ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 28 พ.ค. 55-"วิทยา"สั่งตรวจเบิกจ่ายผู้ป่วยอุบัติเหตจากบัตรทองย้อนหลัง 5 ปี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำรวจพบ ผู้ป่วยอุบัติเหตุเมินเบิกจ่ายกองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัยเหตุ 99% เจอปัญหาเบิกจ่ายช้า-ใช้สิทธิยุ่งยาก-เพดานชดเชยต่ำ สพศท. ชี้กองทุนสุขภาพแบกค่าใช้จ่ายเหตุผู้ป่วยอุบัติเหตุ เพราะขั้นตอนส่งเอกสารหลักฐานซับซ้อน จากปัญหาการเบิกจ่ายค่ารักษากองทุนผู้ประสบภัยจากรถมีความซับซ้อน จนกองทุนสุขภาพอื่นๆ ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการรักษา

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลของศูนย์ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคใน 44 จังหวัด พบว่าผู้บาดเจ็บที่ประสบอุบัติเหตุจากรถ ทั้งที่เป็นฝ่ายคู่กรณีและบุคคลที่ 3 ต่างมีปัญหาการเบิกจ่ายและใช้สิทธิอย่างมาก เนื่องจากมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ส่งผลให้มีจำนวนผู้ใช้สิทธิเพื่อเบิกจ่ายตาม พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถต่ำมาก มีเพียงร้อยละ 42 ส่วนอีกร้อยละ 55.3 เลือกที่จะไม่ใช้สิทธินี้ และหันไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลในกองทุนสุขภาพอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังพบว่าในจำนวนผู้ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ร้อยละ 99.6 หรือเกือบทั้งหมดต่างประสบปัญหาการเบิกจ่ายทั้งสิ้น และในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งต้องหันไปเบิกค่ารักษาพยาบาลร่วมกับกองทุนสุขภาพอื่นๆ โดยร้อยละ 43.10 ใช้ควบคู่กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และอีกร้อยละ 16.10 ใช้ควบคู่กับระบบประกันสังคม

          ขั้นตอนเบิกยุ่งยาก-ใช้เวลานาน

ปัญหาการเบิกจ่ายตามสิทธิ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถมีหลายด้าน ทั้งจากหลักเกณฑ์ขั้นตอนการเบิกจ่ายเองที่กำหนดให้ต้องมีการพิสูจน์ถูกผิดระหว่างคู่กรณีหลังการรักษาพยาบาลก้อนแรก 15,000 บาท ใช้ระยะเวลานานในการเบิกจ่าย รวมทั้งกำหนดต้องใช้เอกสารหลายอย่าง ปัญหาที่เกิดจากบริษัทประกันภัยเองที่บ่ายเบี่ยงไม่จ่ายค่าสินไหม หรือจ่ายไม่ครบตามจำนวน

นอกจากนี้ ปัญหาที่เกิดจากโรงพยาบาล และปัญหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างการไม่รับแจ้งความ หรือลงบันทึกประจำวัน การถึงที่เกิดเหตุล่าช้า การทำสำนวนที่ทำให้ผู้เสียหายเสียสิทธิ ทำให้เงินกองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถมีการจ่ายค่าสินไหมให้กับผู้ประสบอุบัติเหตุน้อยมาก จากที่ควรจะเป็น

          งบบริหารสูงปีละ 4 พันล้าน

น.ส.สารี กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบว่ากองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ยังใช้เงินในการบริหารจัดการที่สูงมาก ซึ่งจากเบี้ยประกันที่จัดเก็บได้แต่ละปีประมาณ 10,000 ล้านบาท จากผู้ทำประกันประมาณ 19 ล้านกรมธรรม์ ที่เป็นการทำประกันภาคบังคับตามกฎหมาย พบว่ามีการใช้เงินไปกับการบริหารจัดการที่สูงถึงเกือบร้อยละ 50 ของเงินกองทุน หรือ 4,785 ล้านบาท ที่มากกว่าการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ประสบเหตุ ซึ่งอยู่ที่ 4,534 ล้านบาท จึงชัดเจนว่าการเยียวยานั้นไม่มาก ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

การให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ ย่อมคำนึงถึงผลกำไรสูงสุด แม้ว่าในกรณีที่เป็นคู่กรณีกำหนดจ่ายค่ารักษาเบื้องต้น ที่ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิดวงเงิน 15,000 บาท แต่หลังจากนั้น ต้องพิสูจน์ถูกผิดและฟ้องร้อง ซึ่งบริษัทที่รับประกันภัยย่อมต้องพิสูจน์ว่าผู้ทำประกันตนเป็นฝ่ายถูก เพื่อที่บริษัทจะไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมนี้ ทำให้การจ่ายค่าสินไหมเบิกได้ยากและล่าช้า น.ส.สารีกล่าว

          ยกร่างกฎหมายกองทุนสินไหม

น.ส.สารี กล่าวว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นก่อนในปี 2535 แต่เมื่อภายหลังมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2540 จึงควรมีการปรับปรุงแก้ไข เราจึงเสนอให้มีการยกเลิก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 และเปลี่ยนเป็น พ.ร.บ.กองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. ... แทน ที่ได้มีการร่างกฎหมายขึ้นใหม่เน้นไปที่จ่ายสินไหมแทนตัดเรื่องการรักษาพยาบาลออก และให้ผู้ประสบภัยใช้สิทธิกองทุนสุขภาพที่มีอยู่

อีกทั้งปัจจุบันมีการพัฒนารวมระบบการบริหารผู้ป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุนสุขภาพที่ไม่ต้องถามสิทธิ จึงควรจัดการเพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคในการรักษา และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

