ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สาธารณสุข เผยผลสำรวจการสูบบุหรี่ในผู้ใหญ่ระดับโลกล่าสุดในปี 2554 พบคนไทยวัย 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่เพิ่มขึ้นเป็น 13 ล้านคน โดย 2 ใน 5 ยี่ห้อบุหรี่ซองยอดนิยมเป็นบุหรี่ซองราคาถูก ปีนี้เร่งสกัดกลลวงบริษัทบุหรี่ ขยายระเบียบการเข้าพบเจ้าหน้าที่ของบริษัทบุหรี่ให้โปร่งใส ครอบคลุมหน่วยงานในสังกัดทั้งหมด และเตรียมดันกฎหมายยกเลิกใบอนุญาตเปิดกิจการร้านอาหาร ภัตตาคารที่ฝ่าฝืน ลดนักสูบหน้าใหม่

วันนี้ (28 พฤษภาคม 2555) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.อภิชัย มงคล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ดร.ไดห์เรนด้าร์ เอ็น ซินฮา (Dr. Dhirendra N Sinha) ผู้แทนจากสำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ นพ.หทัย ชิตานนท์ ผอ.สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย และดร.มัวรีน อี เบอร์มิงแฮม  (Dr. Maureen E Birmingham) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าวการจัดกิจกรรมวันงดสูบบุหรี่โลกประจำปี 2555

นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวว่า ในวันที่ 31 พฤษภาคมทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลกตั้งแต่ พ.ศ.2531 เป็นต้นมา เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตปีละกว่า 5 ล้านคน คาดในอีก 18 ปี พิษจากบุหรี่จะนำความตายมาสู่ประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็นปีละกว่า 8 ล้านคน องค์การอนามัยโลกจึงรณรงค์ให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกร่วมกันป้องกันพิษภัย ลดการป่วย และเสียชีวิตของประชาชน ในปีนี้กำหนดประเด็นรณรงค์ว่า “จับตา เฝ้าระวัง ยับยั้งอุตสาหกรรมยาสูบ”(Tobacco Industry Interference) เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันกลยุทธ์ ร่วมมือกันเฝ้าระวังความพยายามของอุตสาหกรรมยาสูบหรือบริษัทบุหรี่ต่างๆ ในการขัดขวางมาตรการสำคัญในการควบคุมยาสูบ ในรูปแบบของกิจกรรมการสื่อสารการตลาด กิจกรรมสาธารณประโยชน์แอบแฝง เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นทาสบุหรี่ 

ในปี 2555 นี้ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายป้องกันการแทรกแซงอุตสาหกรรมยาสูบ โดยได้ออกระเบียบกรมควบคุมโรค ว่าด้วยการติดต่อกับผู้ประกอบการ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2555 เป็นต้นมา เพื่อกำหนดบทบาทเจ้าหน้าที่ของกรมควบคุมโรค ในการติดต่อกับอุตสาหกรรมยาสูบ ผู้ประกอบการหรือผู้เกี่ยวข้องให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส ในการติดต่อหรือขอเข้าพบเจ้าหน้าที่จะกระทำได้เท่าที่จำเป็น ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ขยายผลให้ครอบคลุมหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง คาดว่าจะเริ่มใช้ในปลายปีนี้

ทั้งนี้ ในปี 2554 ที่ผ่านมา ประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค สำนักงานสถิติแห่งชาติ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับคัดเลือกให้เป็นประเทศต้นแบบการสำรวจการบริโภคยาสูบในผู้ใหญ่ ระดับโลก (Global Adult Tobacco Survey : GATS) ในคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระดับนานาชาติ หลังจากที่ดำเนินครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2552 ผลการสำรวจปรากฎว่า จำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีผู้สูบบุหรี่ทุกชนิดรวม 13 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2552 จำนวน 5 แสนคน  คิดเป็นร้อยละ 24 ผู้ชายสูบร้อยละ 46.6 ผู้หญิงสูบร้อยละ 2.6 โดยสูบบุหรี่จากโรงงานอย่างเดียวมากที่สุด 5.1 ล้านคน รองลงมาคือบุหรี่มวนเอง 4.7 ล้านคน สูบทั้งบุหรี่จากโรงงานและมวนเอง 3.1 ล้านคน และสูบบุหรี่ชนิดอื่นๆ เช่นไปป์ ซิการ์ บารากู่ 1 แสนคน และมีผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ได้แล้ว 4.5 ล้านคน

ที่น่าเป็นห่วงคือ ผลสำรวจยังพบว่า มีคนไทยที่สูดควันบุหรี่มือสองในตลาดสดหรือตลาดนัดมากที่สุดร้อยละ 68.8 ในบ้านร้อยละ 36 และในที่ทำงานร้อยละ 30.5 ส่วนเรื่องการโฆษณาบุหรี่ซึ่งกฎหมายห้ามโฆษณาทุกสื่อพบว่าประชาชนร้อยละ 18.2 ยังเห็นโฆษณาบุหรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งโชว์ซองบุหรี่ที่ร้านค้า นอกจากนี้ประชาชนร้อยละ 34.3 ยังคงมีความเชื่อว่า บุหรี่มวนเองมีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ผลิตจากโรงงาน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่ในชนบท มีการศึกษาน้อย

ด้านรายจ่ายการซื้อบุหรี่ พบว่า ผู้สูบบุหรี่ซองจากโรงงานจ่ายเดือนละ 586 บาท คิดเป็นร้อยละ 9.7 ของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ส่วนผู้สูบชนิดมวนเองและใช้แบบอม จุกข้างกระพุ้งแก้ม เคี้ยวยาเส้น หรือกินกับหมากพลู เฉลี่ยเดือนละ 37.5 บาท คิดเป็นร้อยละ 0.6 ของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน โดย 2 ใน 5 ยี่ห้อบุหรี่ซองยอดนิยมเป็นบุหรี่ซองราคาถูกราคาซองละ 30- 45 บาท

ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการเปรียบเทียบข้อมูลผลการสำรวจทั้ง 2 ครั้งในปี 2552 และ 2554 พบว่ามี 3 ประเด็น ได้แก่ 1.การสัมผัสควันบุหรี่ในสถานที่ทำงานและที่สาธารณะที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย ยังไม่ลดลง โดยเฉพาะในตลาดสด ตลาดนัด จึงควรเพิ่มมาตรการบังคับใช้กฎหมายอาทิ ปรับปรุงพ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535และนำบทลงโทษอื่นๆ มาใช้ เช่น การยกเลิกใบอนุญาตการเปิดกิจการ ร้านอาหาร ภัตตาคาร และกำหนดอัตราค่าปรับเพิ่มขึ้น 

ประเด็นที่2.ความพยายามเลิกสูบบุหรี่ลดลง แต่แนวโน้มการให้บริการเลิกยาสูบดีขึ้น จึงควรมีมาตรการเพื่อเพิ่มจำนวนผู้เลิกยาสูบ อาทิ ให้ สสส. สปสช.จัดบริการช่วยเลิกบุหรี่แบบเบ็ดเสร็จ ให้คำปรึกษา การใช้ยาอดบุหรี่ และให้อสม.ช่วยค้นหาและให้คำแนะนำแก่ผู้ต้องการเลิกสูบ  และประเด็นที่ 3.เยาวชนเข้าถึงบุหรี่ได้ง่าย โดยเฉพาะการซื้อแบบแบ่งมวนขาย และผู้สูบบุหรี่ปัจจุบันชนิดบุหรี่ซองสูบบุหรี่ซองราคาถูกเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากร้อยละ 20 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 40 ในปี 2554 จึงควรมีมาตรการจำกัดการเข้าถึงบุหรี่ของเด็กและเยาวชน และควบคุมการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบที่ลดประสิทธิภาพมาตรการควบคุมยาสูบของภาครัฐ อาทิ เข้มงวด การตรวจเตือน ประชาสัมพันธ์ และร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมเฝ้าระวังร้านค้าจำหน่ายบุหรี่แก่เยาวชนอายุ ต่ำกว่า 18 ปี ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับร้านค้าที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น ขายให้เยาวชน หรือแบ่งซองบุหรี่ขาย รวมทั้งประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกระทรวงการคลัง ควบคุมกำกับไม่ให้โรงงานยาสูบผลิตบุหรี่ราคาถูก และพิจารณาเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท   

สำหรับวันงดสูบบุหรี่โลกในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมในวันที่ 31พฤษภาคม 2555เวลา 11.00 น.-19.00 น. ที่ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี โดย พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานและประทานรางวัลระดับโลก(World No Tobacco Day Awards 2012) และโล่ประกาศเกียรติคุณ แก่ เครือข่ายป้องกันควบคุมยาสูบเข้มแข็ง ปี 2555 รวมทั้งบุคคลและหน่วยงานที่ทำคุณประโยชน์   ด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการทางวิชาการ การให้บริการทางการแพทย์ การให้คำปรึกษาการเลิกบุหรี่และกิจกรรมบันเทิงต่างๆ