ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ในภาวะที่โลกแปรปรวน ทำให้ต้องเฝ้าระวังทั้งภัยธรรมชาติ และโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นต้องหามาตรการรับมือป้องกัน

เมื่อไม่นานมานี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางศึกษาต้นแบบ การควบคุมโรคที่ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพราะถือเป็นต้นแบบในการควบคุมโรค โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของไข้หวัดนก และ โรคซาร์ส ที่สามารถจัดการควบคุมได้ดี

อาจจะด้วยพื้นที่เพียงแค่ 1,092 ตารางกิโลเมตร อีกทั้งร้อยละ 4.6 ยังประกอบไปด้วยน้ำ ส่งผลให้ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ง่ายต่อการป้องกันและควบคุมโรค แต่ด้วยจำนวนประชากรที่อยู่อย่างหนาแน่นกว่า 7.3 ล้านคน หรือ 6,352 คน/ตร.กม. ทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว ศูนย์รวมทางธุรกิจชาวต่างชาติเดินทางเข้าออกประเทศนับหลายล้านคนต่อปี กลับส่งผลให้การควบคุมทำได้ไม่ง่ายนัก

การใช้กฎหมายที่เด็ดขาดจึงมีบทบาทอย่างมากในงานด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ

กรณีของ โรคไข้หวัดนก และ โรคซาร์ส ที่เกิดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนถึงความเข้มข้นในการจัดการ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดนกที่เป็นแรงผลักดันนำไปสู่การจัดตั้ง ศูนย์ป้องกันสุขภาพ (Centre for Health Protection : CHP) เพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงการออกกฎหมายที่มีความเข้มข้นเพื่อจัดการกับสถานการณ์โรคระบาดได้อย่างเฉียบพลัน

ดร.ซาร่าห์ ชู หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินและข้อมูลข่าวสาร ศูนย์ป้องกันสุขภาพ กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ การควบคุมโรคมีความสำคัญอย่างมาก ต้องใช้มาตรการที่เด็ดขาดเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายออกไป รวมไปถึงการป้องกัน การปรับปรุงกฎหมายด้านสาธารณสุขล้าสมัยที่ผ่านมา จึงมุ่งจัดการการแพร่ระบาดของโรคและได้เพิ่มการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เป็นกลไกหลักของการควบคุมโรค

เมื่อเกิดการระบาดสามารถจัดการกับสถานการณ์ได้ทันท่วงที ทั้งการเข้าไปยังอาคารและสถานที่ต่างๆ เพื่อสอบสวนการระบาดของโรคและควบคุม การสั่งกักกันเฝ้าระวังไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค และรวมไปถึงการสั่งปิดอาคารสถานที่เพื่อจำกัดพื้นที่ระบาด

นอกจากนี้ ยังมีบทลงโทษที่รุนแรงกรณีที่ฝ่าฝืนละเมิดไม่ปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่สาธารณสุข มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือ 10,000-20,000 บาท จำคุก 3-5 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

กฎหมายควบคุมโรคฉบับเดิมไม่ทันต่อสถานการณ์โรคที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเห็นพ้องต้องกันที่ต้องปรับปรุง ประจวบกับที่ฮ่องกงประสบเหตุการณ์ระบาดของโรคไข้หวัดนก มีการกำจัดสัตว์ปีกบนเกาะทั้งหมดและมีผู้ติดเชื้อจนเสียชีวิต

สถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ทำให้ฝ่ายพัฒนากฎหมายเข้าใจ การแก้ไขจึงทำได้ไม่ยากและได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย เนื่องจากเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

ดร.ซาร่าห์ ชู กล่าวอีกว่า ภายหลังจากกฎหมายบังคับใช้ ยังได้รับความร่วมมือด้วยดีจากประชาชน ส่งผลให้การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคซาร์สอยู่ในวงจำกัดได้

การที่รัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้เน้นให้ความสำคัญต่อการควบคุมโรคและงานด้านสาธารณสุข ไม่เพียงแต่ทำให้มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมากถึง 6,300 คนประจำบนเกาะเล็กๆ แห่งนี้ เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวังโรคและปฏิบัติการฉุกเฉินแล้ว

แต่ยังสนับสนุนงบประมาณจำนวนมาก ซึ่งปี 2554 และปี 2555 ให้งบถึง 4,800 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงต่อปี หรือคิดเป็นเงิน 19,200 ล้านบาท เพื่อดำเนินการ และหนึ่งในภารกิจสำคัญของศูนย์ป้องกันสุขภาพ นอกจากการปฏิบัติการควบคุมโรคแล้ว คือ การจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังโรค 24 ชั่วโมง ทั้งยังเป็นศูนย์ฮอตไลน์ ศูนย์ข้อมูลการระบาดเพื่อสื่อสารกับประชาชน ศูนย์แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เพื่อให้ความกระจ่างต่อสถานการณ์โรคที่เกิดขึ้น

ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนมักมุ่งไปที่ข่าวร้ายและมักกลายเป็นข่าวใหญ่เสมอ อย่างกรณีข่าวผลข้างเคียงของการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น จึงจำเป็นที่ทางศูนย์ต้องชี้แจงและให้ข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างทันท่วงที ไม่ให้เกิดความตระหนก

รวมไปถึงการเตือนและรายงานสถานการณ์โรค เพื่อให้ประชาชนรับทราบเพื่อป้องกันตนเอง ส่วนโรคที่เฝ้าระวังนั้นขึ้นอยู่กับการแพร่ระบาด และช่วงระยะเวลาของปี โดยขณะนี้ เป็นการติดตามโรคมือเท้าปากที่มักเกิดในโรงเรียนอนุบาล และก่อนหน้านี้ มีโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนกที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง

ดร.ซาร่าห์ ชู กล่าวอีกว่า การเตรียมความพร้อมรับมือระบาดของศูนย์กลางป้องกันสุขภาพ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงนั้น มีความรอบคอบอย่างมาก นอกจากศูนย์สำนักงานหลักแล้ว ยังมีการเตรียมพร้อมศูนย์ปฏิบัติสำรองไว้อีกแห่งหนึ่ง เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินที่สำนักงานหลักใช้งานไม่ได้ทั้งจากภาวะการระบาดของโรคและเหตุการณ์อื่นๆ ที่ต้องปิดตัวลงกะทันหัน ซึ่งสามารถย้ายการทำงานได้ทันทีภายใน 2 ชั่วโมง

ทั้งยังมีการฝึกซ้อมเตรียมรับมือการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง ด้วยการจำลองสถานการณ์โรคระบาดในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดในเครื่องบิน อาคารสูง ด่านเข้าเมืองตามจุดต่างๆ รวมถึงกรณีอาหารเป็นพิษ การระบาดของเชื้อกาฬโรค เป็นต้น โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานตำรวจในการฝึกปฏิบัติการควบคุมโรค

ส่วนการปรับงานต้นแบบจากฮ่องกง มาใช้ในประเทศไทยนั้น นพ.สมบัติ แทนประเสริฐสุข นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ถือเป็นต้นแบบให้กับหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย ทั้งจากกรณีโรคไข้หวัดนกและโรคซาร์ส โดยมีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อปฏิบัติการตอบโต้ในช่วงที่เกิดภาวะการระบาดเป็นการเฉพาะ การจัดระบบเฝ้าระวังโรคที่ดี

การจัดองค์ความรู้ ทั้งยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการสั่งกักตัวผู้ป่วยหรือสัตว์นำโรคที่คิดว่าเป็นพาหะ การสั่งปิดอาคาร ที่นำไปสู่การตัดวงจรการแพร่ระบาดที่เฉียบขาด ด้วยเหตุนี้ ทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะมีจำนวนประชากรที่อยู่อย่างหนาแน่นและยากที่จะดำเนินการ

การให้อำนาจเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการจัดการและเข้าควบคุมโรคติดต่อ ปัจจุบันไทยยังไม่มีกฎหมายที่ให้อำนาจตรงนี้ และยังอยู่ระหว่างการนำเสนอปรับปรุงกฎหมาย ที่ผ่านมา การทำงานด้านควบคุมโรคของไทยจึงเป็นรูปแบบการขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและประชาชนแทน

เช่นเดียวกับกฎหมายที่ให้อำนาจในการสั่งปิดอาคาร เพื่อควบคุมโรคที่ยังอยู่ระหว่างการทบทวนและพิจารณาเช่นกัน ซึ่งต้องยอมรับว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อ ใช้มาตั้งแต่ปี 2520 แล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

อย่างไรก็ตาม บริบทของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และไทย ยังมีความแตกต่างกัน รวมไปถึงสภาพพื้นที่ โดยประเทศไทยมีพื้นที่มากกว่า มีด่านเข้าออกประเทศหลายช่องทาง ทั้งลักษณะที่อยู่อาศัยยังอยู่ห่างกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด

ดังนั้น จุดแข็งการดำเนินการของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง จึงต้องนำมาพัฒนาและปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการควบคุมโรคระบาดยิ่งขึ้น

'การใช้กฎหมายที่เด็ดขาดจึงมีบทบาทอย่างมาก ในช่วงที่เกิดการแร่ระบาดของโรคติดต่อ'