ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.จับมือเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ จัดแข่งขันเดิน-วิ่ง ร่วมใจขจัดภัยจากบุหรี่ ชี้ในบุหรี่ที่เผาไหม้ 1 มวน จะผลิตสารพิษอันตรายออกมากว่า 4,000 ชนิดสู่บรรยากาศ 

วันนี้ (27 พฤษภาคม 2555) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดแข่งขันเดินวิ่ง โครงการ“ทีมสุขภาพร่วมใจ เดิน-วิ่ง ขจัดภัยบุหรี่” ครั้งที่ 8 ปล่อยตัวทีมนักกีฬาเดิน-วิ่ง และนักวิ่งมินิมาราธอน เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก จัดโดยเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือสสส. และกระทรวงสาธารณสุข เริ่มตั้งแต่พ.ศ. 2548  เป็นต้นมา เพื่อให้บุคลากรวิชาชีพสาธารณสุขทุกสาขา ร่วมช่วยกันรณรงค์ให้คนไทยมีสุขภาพดี ปราศจากภัยจากควันพิษบุหรี่ และส่งเสริมให้ประชาชนทุกเพศทุกวัย และครอบครัว ตระหนักในความสำคัญของการออกกำลังกายเพื่อการมีสุขภาพดี และตระหนักถึงปัญหาสุขภาพที่เกิดจากพิษภัยของบุหรี่     การเดินวิ่งในวันนี้ แบ่งออกเป็น  3 ประเภท  คือ  1. วิ่งมินิมาราธอนระยะทาง  10.5 กิโลเมตร ประเภทบุคคลทั่วไป และบุคลากรที่ทำงานด้านสุขภาพ 2.วิ่งระยะทาง 5 กิโลเมตร ประเภทครอบครัว 2 คน ครอบครัว 3 คน และประเภทสามี-ภรรยา และ 3.เดินวิ่งเพื่อสุขภาพระยะทาง 3 กิโลเมตร ซึ่งไม่มีการแข่งขัน แบ่งเป็นประเภทบุคคล และครอบครัว ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเดินวิ่งทุกประเภทที่วิ่งเข้าเส้นชัย   จะได้รับเสื้อคอกลม และเหรียญที่ระลึก  

นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า ตามที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่  31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ในปีนี้องค์การอนามัยโลกได้กำหนดคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลกว่า “จับตา เฝ้าระวัง ยับยั้งอุตสาหกรรมยาสูบ” (Tobacco Industry Interference) และเน้นที่การตอบโต้เปิดโปง  กลลวงของอุตสาหกรรมยาสูบเพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายและสาธารณชนได้รับรู้ข้อมูล เกิดความตื่นตัวรู้ทันกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบทุกรูปแบบและมีมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR)ของอุตสาหกรรมยาสูบ    กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย รณรงค์ให้ประชาชน ลด ละ เลิกสูบบุหรี่ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ และผู้ป่วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ เช่น โรคมะเร็งปอด โรคหัวใจขาดเลือด โรคถุงลมโป่งพอง เป็นต้น ซึ่งผู้ที่สูบบุหรี่จะมีอัตราความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดสูงกว่าคนที่ไม่สูบถึง  12 เท่า  ส่วนการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ผู้ที่สูบบุหรี่ก็มีอัตราความเสี่ยงสูงกว่าคนที่ไม่สูบถึงร้อยละ  60  ซึ่งหากรณรงค์ให้ประชาชนเลิกสูบได้  1  คน ก็จะสามารถเพิ่มพื้นที่ปลอดควันบุหรี่ซึ่งในบุหรี่ที่เผาไหม้เพียง  1 มวน จะมีสารพิษอันตรายต่อสุขภาพกว่า 4,000 ชนิดและมีสารก่อมะเร็งมากถึง 42 ชนิด

นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่าผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุดในปี 2554 ในกลุ่มประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งมีจำนวน 53.9 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ 11.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 21 โดยแยกเป็นผู้ที่สูบเป็นประจำ 9.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18   สูบนานๆครั้ง หรือสูบเป็นครั้งคราวจำนวน 1.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 2.9   โดยอัตราการสูบบุหรี่ผู้ชายจะสูงกว่าผู้หญิงถึง 20 เท่า คือสูบร้อยละ 41.7 ส่วนผู้หญิงสูบร้อยละ 2.1 นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ในผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ จะเริ่มต้นสูบเมื่ออายุเฉลี่ย  18 ปี และในทุกกลุ่มวัยของประชากรที่จะเริ่มต้นสูบบุหรี่ มีอายุเฉลี่ยน้อยลงค่อนข้างมาก     โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 15 ถึง 24 ปี   ซึ่งในปี พ.ศ.2550 เยาวชนไทยเริ่มสูบเมื่ออายุเกือบ 17 ปี แต่ในปี 2554 พบว่าลดลง เป็นเริ่มสูบเมื่ออายุ  16.2 ปีเท่านั้น  ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขจะจัดแถลงข่าว มาตรการในการควบคุมป้องกันปัญหาจากบุหรี่ ในปี 2555 -2556 เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลกในวันที่ 28 พฤษภาคม 2555  นี้