ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ชี้!! ความมีชื่อเสียงของสปาไทย ส่งผลให้ผู้ประกอบการหัวใสสร้างธุรกิจสปาไทยแบบแอบแฝงเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เข้าข่ายการค้าประเวณี หรือที่มีเจ้าของและผู้ให้บริการเป็นชาวต่างชาติ โดยไม่มีการรับรองมาตรฐานผู้ประกอบการสปาไทยกับสบส. พร้อมเดินหน้าจัดระเบียบสปาไทยทั้งในและต่างประเทศ คุมเข้มมาตรฐานทั้ง 5 ด้าน รักษาชื่อเสียงและคุณภาพสปาไทย ย้ำชัด ! สถานบริการสุขภาพทุกแห่งและสปาต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจาก สบส. เท่านั้น

นายแพทย์สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่าไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในเรื่อง“สปา” ที่ติดอันดับเมืองท่องเที่ยวระดับโลก เนื่องมาจากองค์ประกอบหลายอย่างทั้งความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยว ภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านศาสตร์ทางการแพทย์แผนไทย สมุนไพรที่มีหลากหลาย การนวดแผนโบราณ การทำสมาธิ อาหารไทย รวมทั้งการบริการของคนไทยที่เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มมิตรไมตรี สิ่งเหล่านี้เมื่อถูกนำมาผสมผสานกับการทำสปาแบบสากล จึงทำให้“สปา”ของเมืองไทย เป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมมากจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

ในขณะที่กระแสตลาดการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพของเมืองไทยกำลังมาแรง และมีการสร้างสถานบริการสปามากมายทั้งในโรงแรมที่พักที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือในรูปแบบของสปารีสอร์ท แต่กลับพบว่ามีสถานประกอบการสปาอยู่เป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการรับรอง และยังไม่ได้ขออนุญาตประกอบกิจการกับกระทรวงสาธารณสุข มีบางแห่งที่ใช้ชื่อสปาหรือนวดไทยแต่เข้าข่ายเป็นสถานบริการที่มีการค้าประเวณีแอบแฝง ในขณะที่บางประเทศมีการเปิดร้านโดยใช้ชื่อสปาไทย แต่เจ้าของร้านและพนักงานในร้านกลับไม่ใช่คนไทย พฤติกรรมและการกระทำเหล่านี้ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของสปาไทยเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลปี 2554พบว่ามีสถานประกอบการสปาเพียง 1,436 แห่งเท่านั้นที่สมัครใจขอรับรองมาตรฐานกับสบส. ขณะที่ข้อมูลจากสมาพันธ์สปาไทยระบุว่า ปี 2554 ที่ผ่านมามียอดใช้บริการสปาเพื่อสุขภาพมากถึง 5.5 ล้านคน โดย 60%ของผู้ใช้บริการเป็นนักท่องเที่ยว และอีก 40% เป็นคนไทย ในจำนวนนี้แยกเป็นสปาในโรงแรมถึง 60% ที่เหลือเป็นสปาที่ออกมาตั้งสถานประกอบการเอง โดยสปาในโรงแรมยังคงมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์สมชัยกล่าวต่อว่า “สปา” ถือเป็น 1 ใน 4 ผลผลิตหลักในกลุ่มบริการส่งเสริมสุขภาพตามนโยบายเมดิคัลฮับ (Medical Hub)หรือนโยบายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ที่มีระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่ปี 2553-2557 ซึ่งนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพทำหน้าที่กำกับดูแล ควบคุมธุรกิจสปาและกำหนดมาตรฐานสปาไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศให้มีมาตรฐานเดียวกัน ทั้ง 5 ด้าน คือ 1) มาตรฐานด้านสถานที่ 2) มาตรฐานผู้ดำเนินการสปา ,ผู้ประกอบการ 3) มาตรฐานผู้ให้บริการ 4) มาตรฐานการบริการ และ 5) มาตรฐานความปลอดภัย เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้บริการที่ต้องได้รับบริการที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้หมุนเวียนภายในประเทศ และสร้างชื่อเสียงให้กับสถานบริการสปาของไทยด้วย

 “การทำหน้าที่ของ สบส.ไม่ได้เป็นการจับผิด หรือ มุ่งเอาผิดกับสถานประกอบการ แต่มุ่งสนับสนุน และพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสปาไทย ส่งเสริมและกำกับดูแลผู้ประกอบการสปาไทย ให้ดำเนินกิจการอย่างถูกต้องมีคุณภาพตามมาตรฐานในระดับสากล เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้ใช้บริการ ซึ่งสบส.มีแนวคิดในการจัดตั้งสมาคมสปาไทยในต่างแดน เพื่อทำหน้าที่ในการประสานงาน ระหว่างสปาไทยในต่างแดนกับ สบส. พร้อมทั้งหาแนวทางในการทำให้เกิดเป็นสปาไทยแท้ๆ ไม่ให้ชาวต่างชาติแอบอ้างเปิด โดยใช้ชื่อสปาไทยเป็นจุดขาย โดยในขณะนี้ทางสบส.ได้ดำเนินการผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ หาก พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ สถานบริการสุขภาพทุกแห่ง โดยเฉพาะที่ใช้คำว่า “สปา”หรือ “นวดไทย” ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจาก สบส. เท่านั้น ที่สำคัญผู้จัดร้านและผู้ทำการนวดต้องได้รับอนุญาตจาก สบส. ตามกฎหมายฉบับนี้ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการประชาสัมพันธ์ สนับสนุนให้สถานประกอบการที่ยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ได้เข้าสู่กระบวนการพัฒนาให้เป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่มีมาตรฐาน ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขด้วย”นายแพทย์สมชัยกล่าว