท

"เราเชื่อว่าไตรมาส 2 ทั้งรายได้และกำไรในกลุ่มนี้จะสามารถพลิกฟื้นขึ้นได้ ตอนนี้บริษัทได้งบฯตรงนี้แน่ ๆ แล้ว 400 ล้านบาท โดย 200 ล้านที่ได้จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยไม่น่าจะมีปัญหา ซึ่งจะเริ่มโอนเงินในไตรมาส 2" นายอัศวินกล่าวและว่า ในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ ล่าสุดได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดศูนย์หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด โดยได้จัดซื้อหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดดาวินชี่จากบริษัท ซึ่งปัจจุบันบีเจซีเป็นผู้จัดจำหน่ายผู้เดียวในไทย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง