ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

อภ.ร่วมจัดสัมมนาการรักษาผู้ป่วยด้วยยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ หลังตั้งศูนย์เครือข่ายพิษวิทยาสำรองยาต้านพิษในพื้นที่เสี่ยง มุ่งลดปัญหาการเสียชีวิต พร้อมเพิ่มยาต้านพิษรวม 10 รายการครอบคลุมทุกกลุ่มอาการ

นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า จากการขยายตัวด้านการค้าและเศรษฐกิจ ทั้งทางการเกษตรและอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดมลภาวะจากกระบวนการผลิตปนเปื้อนมากับน้ำ อากาศ พืชผักผลไม้ตลอดจนอาหาร ก่อให้เกิดการแพ้ เกิดโรคต่างๆ ซึ่งเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะในกลุ่มยาต้านพิษที่เป็นยากำพร้า หมายถึงยาที่มีการใช้น้อย ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนเชิงธุรกิจ บางรายการมีราคาสูงกว่า 100,000 บาทต่อการใช้ 1 ครั้งและมีอายุสั้น แต่มีผลต่อการรักษาชีวิตของผู้ได้รับหรือสัมผัสพิษ อาทิ พิษจากหน่อไม้ดองปีบ พิษจากสารเคมีรั่วไหล ตามที่มีข่าวออกมาเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง

ผู้อำนวยการอภ. เผยต่อว่า สมาคมพิษวิทยาคลินิก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)  จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษที่จำเป็นเพิ่มเติมอีกจำนวน 4 รายการจากเดิมมี 6 รายการ รวมเป็น 10 รายการ โดยมอบให้องค์การเภสัชกรรม ซึ่งรับผิดชอบในการผลิต จัดหาพร้อมกระจายยาต้านพิษและสำรองแก่สถานพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงต่างๆทั่วประเทศ ดำเนินการจัดประชุมสัมมนาวิชาการเรื่อง “การรักษาผู้ป่วยด้วยยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ” เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ให้บริการในสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศกว่า 1,000 คน ใน 4 ภูมิภาคที่กรุงเทพฯ ขอนแก่น เชียงใหม่และสุราษฎร์ธานีในเดือนพค.-มิย.นี้ ทั้งนี้ เพื่อให้บุคลากรมีความรู้ทักษะในการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับพิษ พร้อมการส่งต่อผู้ป่วยอย่างเหมาะสมเพื่อรักษาชีวิต ที่สำคัญคือ ประชาชน ผู้ป่วยจะได้รับบริการและยาต้านพิษอย่างทันท่วงทีในทุกพื้นที่ ทุกเครือข่ายที่มีการสำรองยาในพื้นที่เสี่ยง และเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นระบบ โดยมีระบบสุขภาพเป็นสวัสดิการรองรับอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง