ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 - 30 พ.ค. 2555-ข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการของอาเซียนภายใต้ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services : AFAS) ซึ่งลงนามในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนมาตั้งแต่ วันที่ 5 ธันวาคม 2538 มีเป้าหมาย ที่จะอนุญาตให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเข้ามาให้บริการระหว่างกัน โดยกำหนด ข้อผูกพันในด้านการเปิดตลาด (Market Access) แบ่งการจัดทำเป็นรอบ ๆ ที่ดำเนินมาแล้วทั้งสิ้น 7 ชุดจนถึงขณะนี้คือข้อผูกพันชุดที่ 8 ซึ่งเดิมมีกำหนด จะต้องเสร็จสิ้นในปี 2553 โดยในส่วน ของประเทศไทยได้เสนอตารางข้อผูกพันเข้าสู่ที่ประชุมอาเซียนแล้ว และกำลัง อยู่ระหว่างการเตรียมเข้าสู่การพิจารณา ขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะ รัฐมนตรีและรัฐสภาต่อไป จึงจะเวียนตารางข้อผูกพันให้ทราบและมีผล บังคับใช้

สำหรับเงื่อนไขในการเปิดตลาด ประเทศสมาชิกอาเซียนจำเป็นต้องการเปิดกว้างให้นักลงทุนอาเซียน สามารถเข้ามาลงทุนและถือหุ้นในกิจการบริการได้ในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ภายในปี 2553 ในสาขาบริการสำคัญ (Priority Integration Sector) ได้แก่ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ, สาขาสุขภาพ และสาขาการท่องเที่ยว

สาขาโลจิสติกส์ จะเปิดเสรีภายใน ปี 2556 และสาขาบริการอื่น ๆ ทุกสาขาจะต้องเปิดเสรีภายในปี 2558 พร้อมทั้งให้การประติบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment หรือ NT) ในบริการทั้ง 4 รูปแบบ ได้แก่

          รูปแบบที่ 1  การบริการข้ามพรมแดน

          รูปแบบที่ 2  การบริโภคในต่างประเทศ ที่ผู้รับบริการสามารถเดินทางข้ามไปท่องเที่ยวในประเทศสมาชิกอาเซียนได้

          รูปแบบที่ 3  การจัดตั้งธุรกิจ เมื่อ ผู้ให้บริการเข้าไปลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียน

          และ รูปแบบที่ 4  การเข้าไปให้บริการของบุคคลธรรมดาหรือนักวิชาชีพต่าง ๆ

นำไปสู่ การลงนามจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม (Mutual Recognition Agreement หรือ MRA) เพื่อให้การยอมรับคุณสมบัติในสาขาวิชาชีพหลัก เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายนักวิชาชีพของอาเซียนได้อย่างเสรี

ในปัจจุบันได้มี การลงนามข้อตกลง MRA ไปแล้ว 7 สาขา ได้แก่ แพทย์, ทันตแพทย์, พยาบาล, วิศวกร, สถาปนิก,นักบัญชี, และนักสำรวจ โดยหลักการจะเปิดให้นักวิชาชีพในสาขาเหล่านี้สามารถ จดทะเบียน หรือขอรับอนุญาตประกอบวิชาชีพในประเทศสมาชิกอาเซียนได้ แต่การขอรับอนุญาตจำเป็นต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ อาทิ วุฒิการศึกษา ประสบการณ์วิชาชีพ มีใบรับรองที่ได้รับจากหน่วยงานที่กำกับดูแล เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยแล้ว การเปิดเสรีภาคบริการ ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมีความอ่อนไหวมาก เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานเฉพาะด้านที่กำกับดูแลธุรกิจบริการ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายในหลายสาขาอาชีพ เท่ากับประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะเปิดเสรีค้าบริการ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศที่มีความพร้อมมากกว่า

หรือแม้แต่การเปิดเสรีให้นักวิชาชีพสามารถเคลื่อนย้ายไปอย่างไร้พรมแดน ก็อาจจะส่งผลกระทบให้เกิดการไหล ออกของบุคลากรไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่า ทว่าในทางกลับกันก็อาจทำให้นักวิชาชีพจากภายนอกมีโอกาสเข้ามาแข่งขันตำแหน่งงานภายในประเทศไทยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นักวิชาชีพเหล่านี้อาจทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการใช้บริการคุณภาพ ราคาย่อมเยาขึ้น ฉะนั้นการเจรจาผูกพัน การเปิดเสรีบริการจำเป็นต้องมีความ รอบคอบ รัดกุม และเตรียมทางออก ฉุกเฉินสำหรับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

          การเปิดเสรีธุรกิจโรงพยาบาล

สมาคมโรงพยาบาลเอกชนไทย มีความเห็นถึงการเปิดเสรีภาคบริการสาขาแพทย์-พยาบาลว่า ประเทศไทยมีความได้เปรียบประเทศสมาชิกอื่น ๆ นอกจาก โลเกชั่นที่ดีและเป็นศูนย์กลางในอาเซียนแล้ว ประเทศไทยยังมีจุดแข็งในเรื่อง ของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ดังนั้นการเปิดเสรีจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุน เคลื่อนย้ายเทคโนโลยี รวมทั้ง บุคลากรทางการแพทย์ด้วย

แต่สิ่งที่น่ากังวลของการเปิดเสรีก็คือ การเคลื่อนย้ายเงินทุน ที่อาจจะเข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศไทยได้ ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้า มาของกองทุนต่างประเทศ เนื่องจากความโดดเด่นของธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศไทย จะเป็นปัจจัยให้กองทุนต่าง ๆ ที่มีเงินทุนมากและสนใจจะเข้ามาเป็น "โอนเนอร์ธุรกิจ" โรงพยาบาลในประเทศไทยมากขึ้น

และเพื่อรองรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นตามมา โรงพยาบาลขนาดเล็กในประเทศที่ไม่มีเครือข่ายควรจะต้องเร่งปรับตัว ตามแนวทางต่าง ๆ ทั้งในแง่ของการ สร้างพันธมิตรเพื่อเป็นเครือข่าย การ เร่งระดมทุนเพื่อนำมาพัฒนาขีดความสามารถ หากโรงพยาบาลเล็กที่เป็น โรงเดียวและไม่มีการรวมกลุ่ม ต่อไปจะเสียเปรียบโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มี เครือข่ายที่สามารถรองรับการเคลื่อน ย้ายเงินทุน เคลื่อนย้ายเทคโนโลยี รวมทั้งเรื่องคนหรือบุคลากรทางการแพทย์ได้

นอกจากนี้การเตรียมความพร้อมในเรื่องของ บุคลากรทางด้านสาธารณสุข ในภาพรวมก็เป็นสิ่งสำคัญ รวมไปถึงการป้องกันการไหลออกนอกประเทศ ของบุคลากรทางการแพทย์ เพราะหากปล่อยให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้น สุดท้ายบุคลากรทางการแพทย์ชั้นดี ของประเทศก็จะออกไปสร้างความเจริญ ให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศ สมาชิกอาเซียนประเทศอื่นที่ให้ค่าตอบแทนดีกว่า

ดังนั้นภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะกำหนดแผนแม่บท และประกาศเป็นนโยบายหรือวาระของประเทศ