ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ศิริราช คาดเปิดบริการ “สถาบันสยามินทราธิราช” ได้ปลายปีนี้ พร้อมเร่งศึกษางานวิจัยยารักษาโรค-วัคซีน พร้อมสานต่อนวัตกรรมรักษามะเร็งด้วยระบบนาโน โวทำลายมะเร็งที่เล็กที่สุดได้ เชื่อทำสำเร็จคนไทยได้ใช้แน่

วันนี้ (29 พ.ค.) ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวในการแถลงข่าว “โครงการสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช” ที่ศิริราชพยาบาล กทม.ว่า ขณะนี้ความคืบหน้าการดำเนินการโครงการดังกล่าวเริ่มชัดเจนขึ้น โดยคาดว่า น่าจะเปิดบริการได้ภายในปลายปี 2555 โดยมีโครงการหลัก 5 ส่วน ได้แก่ รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ โครงการศูนย์วิจัยการแพทย์ศิริราช การแพทย์แผนไทยประยุกต์ศิริราช สวนเฉลิมพระเกียรติ และพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เพื่อยกระดับการพัฒนาการแพทย์ที่มีประโยชน์ต่อการยกระดับประชาชนไทย โดยส่วนของศูนย์วิจัยการแพทย์ฯ นั้นแล้วเสร็จราว 70% แล้ว และจะเร่งพัฒนาศักยภาพในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับระบบบริการสุขภาพ ตลอดจนเรื่องของนวัตกรรมทางการแพทย์ และผลงานวิชาการที่เป็นประโยชน์ในวงการแพทย์ต่อเนื่อง จากเดิมที่เคยมีการศึกษาและเผยแพร่ผลงานวิจัยมาแล้วกว่า 800 เรื่อง ทั้งการวิจัยในส่วนของนักวิจัยไทยและความร่วมมือกับนานาชาติ เพื่อรองรับระบบการแพทย์และสาธารณสุขที่เจริญก้าวหน้าขึ้น แต่ปัญหาที่เผชิญขณะนี้ คือ ยังติดขัดเรื่องงบประมาณการวิจัย ที่รัฐบาลจัดสรรให้น้อยมาก เพียงแค่ปีละ 100 ล้านบาท หรือ 0.2% ของค่า GDP เท่านั้น เมื่อเทียบกับอัตราประชากรไทยที่มีมากถึง 66 ล้านคน ถือว่ายังต่ำอยู่ ดังนั้น หากประชาชนต้องการมีส่วนร่วมสามารถติดต่อขอบริจาคผ่าน ศิริราชมูลนิธิ หรือ กองทุนสยามินทราธิราช ได้ทุกวัน ที่ รพ.ศิริราช

ด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา รองอธิบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า หลังจากที่ศูนย์วิจัยเปิดใช้อย่างเป็นทางการ ทางศูนย์จะเร่งศึกษางานวิจัยที่มีประโยชน์ โดยเน้นที่การวิจัยระบบยารักษาโรค วัคซีน ที่เป็นทั้งการพัฒนาต่อเนื่องจากงานวิจัยเดิมและการริเริ่มงานวิจัยใหม่ โดยมีกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ ได้แก่ การศึกษาวิจัย เรื่องสาเหตุและการรักษาโรคไข้เลือดออก ที่แยกผู้ป่วยรุนแรง กับทั่วไปออกจากกัน ช่วยให้ประเทศไทยลดอัตราการป่วย เสียชีวิตจาก 20% เมื่อ 50 ปี ที่ผ่านมา เหลือเพียง 0.12 ในปีนี้ และยังมีเรื่องนวัตกรรมการรักษาโรคธาลัสซีเมีย ด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก ที่ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการสานต่อเรื่องนวัตกรรมใหม่ที่ ศิริราช ยังไม่ได้เผยแพร่ อาทิเรื่องนวัตกรรมการรักษามะเร็งด้วยระบบนาโน ที่เรียกว่า Cancer Nanomedicine ที่เป็นการประสานความร่วมมือกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ที่กำลังคิดค้นระบบทำลายเซลล์มะเร็งที่เล็กที่สุด ด้วยเทคโนโลยีนาโน โดยจะเน้นที่การพัฒนายามุ่งเป้า (Target therapy) เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่เสีย โดยนวัตกรรมดังกล่าวผ่านการทดลองในสัตว์แล้ว ยังคงต้องศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของประสิทธิภาพการรักษาในคน และผลข้างเคียง โดยหากกระบวนการแล้วเสร็จจะรับอาสาสมัครที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของนวัตกรรมดังกล่าว ซึ่งเหตุผลที่ต้องเร่งพัฒนาระบบดังกล่าวด้วยการเลือกโรคมะเร็ง เป็นเพราะปัจจุบัน พบว่า คนไทยป่วยโรคดังกล่าวมาก จึงจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยรองรับปัญหาสุขภาพด้วย

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการผสมผสานแพทย์แผนไทยกับแพทย์แผนปัจจุบันด้วย โดยขณะนี้ทางทีมวิจัยกำลังเร่งศึกษาสมุนไพรไทย ที่สามารถกระตุ้นการหลั่งน้ำนมของมารดาได้ด้วย โดยต้องรอยืนยันผลทางเภสัชที่แน่นอน ก่อนประกาศรายชื่อสมุนไพรที่ชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการดื่มนมแม่ของ กระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม ทางทีมวิจัยของศิริราช เชื่อว่า การดำเนินการทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพ หรือการรักษาย่อมเกิดประโยชน์สูงสุดกับคนไทยแน่นอน

“ทั้งนี้ เรื่องงบประมาณของการส่งเสริมงานวิจัยนั้น เคยทราบมาว่า รัฐบาลมีแนวโน้มจะเพิ่มงบให้ แต่เนื่องจากเผชิญวิกฤตน้ำท่วมก่อน จึงชะงักไป คาดว่า ในปีต่อๆ ไปอาจจะดีขึ้น และสามารถเทียบเท่าต่างประเทศได้ เพราะขณะนี้ประเทศใกล้เคียง อาทิ สิงคโปร์ ก็ได้รับงบ วิจัยมากถึง 1.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ มาเลเซีย มีการส่งสริมโดยจัดงบฯ มากกว่า 2% แล้ว และเชื่อว่า หากงบประมาณเพียงพอ ก็จะช่วยส่งเสริมงานวิจัยเชิงลึกที่สามารถเผยแพร่ได้มากขึ้นด้วย” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ที่มา : www.manager.co.th