          ชี้ลดการให้เอกชนจัดเก็บเบี้ย

นอกจากนี้ ยังควรลดการบริหารจัดการของภาคเอกชนลง โดยเฉพาะการจัดเก็บเบี้ยประกัน เนื่องจากทุกปีรถทุกคันต้องมีการต่อทะเบียนรถอยู่แล้ว จึงควรเก็บเบี้ยประกันในคราวเดียวกัน ซึ่งจะสามารถลดค่าบริหารจัดการลงได้ เหลือเพียงแค่ร้อยละ 3-5 ของเงินกองทุนเท่านั้น ไม่ใช่เกือบร้อยละ 50 อย่างที่เป็นอยู่

ร่าง พ.ร.บ.กองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ ภาคประชาชนเคยรวบรวม 10,000 รายชื่อ เพื่อยื่นเสนอกฎหมายต่อทางรัฐสภาแล้ว เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2553 แต่ภายหลังกฎหมายฉบับนี้ตกไป เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้เกี่ยวข้องกับการเงิน ต้องให้นายกรัฐมนตรีลงนามก่อนจึงจะนำเข้าสู่การพิจารณาได้ แต่เราจะเสนอกลับมาใหม่อีกครั้ง น.ส.สารีกล่าว

          กองทุนกำหนดจ่ายค่ารักษาต่ำ

ด้าน นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากประสบการณ์ กรณีผู้ประสบภัยจากรถ พบว่าสัดส่วนผู้เสียชีวิตไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับผู้บาดเจ็บซึ่งมีมากกว่า จำนวนเงินรักษาพยาบาลเพียงแค่ 15,000 50,000 บาทนั้นถือว่าน้อยมาก

นอกจากอัตราการจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ไม่มากแล้ว การเบิกจ่ายยังมีความยุ่งยาก ส่งผลให้มีเม็ดเงินคงเหลือในกองทุนเป็นจำนวนมากในแต่ละปี อีกทั้งที่ผ่านมา สัดส่วนการเกิดอุบัติเหตุของไทยยังเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี การใช้จ่ายเงินในกองทุนจึงไม่สอดคล้องกัน

พบว่าผู้ที่บาดเจ็บเล็กน้อยจากอุบัติเหตุบนท้องถนน หลายรายไม่รอเคลมเงินประกัน เพราะมีความยุ่งยาก ไม่อยากเสียเวลา และยอมที่จะจ่ายเอง

นายอิฐบูรณ์ กล่าวต่อว่า เมื่อรัฐบาลมีนโยบายการรวมบริหารจัดการระบบผู้ป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน กลับไม่พูดให้ชัดเจนว่า กรณีของกองทุนผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุรถยนต์จะทำอย่างไร จึงกลายเป็นว่าหากค่ารักษาพยาบาลล้นวงเงิน 15,000-50,000 บาท ก็ใช้สิทธิเบิกจ่ายที่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแทน

เมื่อมีการรวมระบบฉุกเฉิน 3 กองทุนแล้ว รัฐบาลต้องกำชับสั่งให้ คปภ.เร่งรัดการจ่ายและดูแลการรักษาก่อน ให้เป็นไปตามวงเงินการจ่ายของ คปภ. และเมื่อเกินวงเงินจึงเบิกจ่ายเพิ่มเติมจากกองทุนอื่น ไม่ใช่ให้ 3 กองทุนไปสำรองจ่ายก่อน

          แพทย์ยอมรับเบิกกองทุนรถยุ่งยาก

ด้าน พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) กล่าวว่า ขณะนี้ ยอมรับว่าในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยเฉพาะกรณีที่เกิดอุบัติจากรถ ยังขาดความชัดเจนในหลักเกณฑ์การเบิกจ่าย เนื่องจากแต่เดิมจะเป็นการเบิกค่ารักษา 15,000-50,000 บาท จากกองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถก่อน

เมื่อมีค่ารักษาส่วนเกินจากนี้ จะเป็นการจ่ายร่วมสิทธิ โดยเบิกจากสิทธิกองทุนสุขภาพที่ผู้ป่วยมีอยู่ หรือจากประกันภัยเอกชนที่ผู้ป่วยทำไว้ แต่หลังจากมีการประกาศรวมบริหารจัดการระบบผู้ป่วย 3 กองทุนที่ผ่านมา ทำให้ผู้ป่วยสามารถเลือกใช้สิทธิได้ตามใจ อย่างเช่น บัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ ในกรณีที่ไม่อยากจัดหาเอกสารเพื่อเบิกจ่ายจากกองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัย ตรงนี้ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มประสบปัญหา

หากรัฐบาลปล่อยไว้แบบนี้ ไม่กำหนดหลักเกณฑ์การเบิกค่ารักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุจากรถที่ชัดเจน จะทำให้บริษัทประกันภัยที่เก็บเงินจากผู้ขับขี่รถยนต์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัย ได้เงินกินเปล่าฟรีๆ

          วิทยาสั่งตรวจข้อมูลเบิกจ่าย

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการจัดทำระบบผู้ป่วยฉุกเฉิน เพื่อให้เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศนั้น ในส่วนของผู้ป่วยฉุกเฉินที่เกิดจากอุบัติเหตุจากรถนั้น อยู่ระหว่างการประสานงานกับทางกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ เพื่อให้ สปสช. เป็นศูนย์กลางระบบเบิกจ่ายอยู่ ยังไม่ได้ข้อสรุป

ส่วนกรณีผู้ป่วยที่ขอใช้สิทธิรักษาบัตรทอง เนื่องจากมีค่ารักษาพยาบาลที่เกินเพดานการจ่ายของทางกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล โดยทางนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้จัดทำข้อมูลส่วนนี้ โดยให้ย้อนหลังดูค่าใช้จ่ายผู้ป่วยอุบัติเหตุจากรถที่เบิกจ่ายจากบัตรทองในช่วง 5 ปี