ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

อย.ลุกโปรเจ็กต์นำร่อง "แผนปฏิบัติการมั่นคงทางอาหาร" แนะรัฐผนึกธุรกิจเอกชนในและต่างประเทศใช้สูตรพัฒนา 5 หมวด 15 แนวทาง ป้องกันวิกฤตดิน น้ำ ทรัพยากรระดับท้องถิ่น ชุมชน ประเทศ

ดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนในวงการอุตสาหกรรมอาหารซึ่งรวมตัวกันเป็นกลุ่มสมัชชาอาหารพุ่งเป้าพัฒนาด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารในประเทศและทั่วโลกไปพร้อมกัน โดยได้ร่วมกันกำหนดแนทางปฏิบัติที่ยั่งยืนเพื่อความมั่นคงระดับประเทศ ท้องถิ่น ชุมชน เบื้องต้นมีอยู่ 5 หมวด แต่ละหมวดยังแบ่งย่อยเป็น 15 แนวทาง ได้แก่ หมวด 1 การวางแผนใช้ที่ดินและน้ำ ต้องคำนึงถึงคุณภาพดิน การเป็นเจ้าของและการใช้เป็นแหล่งเพาะปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ บวกกับการบริหารจัดการน้ำของระบบชลประทานเพื่อการเกษตรและอาหาร เมื่อนำ 2 เรื่องมาผนวกเข้าด้วยกันก็จะนำไปสู่การจัดการอาหารบนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียงตามทฤษฎีใหม่

หมวด 2 วางแผนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยพึ่งพิง 4 เรื่อง คือ โภชนาการพืชและสัตว์ เก็บกักรวบรวมพันธุ์พืชและสัตว์ ผลิตและสำรองปุย ผลิตและจัดเก็บอาหารสัตว์ และควบคุมป้องกันโรค หมวด 3 ระบบการเชื่อมการผลิตและการตลาด ขณะนี้ประเทศไทยควรจะต้องรวบรวมกลุ่มธุรกิจการเกษตร การแปรรูป การสร้างมูลค่าเพิ่ม การขนส่ง การกระจาย สินค้า ต้องมีผลิตภัณฑ์เรื่องราคา การประชาสัมพันธ์สินค้าอย่างเป็นระบบ เรื่อยไปจนถึงการวางขายและการเข้าถึงผลิตภัณฑ์กับรณรงค์ธุรกิจการเกษตรเข้ามามีส่วนร่วมดูแลสังคมด้วย

หมวด 4 การบริโภคอาหารอย่างบูรณาการ มุ่งเน้นให้แต่ละชุมชนรู้จักวิธีเก็บสำรองสต๊อกอาหาร เช่น ทำยุ้งฉาง โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตจะต้องวางเครือข่ายการสำรอง ขนส่ง กระจาย และบริโภคอย่างถูกหลักโภชนาการ เชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างชุมชนกับประเทศเป็นหนึ่งเดียวกันให้ได้ หมวด 5 การวัดผลสัมฤทธิ์ วิเคราะห์ และประเมินผล โดยกำหนดตัวชี้วัดอย่างเป็นทางการทุกระดับ ตั้งแต่ท้องถิ่น ชุมชน ประเทศ นำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือจัดทำศูนย์ข้อมูลที่ดิน แหล่งน้ำ ปัจจัยการผลิต ทุน ความรู้ ราคาสินค้า จำนวนเกษตรกร องค์ความรู้ระบบ เครือข่าย  รวมถึงการนำเครื่องมือติดตาม ผลทุกระยะ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายก่อนจะประกาศเป็นแผนปฏิบัติการวาระแห่งชาติ

"ขณะนี้ไทยกำลังประสบปัญหาอย่างรุนแรงเรื่องฐานข้อมูล ซึ่งมีส่วนสำคัญมากที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์และปฏิบัติการระยะยาวด้านความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ในจังหวะเดียวกันสถานการณ์ทั่วโลกกำลังเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมมือกัน ริเริ่มนำข้อมูล 5 หมวด 15 แนวทาง ไปใช้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด ทั้งการบริโภคในประเทศและการส่งออกตลาดโลก”ดร.ทิพย์วรรณ กล่าว

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ 31 พ.ค. - 3 มิ.ย. 2555