ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ฐานเศรษฐกิจ 27 พ.ค. 55-สปส.แจงเหตุรัฐค้างส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม2ปี4หมื่นล้านบาท อ้างนำเงินไปใช้บรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์น้ำท่วมแต่ก็ไม่ได้นิ่งเฉยเร่งทวงหนี้หวั่นกระทบต่อการลงทุนและผลตอบแทนของกองทุนในระยะยาวด้านผช.รมต.กระทรวงแรงงานเผยไม่น่าเป็นห่วงเพราะกองทุนมีเงินกว่า 8 แสนล้านบาท

น.พ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าในปีงบประมาณ 2554-2555 รัฐบาลไม่ได้มีการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นจำนวน 4 หมื่นล้านบาท เหตุเพราะสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่วมกันว่าให้นำเงินส่วนที่รัฐบาลจะต้องจ่ายสมทบเข้ากองทุนไปใช้เพื่อบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี 2554

โดยอัตราเงินสมทบตามกฎหมายที่รัฐบาลจะต้องจ่ายอยู่ที่ 2.75% คิดเป็นเงินปีละประมาณ2หมื่นล้านบาทในขณะที่นายจ้างและผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนในอัตราฝ่ายละ5%รวมเป็นเงินปีละประมาณ5 หมื่นล้านบาท รวมอัตราเงินสมทบที่ทั้ง 3 ฝ่ายจะต้องจ่ายคือ 12.75% เป็นเงินราว 7 หมื่นล้านบาทต่อปี จากจำนวนผู้ประกันตนกว่า9.7ล้านคนทั่วประเทศโดยเงินทั้งหมดจะนำไปใช้เพื่อการลงทุนในส่วนต่างๆอาทิ ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังรับประกัน ฯลฯ

"การที่รัฐบาลไม่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนก็คงส่งผลกระทบต่อการลงทุนของกองทุนอย่างแน่นอน เพราะแทนที่กองทุนจะนำเงินที่ได้ไปลงทุนให้เกิดดอกผลก็ต้องชะลอหรือชะงักลงส่งผลให้ผลตอบแทนที่กองทุนจะได้รับปีละประมาณ5%ของเงินลงทุนลดลงซึ่งอาจส่งผลในระยะยาวได้ ทำให้การของบประมาณปี 2556 สปส.จึงต้องบวกเพิ่มเงินคงค้างส่วนหนึ่งเข้าไปด้วยแต่ก็คงไม่ทั้งหมดซึ่งจากเดิมที่ขอเพียงปีละ 20,000 ล้านบาทเป็น 31,000 ล้านบาท ถ้างบประมาณที่ขอไปได้รับการอนุมัติรัฐบาลจะใช้วิธีการจ่ายเป็นงวดๆ"น.พ.สุรเดช กล่าว

ด้าน นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำการกระทรวงแรงงาน ได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่าการที่รัฐไม่ส่งเงินสมทบเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อภาพรวมของกองทุนประกันสังคมเนื่องจากเงินลงทุนรวมของกองทุนมีกว่า8 แสนล้านบาท หากเทียบกับเงินจำนวน4 หมื่นล้านบาทถือว่าไม่มาก อีกทั้งการที่รัฐขาดส่งเงินสมทบไม่ได้หมายความว่ารัฐจะไม่จ่ายเงินแต่เป็นเพียงการชะลอจ่ายเท่านั้นและเงินจำนวนดังกล่าวก็นำไปใช้เพื่อประโยชน์โดยรวมของประเทศ

"ณ วันนี้ถ้าถามว่ากระทบกองทุนหรือไม่ก็ต้องบอกว่ากระทบไม่มาก เพราะเงินที่รัฐใส่เข้าไปกับที่เอกชนใส่เข้าไปไม่เหมือนกันและการตัดลดงบประมาณก็ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลแต่เป็นการตัดสินใจของคณะกรรมาธิการ แทนที่เราจะมาพูดถึงเรื่องของตัวเลขอยากให้หันมาช่วยกันพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศมากกว่าเพื่อที่คนไทยจะได้มีระบบหลักประกันสุขภาพด้วยกันทุกคนโดยกระทรวงแรงงานเองก็มีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนผู้ประกันตนทำอย่างไรไม่ให้ผู้ประกันตนออกจากระบบและพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้มากขึ้นเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากกว่า" นายอนุสรณ์ กล่าว

ในส่วนของ นายรังสรรค์ ศรีวารศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่าเงินนำส่งที่รัฐบาลจะต้องจ่ายคืนให้สปส.จำนวน 40,000 ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณปี 2556 จำนวน 31,000 ล้านบาทนั้นขณะนี้ยังต้องรอคณะกรรมาธิการพิจารณาในสัปดาห์หน้าซึ่งก็มีความเป็นไปได้ โดยหลังจากนั้นกรมบัญชีกลางจะหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพิจารณาการจ่ายเงินแต่ละงวดตามความจำเป็น ว่าควรเป็นเท่าไหร่ ตามแนวทางที่สปส. เสนอนั้นเป็นไปได้หรือไม่ เพราะเห็นว่ากองทุนประกันสังคมยังมีเงินสำรองอยู่เป็นจำนวนมากหลายหมื่นล้านบาทดังนั้นจึงไม่เห็นสมควรจ่ายทั้งก้อน

อนึ่งในปี2553 กองทุนประกันสังคมมีผลตอบแทนจากการลงทุนที่รับรู้แล้วจำนวน 33,750 ล้านบาทสำหรับปี2554กองทุนประกันสังคม มีผลตอบแทนจากการลงทุน จำนวน 36,062 ล้านบาท(ประกอบด้วยดอกเบี้ยรับจากเงินฝากพันธบัตรและหุ้นกู้ จำนวน 29,295 ล้านบาท เงินปันผลและกำไรจากการขายหลักทรัพย์จำนวน 6,767 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งกองทุนได้รับผลตอบแทนจำนวน 33,750 ล้านบาทปีนี้กองทุนมีผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจำนวน 2,312 ล้านบาท

จากการสรุปผลการบริหารกองทุนประกันสังคม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 เกี่ยวกับสถานะเงินลงทุนพบว่ากองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนรวม883,424 ล้านบาทในจำนวนนี้เป็นเงินกองทุนกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพจำนวน755,545ล้านบาทซึ่งเป็นเงินออมของผู้ประกันตนจำนวนกว่า9.7 ล้านคนทั่วประเทศที่สำนักงานประกันสังคมสะสมไว้เตรียมจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีบำนาญชราภาพ โดยจะเริ่มมีการจ่ายบำนาญชราภาพ ในปี 2557 เป็นเงินกองทุนที่ดูแลผู้ประกันตนกรณีเจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพคลอดบุตร67,394 ล้านบาท เป็นเงินกองทุนกรณีว่างงาน60,222ล้านบาทและเป็นเงินกองทุนมาตรา40จำนวน263 ล้านบาท

แบ่งลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังค้ำประกัน และหุ้นกู้เอกชน 709,376 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ80 ของเงินลงทุนและลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงได้แก่ เงินฝากธนาคาร ตราสารหนี้อื่นๆหน่วยลงทุน และหุ้นสามัญ 174,048 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของเงินลงทุน