ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

โพสต์ทูเดย์ 28 พ.ค. 55 -ชง ครม.อังคารนี้ อนุมัติโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 1.57 แสนล้านบาท

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่29 พ.ค.นี้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี จะเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติงบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประจำปีงบประมาณ 2556 ในวงเงิน 1.57 แสนล้านบาท ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสนอมา โดยเป็นงบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประจำปี 312,600 บาท

สำหรับรายละเอียดการของบสำหรับงานหลักประกันสุขภาพฯ ได้แก่ งบอัตราเหมาจ่ายรายหัวสำหรับประชาชนที่มีสิทธิ 48.44 ล้านคน อัตราเหมาจ่ายหัวละ 2,939.73 บาท 1.42 แสนล้านบาท งบบริการสุขภาพผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 1.81 แสนคน 3,499 ล้านบาท งบบริการสุขภาพผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 3.15 หมื่นคน4,416 ล้านบาท งบบริการควบคุม ป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง 2.88 ล้านคน วงเงิน 1,284 ล้านบาท งบกองทุนหลักประกันสุขภาพฯที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาทต่อเดือนและค่าจ้างพยาบาลวิชาชีพ 3,000 อัตราในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 3,950 ล้านบาทส่วนที่เหลือเป็นงบจัดการของ สปสช.

อย่างไรก็ตาม การขอรับจัดสรรงบดังกล่าว มีข้อสังเกตว่า อัตราเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มจากปีงบ 2555 ที่มีอัตรา2,895.60 บาทต่อหัว เป็น 2,939.73 บาทต่อหัว งบบริการสุขภาพผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯเพิ่มจาก 2,940.06 ล้านบาท เป็น 3,499 ล้านบาท งบบริการสุขภาพผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง เพิ่มจาก 3,857.89 ล้านบาท เป็น 4,416 ล้านบาท

รมว.สาธารณสุข ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะรายงานต่อ ครม.ว่า สปสช.เป็นหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการสร้างหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมคนไทยทุกคนตามความจำเป็นอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากรัฐบาลประกอบด้วยงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และงบบริหารจัดการสปสช.

ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 39 วรรคสาม กำหนดให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดทำคำขอต่อคณะรัฐมนตรี โดยพิจารณาประกอบกับรายงานความเห็นของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน ตลอดจนบัญชีการเงินและทรัพย์สินของกองทุนในขณะที่จัดทำคำขอดังกล่าวทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ดำเนินการตามข้อกฎหมายดังกล่าว